ใครต้องรับผิดชอบ ถุงพลาสติกวันละ 5 พันตัน

04 ธ.ค. 2561 | 08:38 น.
ถุงพลาสติกมีผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะยิ่งใช้ถุงพลาสติกมาก ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาทำลายถุง จะถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลก ก่อให้เกิดปัญหาจากมลพิษ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่าประเทศไทยมีขยะพลาสติกและโฟม 2.7 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 7,000 ตันต่อวัน และในจำนวนนี้เป็นถุงพลาสติกถึง 80% หรือ 5,300 ตันต่อวัน

จากข้อมูลยังระบุว่า ถุงพลาสติกต้องใช้เวลาย่อยสลายถึง 450 ปี หากทุกคนหันมาใช้ถุงผ้าเพียงสัปดาห์ละ 1 วัน จะช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกได้มากกว่า 100 ล้านถุง/ปี
ปัจจุบันการผลิตขยะพลาสติกมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยขยะพลาสติกส่วนใหญ่ จะถูกนำไปกำจัดโดยการฝังกลบ เผา หรือ ทิ้งลงมหาสมุทร ซึ่งล้วนเป็นต้นเหตุการทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศโดยตรง

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมชาติ ในฐานะประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ประจำปี 2561 เคยให้ข้อมูลว่า ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นปรากฎการณ์คลื่นสึนามิที่เกิดถี่ขึ้น น้ำท่วมในหลายประเทศ ดินถล่มแผ่นดินไหว ไฟป่า ฯลฯ แนวโน้มเช่นนี้ สหประชาชาตินิยามว่า Climate Catastrophe หรือ หายนะทางภูมิอากาศ และเตือนว่าอีกไม่ถึง 12 ปี โลกจะร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ ในอนาคตอันใกล้อาจถึงจุดที่ไม่มีทางเยียวยาแก้ไขได้

989A3606-CA17-4662-9F29-D1B836F0BA16 ในวันที่ 4 ธันวาคมนี้ เป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย และถือเป็นจุดกำเนิดของอีกหนึ่งก้าวสำคัญ ของบรรดาธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ ที่พร้อมใจกันยกเลิกใช้ถุงพลาสติกในวันนี้ (4 ธันวาคม 2561) โดยหลายๆ แห่งเริ่มรณรงค์ด้วยการงดให้ถุงพลาสติก ในทุกๆ วันที่ 4 ของเดือน หรือแล้วแต่การกำหนดวัน และรูปแบบของแต่และองค์กร ที่มีทั้งการแลกแต้ม ได้แต้มเพิ่ม สำหรับสมาชิก โดยองค์กรเหล่านี้ได้กำหนดเป้าหมายในการลด ละ เลิก ของตัวเอง ว่าจะต้องให้ได้เท่าไร ภายในเมื่อไร

เมื่อไม่นานมานี้ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ออกมาพูดถึง การประกาศเจตนารมย์ของบริษัทต่างๆ ที่พุ่งเป้าไปที่การรีไซเคิล และความสามารถในการนำมารีไซเคิล ในขณะที่ทุกคนยังคงเดินหน้าใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง (SINGLE USE PLASTIC) ด้วยปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ ยังต้องการใช้ถุงพลาสติก และมักตั้งคำถามว่า การไม่ให้ถุงพลาสนิกของบรรดาค้าปลีกต่าง เป็นเรื่องของการลดต้นทุน เพราะฉะนั้น การขยับตัวเพื่อรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกของเหล่าค้าปลีก จึงต้องพยายามคิดยุทธวิธีที่ละมุนละม่อมที่สุด ซึ่งจริงๆ แล้ว ผู้บริโภคถือเป็นด่านสำคัญของการสร้างขยะพลาสติก

ปัจจุบันรัฐบาลจริงจังกับปัญหาพลาสติกมากขึ้น โดยล่าสุด คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ครั้งที่ 9/2561 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมว่า ในที่ประชุมมีการหารือการจัดการขยะอิเลกทรอนิกส์ และพลาสติก ที่มีปริมาณปีละ 4 แสนตัน ซึ่งเป็นขยะที่เกินกำลังจะกำจัด ขณะเดียวกัน ไทยยังนำเข้ามากำจัดด้วย โดยขณะนี้ยุติการนำเข้าแล้ว 422 รายการ

นอกจากนี้ ยังมอบหมาย 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมศุลกากรร่วมกำหนดโควต้าการนำเข้าเศษพลาสติกในระยะเวลา 2 ปี โดยในปี 2562 กำหนดโควต้านำเข้าไม่เกิน 7 หมื่นตัน และให้ใช้พลาสติกภายในประเทศไม่น้อยกว่า 30% และในปี 2563 กำหนดโควต้านำเข้าไม่เกิน 4 หมื่นตัน และให้ใช้ขยะพลาสติกในประเทศไม่น้อยกว่า 60% และในปี 2564 ไทยจะห้ามนำเข้าพลาสติกจากต่างประเทศโดยเด็ดขาด

หากจะถามหาความรับผิดชอบ ว่าควรเป็นของใคร เรื่องนี้คงต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน ถ้ามัวแต่เกี่ยงกัน โทษกันไปมา ขยะคงไม่สามารถสูญสลายไปเองได้ เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้

เขียน : พัฐกานต์ เชียงน้อย


595959859