กูรูแนะ 'เอสเอ็มอี' เร่งปรับตัว ทำ "บัญชีเดียว" พร้อมเข้าถึงแหล่งเงิน

06 ธ.ค. 2561 | 02:30 น.
อุปสรรคปัญหาที่สำคัญของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตและยั่งยืน คงหนีไม่พ้นเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน แม้ว่าภาครัฐเองและแม้กระทั่งภาคเอกชนจะพยายามยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุน แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่สามารถช่วยเหลือได้อย่างเต็มศักยภาพ

สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ จึงได้ดำเนินการจัดงานเสวนาทางวิชาการ ภายใต้หัวข้อ "เครื่องมือทางการเงินสำหรับ SMEs : เสริมศักยภาพและโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงิน" ณ หอประชุม ศ.สังเวียน อินทรวิชัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมถ่ายทอดความรู้มากมาย


รัฐ-เอกชนร่วมสนับสนุน
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ก้าวข้ามอุปสรรคด้านการเงินสำหรับ SMEs ยุค 4.0" กล่าวว่า การสนับสนุนเอสเอ็มอีนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนจะร่วมกันบูรณาการสนับสนุนอย่างครบวงจร โดยจะช่วยเหลือตั้งแต่คนตัวเล็ก "ไมโครเอสเอ็มอี" ขึ้นมา ซึ่งกลุ่มนี้มีจำนวนมากจะต้องได้รับความช่วยเหลือเสริมความแกร่งของธุรกิจ เสริมความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น การเงิน บัญชี และอื่น ๆ เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างทั่วถึง จนกิจการเติบโตจนสามารถนำเข้าจดทะเบียนใน ตลท. ได้ต่อไป


1

กระทรวงอุตสาหกรรมมีศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม หรือ ศูนย์ ITC 13 ศูนย์หลักทั่วประเทศ ที่ได้รับความช่วยเหลือเครื่องมือต่าง ๆ จากภาคเอกชน เช่น เครื่องพิมพ์ 3 มิติ และยังมีระบบการผลิตที่ออกแบบมาสำหรับเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าไปทดลองใช้บริการได้ที่กล้วยนํ้าไท กรุงเทพฯ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนได้ดีขึ้น เพื่อเสริมศักยภาพความแข็งแกร่งของเอสเอ็มอี ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง ซึ่งจะเป็นมาตรการที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ ส่วนของขวัญปีใหม่ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของเอสเอ็มอีนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนได้ แต่คาดว่าจะออกมาในเร็ววันนี้

อย่างไรก็ดี หลังจากที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ ซึ่งส่งผลทำให้มีความชัดเจนด้านต่าง ๆ และมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะเป็นประเทศที่มีความสงบและทำการค้าแบบสมัยใหม่และสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน โดยท่ามกลางสงครามการค้าที่เกิดขึ้น นักลงทุนทั่วโลกเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ในเอเชีย ที่เอื้อต่อการลงทุนระยะยาวได้และต้องการเข้ามาร่วมกับไทย


3-

ข้อมูล คือ หัวใจสำคัญ
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิต จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยที่สำคัญเป็นอย่างมากสำหรับการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินในปัจจุบันและอนาคต ก็คือ ข้อมูล เพราะคือ หัวใจในการประเมินความเสี่ยงประกอบการพิจารณาปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ดังนั้น เอสเอ็มอีจึงต้องมีชุดข้อมูลที่บ่งชี้ความเป็นผู้ที่ประพฤติดี หรือเป็นผู้ที่ทำธุรกิจเก่งให้เกิดขึ้น เช่น การทำมาตรฐานระบบบัญชีเดียว ส่วนในอนาคตที่ระบบการให้บริการของสถาบันการเงินจะอยู่บนโลกดิจิตอลทั้งหมด การโพสต์ชีวิตความเป็นอยู่บนโลกออนไลน์ก็จะเข้ามามีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อด้วย

