โยน ครม. ชี้ขาดประมูลปิโตรฯ!!

04 ธ.ค. 2561 | 13:06 น.
041261-1955

กระทรวงพลังงานยังปิดเงียบ! ผลประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ หลังคณะกรรมการปิโตรเลียมได้ข้อสรุปแล้ว แต่ไม่กล้าเปิดเผยเผือกร้อน โยนให้ ครม. ตัดสินใจ 11 ธ.ค. นี้ มีโอกาสพลิกโผได้อีก สะพัด ปตท.สผ. กินรวบทั้ง 2 แหล่ง

ในการประชุมคณะกรรมการปิโตรเลียม มี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ทางคณะอนุกรรมการพิจารณาการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ได้นำเสนอผลการพิจารณาข้อเสนอของเอกชนที่ยื่นประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช ประกอบด้วย แปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) มี 2 ราย ได้แก่ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือมูบาดาลา และบริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ดฯ


TP09-3342-1A

ส่วนแปลง G2/61 (แหล่งบงกช) ได้แก่ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และบริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ดฯ โดยเรียงลำดับคะแนนของทั้ง 2 กลุ่ม ตามราคาขายก๊าซธรรมชาติที่เสนอมาต่ำสุด รวมทั้งบัญชีรายชื่อหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจที่จะเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 25% ในแต่ละแหล่ง ให้คณะกรรมการปิโตรเลียมพิจารณา และเสนอไปยัง นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไปนั้น

ทั้งนี้ จากการพิจารณานั้น ทางคณะกรรมการปิโตรเลียมรับทราบแล้วว่า รายใดเป็นผู้ชนะการประมูล โดยพิจารณาได้จากผู้ที่ราคาขายก๊าซมาในราคาต่ำสุด ที่ค่อนข้างเป็นไปตามกระแสข่าวก่อนหน้านี้ ว่า กลุ่มบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูลทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ โดยเสนอราคาในแหล่งเอราวัณต่ำกว่า 170 บาทต่อล้านบีทียู และเสนอราคาก๊าซในแหล่งบงกชที่ต่ำกว่า 190 บาทต่อล้านบีทียู จากราคากลางที่กำหนดไว้ไม่เกิน 214 บาทต่อล้านบีทียู เมื่อเทียบกับราคาขายก๊าซในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ตามรายงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แหล่งเอราวัณจะขายอยู่ที่ราคา 163.89 บาทต่อล้านบีทียู ขณะที่ แหล่งบงกชขายก๊าซอยู่ที่ 220.12 บาทต่อล้านบีทียู และบงกชใต้อยู่ที่ 278.6 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งราคาก๊าซที่เสนอไปทั้ง 2 แหล่ง ไม่เท่ากันนั้น เนื่องจากในแต่ละแหล่งมีต้นทุนการดำเนินงานไม่เท่ากัน โดยแหล่งบงกชจะมีต้นทุนสูงกว่าแหล่งเอราวัณ


app-Arthit_01

"คณะกรรมการปิโตรเลียมยังไม่สามารถประกาศรายชื่อว่า ผู้ประมูลรายใดเป็นผู้ชนะ เพราะต้องนำเรื่องเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณา และส่งเรื่องไปยัง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งหากเร็วสุดคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ และหลังจากนั้นน่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ได้ในวันที่ 11 ธ.ค. 2561 นี้ ส่วนจะมีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดของการคัดเลือกผู้ชนะการประมูล ก็ขึ้นอยู่อำนาจของ ครม. จะตัดสินใจอย่างไรออกมา"

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานจะต้องเตรียมความพร้อมในบัญชีรายชื่อหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่จะเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 25% ของแต่ละแหล่ง ให้ ครม. ตัดสินใจว่าจะเป็นหน่วยงานใด เช่น กองทุนวายุภักษ์ กรมการพลังงานทหาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. หรือการให้กระทรวงพลังงานจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดำเนินงาน ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญากับผู้ชนะการประมูลในช่วงต้นปี 2562


Unknown

แหล่งข่าวจากวงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กล่าวว่า ขณะนี้กระแสข่าวที่ ปตท.สผ. ชนะการประมูลทั้งแหล่งเอราวัณและบงกชนั้น เป็นที่สนใจของคนในวงการมาก เนื่องจากราคาก๊าซที่เสนอไปนั้นเป็นราคาค่อนข้างต่ำ เกรงว่าเมื่อเข้าไปดำเนินการผลิตแล้วจะไม่สามารถดำเนินการได้จริงตามราคาที่เสนอไป เนื่องจากแหล่งบงกชที่ ปตท.สผ. ดำเนินการอยู่ปัจจุบัน มีต้นทุนการดำเนินงานที่สูง เห็นได้จากราคาก๊าซที่ขายอยู่ในเวลานี้สูงกว่าแหล่งเอราวัณค่อนข้างมาก ทั้งที่อยู่ในอ่าวไทยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ หาก ปตท.สผ. ดัมพ์ราคาก๊าซลงมาต่ำมาก ๆ เพื่อให้ได้แหล่งเอราวัณ รวมถึงแหล่งบงกชด้วยแล้ว เท่ากับว่าที่ผ่านมา ปตท.สผ. กินส่วนต่างกำไรจากการขายก๊าซค่อนข้างมาก จากปกติจะมีส่วนต่างของกำไรอยู่ที่ประมาณ 30-50 บาทต่อล้านบีทียู

ดังนั้น ในการพิจารณาของ ครม. ที่จะเกิดขึ้น ก็ต้องรอดูว่าจะพิจารณาอย่างไรออกมา ที่สำคัญจะต้องหาเหตุผลมารองรับ หรือ ชี้แจงให้สาธารณชนรับทราบ ไม่ว่าผลการประมูลจะออกมาในรูปแบบใด

 

[caption id="attachment_357233" align="aligncenter" width="296"] พงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) พงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP)[/caption]

โดยนายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ปตท.สผ. มีความมั่นใจจะได้รับการคัดเลือกจากภาครัฐให้เป็นผู้ชนะการประมูลทั้ง 2 แหล่ง เนื่องจากได้ยื่นข้อเสนอแผนการลงทุนที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ประชาชนและผู้ถือหุ้น โดยเป็นการเสนอราคาที่เหมาะสม ทั้งต้นทุนและภาพการลงทุน อีกทั้งการลงทุนขนาดใหญ่ ที่ต้องโอนมาเป็นของรัฐ เช่น แท่นผลิต ถือว่าได้ลงทุนไปหมดแล้ว จึงเหลือแค่การลงทุนเพิ่มเติมในการขุดเจาะเพื่อผลิตเพิ่มเท่านั้น


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,423 วันที่ 2 - 5 ธ.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ครม. ยังไม่พิจารณาผลประมูลเอราวัณและบงกช
'กองทัพเรือ' ผนึก 'อีอีซี' เปิดเวทีให้ข้อมูล 42 เอกชนไทย-เทศ ซื้อซองประมูล 'อู่ตะเภา'


เพิ่มเพื่อน
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก