กกร. ชี้! เศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายปีนี้ จะขยายตัวได้ดีจากมาตรการกระตุ้นเศษฐกิจของรัฐบาล มั่นใจ! จีดีพีขยายตัว 4.4% ส่งออกโต 8%

04 ธ.ค. 2561 | 07:27 น.
กกร. ชี้! เศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายปีนี้น่าจะขยายตัวได้ดีจากมาตรการกระตุ้นเศษฐกิจของรัฐบาล มั่นใจจีดีพีขยายตัว 4.4% ส่งออกโต 8% ส่วนปี 2652 จีดีพีอาจชะลอตัวอยู่ในกรอบ 4-4.3% เช่นเดียวกับส่งออกคาดขยายตัวทั้งปีที่ 5-7%

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอหารค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานกรรมการร่วม 3 ฝ่าย (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2561 เติบโตชะลอลงจากช่วงครึ่งปีแรก จากการส่งออกและการท่องเที่ยว โดย กกร. คาดว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวดีขึ้น จากแรงหนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการส่งออกที่เติบโตสูงขึ้น มองว่า ภาพเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2561 จะยังขยายตัวไม่ต่ำกว่ากรอบที่ 4.4% เช่นเดียวกับการส่งออกที่คาดว่าจะยังเติบโตได้ในกรอบล่างของประมาณการที่ 8% ดังนั้น การส่งออกของไทยในปีหน้าอาจมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ตามการชะลอตัวของทิศทางเศรษฐกิจหลักต่าง ๆ ในโลก ที่ยังเผชิญความไม่แน่นอนหลายประการ ขณะที่ยังต้องติดตามประเด็นการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งหากคลี่คลายไปในทางที่ดี จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่มีต่อการส่งออก ทั้งนี้ กกร. คาดการณ์การส่งออกปี 2562 อยู่ที่ 5-7%


กกร. ปก

"ที่ประชุม กกร. มองว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพาการใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชนที่จะได้รับอานิสงส์จากการลงทุนอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ และการใช้จ่ายของครัวเรือนภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป รวมถึงการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ซึ่งเบื้องต้น กกร. จึงประเมินว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 น่าจะทำได้ไม่ต่ำกว่า 4% หรืออยู่ในกรอบประมาณการที่ 4-4.3% โดยในส่วนของการส่งออก แม้ว่าจะขยายตัวลดลงจากปีนี้ แต่ในหมวดสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง หมวดสินค้าก่อสร้าง สิ่งทอ ยังมีการขยายตัวที่ดีในตลาดสำคัญ ๆ ส่วนอันตราเงินเฟ้อ กกร. คาดว่าในปีหน้าจะขยายตัว 0.8-1.2% ส่วนปีนี้น่าจะอยู่ที่ 1.1%"

อย่างไรก็ตาม ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2562 กกร. มองว่ายังคงเผชิญกับความเสี่ยงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ความไม่แน่นอนของสงครามการค้าและความเสี่ยงของสถานการณ์ Brexit ตลอดจนการฟื้นตัวกลับมาของจำนวนนักท่องเที่ยวจีน ทั้งนี้ ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย รวมถึงราคาพืชผลทางการเกษตรในประเทศที่จะมีผลต่อการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยลบในปีหน้า ส่วนปัจจัยบวก เช่น บรรยากาศของการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะมีเงินสะพัดที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการคนจน ซึ่งน่าจะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้เป็นปกติในช่วงกลางปี 2562 หากปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน


กลิน

ส่วนมาตรการช็อปช่วยชาติของรัฐบาลรอบใหม่ ที่จะเริ่มใช้มาตรการในวันที่ 15 ธ.ค. 2561 - 15 ม.ค. 2562 มาตรการนี้จะสามารถช่วยให้เกษตรกรสวนยางและชุมชนต่าง ๆ มีรายได้มากขึ้น ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้นประมาณ 1.0–1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะส่งผลต่อบรรยากาศการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า คาดว่าจะช่วยเพิ่มจีดีพีของไทย 0.1-0.2%

"หากการเลือกตั้งในได้รัฐบาลชุดเดิมเข้ามา ก็จะทำให้นโยบายต่าง ๆ ที่ออกมาคงไม่แตกต่างมาก และสามารถสานงานต่อได้ทันที่ แต่หากเป็นรัฐบาลชุดใหม่อาจจะทำให้การทำเรื่องงบประมาณปี 2563 ช้า ซึ่งก็ต้งเร่งดำเนินเพื่อให้ทันกับแผนการลงทุนที่วางไว้ ดังนั้น กกร. ประมาณการณ์จีดีพีประเทศไว้ที่ 4-4.3%"

นอกจากนี้ กกร. มอบหมายคณะทำงานประสานงานกับ สศช. เพื่อหารือสำหรับการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ กรอ.ส่วนกลาง ซึ่งจะครอบคลุมภายใต้กรอบ 5 กลุ่มเรื่อง คือ การส่งเสริมการค้าและการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ การส่งเสริมอุตสาหกรรม การส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการ การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ และการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ การฟื้น กรอ. ขึ้นมาใหม่ มีความจำเป็นและมองว่า การที่มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะได้เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังเอกชนถึงปัญหาต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกันเหมือนในอดีต

595959859