ภารกิจผู้นำ ไทยสมายล์ ขับเคลื่อนองค์กรสู่‘Sustainable Airlines’

08 ธ.ค. 2561 | 05:08 น.
‘Sustainable Airlines’ ที่จะมีการขับเคลื่อนผ่านกระบวนการ Eco-Efficiency (Ecological Efficiency Supply Chain) คือเป้าหมายและนโยบายของผู้นำจากสายการบินไทยสมายล์คนใหม่ล่าสุด  ที่เพิ่งรับตำแหน่งไปเมื่อ 1 กันยายน 2561 “ชาริตา ลีลายุทธ” รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ลูกหม้อคนเก่ง และอีกหนึ่งภารกิจสำคัญคือ การทำงานร่วมกัน (synergy) กับการบินไทย ซึ่งเป็นบริษัทแม่

ด้วยภารกิจหลักใหญ่ๆ ถึง 2 ส่วน มันคืองานหนักแน่นอน แต่ “คุณเปิ้ล – ชาริตา” ในฐานะที่เคยทำงานกับการบินไทยมาแล้ว และล่าสุดยังนั่งบริหารไทยสมายล์ในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและการบริหารองค์กร มาก่อน เพราะฉะนั้น การพาองค์กรเดินหน้าไปตามเป้าหมาย ไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง

“คุณเปิ้ล” เล่าให้ฟังว่า หน้าที่ตรงนี้คือการเซ็ทอัพองค์กรปกติ งานที่ทำไม่ต่างจากเดิมมากนัก จากที่เคยดูแลด้านการเงิน การบริหารทรัพยากรบุคคล และการจัดซื้อ ปัจจุบันสิ่งที่เพิ่มขึ้นคือ การดูแลเรื่องตลาดมากขึ้น พร้อมขับเคลื่อนด้านนโยบายต่างๆ

[caption id="attachment_357182" align="aligncenter" width="336"] ชาริตา ลีลายุทธ” รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ชาริตา ลีลายุทธ[/caption]

“ในมุมมองของนักการเงินที่ดูงบการเงิน ดูบัญชีมา การตัดสินใจทุกอย่างจะมีตัวเลขซัพพอร์ต เพราะการทำธุรกิจ จบสุดท้ายคือต้องการกำไรเพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน แต่คนที่มาจากการเงินไม่ใช่ว่า จะต้องจบทุกอย่างที่กำไร บางครั้งเรายอมขาดทุนบ้าง หรือกำไรบ้าง เพื่อแลกกับบางอย่างที่เหมาะสม ดังพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า “การขาดทุนคือกำไรของเรา” ซึ่งตีความได้ว่า ถ้าเราทำอะไรที่เราเสีย แต่ในที่สุดสิ่งที่เราเสียไปนั้น กลับเป็นการได้ทางอ้อม เป็นคำสอนที่ดิฉันเอามาใช้ในหลายๆสถานการณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบริหารงานในองค์กร”

เมื่อถามถึงสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ “คุณเปิ้ล” บอกว่า จากภาพลักษณ์และตำแหน่งทางการตลาดของไทยสมายล์ คือสายการบินที่มีความสดใส ทันสมัย  และเป็นสายการบินฟูลเซอร์วิส อีกทั้งยังเป็นสายการบินลูกของการบินไทย  แต่ในความที่ไม่ได้เหมือนกัน 100% กับการบินไทย ไทยสมายล์ จึงยังอยู่ในจุดที่มีคนสับสนในด้านการรับรู้แบรนด์ (Brand Perception) จึงเป็นประเด็นหลักที่ต้องเร่งแก้ไขให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในปีหน้า โดยการวางกลยุทธ์ใหม่ มาเป็น Sustainable Airlines ที่จะขับเคลื่อนผ่านกระบวนการ Eco-Efficiency Supply Chain ใส่ใจในการบริการพร้อมๆไปกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยจะมีการบริหารจัดการในทุกส่วนเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งต่อธุรกิจและต่อโลก เป็นสายการบินที่ตระหนักถึงการรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่อการบริโภคทรัพยากรอย่างยั่งยืน ลดการใช้พลาสติก ลดการสร้างขยะ ซึ่งได้ทดลองทำแล้วกับเส้นทางอินเดีย และปีหน้าคาดว่าจะปรับใช้ได้ในทุกเส้นทางบินของไทยสมายล์

“ตอนนี้เราเริ่มทำแล้วกับแพ็คเกจจิ้งของเรา ที่เป็นกล่องกระดาษใส่อาหาร และสามารถแกะออกมาเป็นถาดวางอาหารได้เลย วัสดุที่ใช้ก็สามารถย่อยสลายได้”

การเดินหน้าสู่สายการบินภายใต้คอนเซ็ปต์ Eco-efficiency จึงไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยนแพคเกจจิ้งสำหรับใส่อาหาร แต่เป้าหมายของการไปสู่ Eco-efficiency สำหรับผู้บริหารท่านนี้ คือในทุกกระบวนการทำงานต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยขณะนี้กำลังทำ Market Test เพื่อดูกลุ่มเป้าหมาย และหาข้อมูลที่ชัดเจนมาซัพพอร์ตการวางโรดแมปทั้งกระบวนการในระยะยาว ซึ่งทั้งหมด ต้องเริ่มตั้งแต่พนักงานขององค์กร ที่ต้องมีความคิดไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะมีการจัดให้ความรู้และอบรมพนักงานต่อไป

“คุณเปิ้ล” บอกอีกว่า ธุรกิจการบิน คือธุรกิจให้บริการ เพราะฉะนั้น การบริหารคนเป็นเรื่องสำคัญ คนคือหัวใจสำคัญ และคนที่จะให้บริการที่ดีได้ คนๆ นั้น ก็ต้องเป็นคนที่มีความสุข และบริการจากใจ เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงจึงจะเริ่มต้นที่พนักงานก่อน โดยจะมีการให้ความรู้ จัดอบรม สร้างให้เกิดจิตสำนึก เพื่อให้ทุกคนเดินไปในทิศทางเดียวกัน

การปรับเปลี่ยนความคิดคนในองค์กร ถามว่ายากไหม “คุณเปิ้ล” บอกเลยว่า ถ้าเป้าหมายชัด และเป็นเรื่องที่เขายอมรับ การปรับเปลี่ยนก็ไม่ยาก ซึ่งคนไทยสมายล์ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ อายุเฉลี่ยประมาณ 33 ปี คนกลุ่มนี้ สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และรับฟัง พร้อมปรับเปลี่ยนได้อยู่แล้ว และด้วยวิธีการทำงานที่เปิดรับ สามารถเข้ามาพูดคุยได้แบบตรงไปตรงมาด้วยเหตุผลของผู้นำท่านนี้ ก็ยิ่งทำให้การบริหารงานเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว

“คุณเปิ้ล” บอกว่า ตอนนี้เป้าหมายไทยสมายล์คือสิ่งที่ทุกคนอยากทำ และยอมรับอยู่แล้ว ที่เหลือคือวิธีการและเทคนิคที่จะเดินไปสู่เป้าหมาย

ส่วนเรื่องของการทำงานร่วมกับการบินไทย ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป จะมีความชัดเจน หาจุดขับเคลื่อนร่วมกัน โดยจะประสานความร่วมมือทั้งการขายและการตลาด เพื่อผลักดันให้ทั้งการบินไทยและไทยสมายล์เติบโตไปด้วยกัน

[caption id="attachment_357062" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ข้อตกลงชัดเจนอย่างหนึ่ง ที่จะเริ่มต้นตั้งแต่มกราคม 2562 เรื่องการเสริมเส้นทางการบิน รวมไปถึงเรื่องของ Connectivity คือ ในกรณีที่เป็นการขายร่วมกันระหว่างการบินไทยและไทยสมายล์ แต่ผู้ให้บริการด้านการบินคือ ไทยสมายล์นั้น การกำหนดราคาตั๋วชั้น U Class ของไทยสมายล์ จะต้องไม่เท่ากับ Business Class ของการบินไทย เพราะมาตรฐานของชั้น U Class ไม่ได้เทียบเท่า Business Class

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้โดยสารของทั้งการบินไทยและไทยสมายล์ ในปีหน้า เรามีแผนในการให้บริการอย่างเต็มรูปแบบโดยไทยสมายล์เพียงสายการบินเดียวในเส้นทางบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทบทั้งหมด อาทิ กัมพูชา พม่า เพื่อเป็นการเสริมเส้นทางการบิน เรื่องของ connectivity และการใช้เครื่องบินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการบินไทยสามารถนำเครื่องบินใหญ่ไปให้บริการการบินในเส้นทางที่ใช้ระยะเวลาเดินทางมากกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไป  ส่วนไทยสมายล์ซึ่งใช้เครื่องบินแบบแอร์บัส A-320 ก็สามารถนำเครื่องมาใช้ในเส้นทางสั้นๆ ทีมีระยะเวลาการบิน ไม่เกิน 4-6 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นการใช้เครื่องบินได้อย่างเหมาะสมกับศักยภาพของเครื่องบินแต่ละประเภทได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปีหน้าจะเป็นปีที่ไทยสมายล์จะก้าวเข้าสู่มิติใหม่ เป็นสายการบินไทยแห่งแรกที่จะนำเรื่อง Eco-Efficiency มาขับเคลื่อนการบริหารจัดการตามมาตรฐานของ UN ด้วยความเชื่อมั่นว่า จะทำให้ไทยสมายล์ เป็นแบรนด์ในใจของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจต่อการบริโภคที่รับผิดชอบมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องละเลยความสะดวกสบาย ไทยสมายล์ไม่เพียงจะทำให้ ผู้ใช้บริการยิ้มได้เต็มหัวใจ แต่จะทำให้โลกทั้งใบยิ้มได้อย่างยั่งยืนขึ้นด้วย

นี่คือความท้าทายและสิ่งที่  “ชาริตา ลีลายุทธ” รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด คนล่าสุด มุ่งหวังและตั้งเป้าที่จะก้าวเดินไปทีละสเต็ป เพื่อการสร้างให้สายการบินไทยสมายล์ เป็นสายการบินที่มั่นคงและยั่งยืนอย่างแท้จริง

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,424 วันที่  6 - 8 ธันวาคม พ.ศ. 2561

595959859