เอสเอ็มอีจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตนเองให้ทันโลกยุคปัจจุบัน ที่การพิจารณาสินเชื่อขึ้นอยู่กับข้อมูล ไม่เช่นนั้นก็จะยิ่งเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่ขับรถแท็กซี่รูปแบบเดิม กับผู้ให้บริการแท็กซี่บนแอพพลิเคชันแกร็บ (Grab) โดยคนขับแกร็บจะมีโอกาสได้สินเชื่อมากกว่า เพราะมีใบภาษีหัก ณ ที่จ่ายของรายได้ ซึ่งจะสะท้อนตัวตนของผู้กู้ได้อย่างชัดเจน

"งานวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นบ่งชี้ว่า เอสเอ็มอีในย่านแถบสุวรรณภูมิ ไม่ว่าจะเป็น ไทย, เวียดนาม, กัมพูชา ฯลฯ มีบัญชีอย่างน้อย 3-4 ชุด แต่เมื่อเวลาถูกสอบถามจะบอกว่ามีบัญชีเดียว แต่มีตัวเลขหลายชุด โดยชุดแรกทำไว้ให้ธนาคารดูตัวเลขจะดี โดยจะแตกต่างจากชุดที่ 2 ที่ทำไว้สำหรับให้กรมสรรพากรดู ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่ดูกิจการแย่ ส่วนชุดที่ 3 ทำไว้สำหรับดูเอง และชุดที่ 4 สำหรับภรรยา ขณะที่ งานวิจัยจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า กลุ่มที่น่าห่วง ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และเอสเอ็มอี โดยคำตอบได้บ่งบอกชัดเจนแล้วว่า การทำข้อมูลที่ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญ"


เอสเอ็มอีต้องรีบปรับตัว
สอดคล้องกับความคิดเห็นของ นายพิชิต มิทราวงศ์ ผู้อำนวยการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ซึ่งระบุว่า ธนาคารมีช่องทางหลากหลายให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ แต่ปัญหาที่สำคัญก็คือ เรื่องของข้อมูล เพราะฉะนั้นเอสเอ็มอีจะต้องรีบปรับตัวให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของมาตรการเพื่อเข้าถึงสินเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น ภาครัฐสนับสนุนให้บุคคลธรรมดาดำเนินธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็น การช่วยเหลือในเรื่องของกฎหมาย รวมถึงภาษีและข้อยกเว้นต่าง ๆ

"วันนี้เอสเอ็มอีต้องเริ่มแล้ว เพราะในปีหน้าการเข้าถึงสินเชื่อจะเข้มข้นมากขึ้น สิ่งที่รัฐพยายามจะสนับสนุน คือ การมีข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ตอนที่จะเข้าถึงแหล่งทุนก็จะกลายเป็นประเด็นว่าจะหาข้อมูลไหนมาแสดงต่อสถาบันการเงินได้"

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่เป็นปัญหาที่สุดของเอสเอ็มอีอีกข้อหนึ่ง ก็คือ การไม่มีหลักประกัน ในอดีต ธพว. จะใช้บุคคลค้ำประกันกันแบบไขว้ไปมา สุดท้ายก็หายกันไปทั้งคู่ ซึ่งส่งผลให้บุคคลเหล่านั้นเข้าถึงแหล่งเงินทุนลำบาก เพราะชำระไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ออกมาในช่วง 2-3 ปีหลัง จะกลับทิศคนละด้านกับธนาคารพาณิชย์ จากเดิม ธพว. จะใช้หลักประกันที่เป็นที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และหากยังไม่พอจะถูกเติมด้วยหนังสือค้ำประกันจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาลูกค้าที่มาขอสินเชื่อ 100% จะใช้ บสย. ค้ำประกันก่อน แล้ว ธพว. จะพิจารณาจากความเสี่ยงของผู้กู้ หรือ ให้สินเชื่อต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท หากต้องการเพิ่มจะต้องหาหลักประกันมา จากเดิม ธพว. ปล่อย 500 ล้านบาท สูงสุดต่อราย ตั้งแต่ปี 2558 ลดเหลือ 15 ล้านบาท เอสเอ็มอีรายเล็กจึงลดภาระเรื่องหลักประกันและสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้


หน้า 13 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3424 วันที่ 6-8 ธันวาคม 2561

595959859