แปลงโฉมธุรกิจ! ขับเคลื่อน 'องค์กร' สู่ความสำเร็จ

06 ธ.ค. 2561 | 03:02 น.
จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในการบริหารธุรกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนธุรกิจในปัจจุบัน ล่าสุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือได้เล็งเห็นความสำคัญนี้ จึงได้จัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ "ครบเครื่องเรื่องการแปลงโฉมธุรกิจในสี่มิติ" (Four Dimensions of Business Transformation Showcases) โดยหวังให้ครอบคลุมใน 4 มิติ ที่เป็นหัวใจหลักของการดำเนินธุรกิจในทุก ๆ องค์กร


ชู 5 Future Industry
ผศ.ดร.สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (2560-2579) ได้นำเสนออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Future Industry) ซึ่งประกอบด้วย 1.First S-Curve ต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแปรรูปอาหาร เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และท่องเที่ยว โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยผลิต 2.New S-Curve เติม 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ครบวงจร ดิจิตอล เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3.2nd Wave S-Curve อาทิ เครื่องหนัง สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ โลหะ ไม้แปรรูป ปูนซีเมนต์ เซรามิก แก้วและกระจก ปิโตรเคมีและพลาสติก เป็นต้น ต้องปฏิรูปใหม่เพื่อให้สามารถเติบโตในยุคของเทคโนโลยีอนาคตได้


411

"การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ต้องเตรียมการเพื่อแสวงหานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ต่อยอด S-curve เดิมที่กำลังถึงจุดอิ่มตัวให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นองค์กรนั้นอาจจะหยุดนิ่งหรือล้าหลังในที่สุด"


IoT-AI พลังขับเคลื่อน
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า องค์กรไม่เพียงแต่จะต้องมีผลประกอบการทางการเงินที่ดี แต่จะต้องมีการเติบโตผ่านการขับเคลื่อนด้วยวิธีใหม่ ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่ ตลาดใหม่ และยังต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจเดิมให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอก และทำให้ธุรกิจเดิมนั้นคงยังดำเนินอยู่ได้อย่างมั่นคง

"วันนี้สิ่งที่คนไทยควรต้องทำความรู้จักและให้ความสำคัญ คือ เรื่องของ IoT (Internet of Things) และ AI ขณะเดียวกันองค์กรธุรกิจต้องรู้จักการปรับตัวเมื่อเทคโนโลยีใหม่เข้ามา หากธุรกิจเดิมยังคงยึดติดกับวิธีทำงานและความสำเร็จแบบเดิม ก็จะถูก Disrupt ในที่สุด ถ้าเปรียบในประเทศไทย ก็เช่นเดียวกับสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร เป็นต้น และหากเปรียบเทียบธุรกิจค้าปลีกเช่นเดียวกับกรณีตัวอย่าง ระหว่างห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ เซียร์ส (Sears) ที่ในวันนี้กำลังจะล้มละลาย ขณะที่ ห้าง Walmart ดีขึ้น เนื่องจากปรับตัวหันมาทำธุรกิจผ่านระบบออนไลน์"


412



เริ่มต้นปรับ Mindset
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า การจัดการกระบวนการทางธุรกิจสำหรับการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิตอลให้ประสบความสำเร็จ ผู้บริหารระดับสูงต้องพิจารณาวางแผนส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันมีธุรกิจสตาร์ตอัพมากมายที่โจมตีตลาดแบบดั้งเดิม แต่ก็ยังไม่สายไปสำหรับธุรกิจแบบดั้งเดิมที่จะเริ่มปรับตัว เนื่องจากองค์กรดั้งเดิมมีต้นทุนในเรื่องของทรัพยากร ด้านแบรนด์ เงินทุน และบุคลากร อย่างไรก็ตาม การที่จะเป็นองค์กรดิจิตอลต้องเปลี่ยนแปลงให้ลึกซึ้งมากกว่าการลงทุน ต้องค้นหาธุรกิจรูปแบบใหม่และทบทวนปรับรูปแบบการดำเนินงานใหม่ด้วย

"สิ่งสำคัญองค์กร หรือ ผู้ประกอบการต้องเริ่มปรับอย่างแรก คือ Mindset เพราะหากเริ่มปรับความคิดของตัวเองเป็นอย่างแรก Platform รูปแบบไหนที่เข้ามาก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ขณะเดียวกัน เราทุกคนถูกสอนให้ทำในสิ่งที่เรารัก แต่การทำสิ่งที่รักควรต่อยอดควบคู่ไปกับการพัฒนาธุรกิจ หรือ สินค้าในตลาด รวมถึงหาช่องทางการจำหน่ายให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในปัจจุบัน"


415



ปัญหาใหญ่องค์กร คือ 'คน'
ดร.สุทธิพงษ์ สุวรรณสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ส่วนงานทรัพยากรบุคคล บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จนั้นมีหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่สำคัญอีกประการ คือ ทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพสูง การบริหารทรัพยากรมนุษย์จึงถือเป็นภารกิจที่สำคัญของผู้บริหาร เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ ความสามารถเหมาะสมกับงาน

"ปัญหาหลักสำคัญของผู้ประกอบการหรือองค์กรในปัจจุบันที่พบ คือ ไม่เรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่เปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีการทำงาน และไม่สามารถปรับตัวให้อยู่กับ Disruptive Technology ได้"


รายงานโดย : ปัทมาภรณ์ ทองล้วน
หน้า 34 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3424 ระหว่างวันที่ 6 - 8 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว