บางจากเร่งตั้งโรงกลั่นชีวภาพ ใช้ 1 พันไร่เฟสแรกที่ฉะเชิงเทรา ลงทุน 3- 6 พันล้าน

15 ธ.ค. 2561 | 04:46 น.
บางจาก สั่ง “บีบีจีไอ” เร่งศึกษาตั้งโรงกลั่นชีวภาพ เฟสแรกขนาดไม่เกิน 5 พันตันต่อปี เงินลงทุน 100-200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดชัดเจนต้นปีหน้า พร้อมส่งสัญญาณภาครัฐงัดมาตรการส่งเสริมการใช้พลาสติกชีวภาพช่วงปีแรก 3-5% หวังสร้างตลาดให้เกิดขึ้นในประเทศ

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กลุ่มบางจาก อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร (Bio Hub) ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ภายใต้ยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง ทั้งด้านไบโอพลาสติก วัสดุชีวภาพ นํ้าตาล Generation ที่ 2 และโปรตีนชีวภาพ ก้าวสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพเต็มตัว ซึ่งจะอยู่ในพื้นที่ 500 ไร่ จังหวัดฉะเชิงเทรา

โดยโครงการ Bio Hub จะมีการลงทุนโรงกลั่นชีวภาพ (Biorefinery) ผลิตนํ้าตาลที่ได้จากกระบวนการผลิต Generation ที่ 2 อาทิ จากกากอ้อย เศษไม้ ฟางข้าว เป็นต้น มาสกัดเป็นนํ้าตาล เพื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ(ไบโอเบส) อาทิ แก้ว ถ้วย เรือ หมากฝรั่ง เป็นต้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 3-6 พันล้านบาท ซึ่งจะสามารถสรุปได้ภายในปี 2562 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3-4 ปี จึงจะสามารถเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ได้

tp10-3424-a

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การดำเนินงานดังกล่าวคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด) บีบีจีไอ จะสรุปโครงการลงทุน Biorefinery ว่าจะใช้วัตถุดิบชนิดใดเป็นสารตั้งต้นในกระบวนการผลิตนํ้าตาล และต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ เบื้องต้นจะเริ่มจากดูวัตถุดิบที่มีอยู่ในมือก่อน ได้แก่ กากอ้อยเป็นหลัก รวมทั้งดูวัตถุดิบอื่นๆที่จะเข้ามาผสม อาทิ เศษไม้ ฟางข้าว เป็นต้น คาดว่าจะสามารถสรุปแผนลงทุนได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2562

ขณะที่รายละเอียดการลงทุนโครงการ Biorefinery นั้น บอร์ดมีการหารือเรื่องดังกล่าวหลายครั้ง ซึ่งต้องรอสรุปให้ได้ก่อนว่าจะใช้วัตถุดิบทางการเกษตรชนิดใด เพราะหากมีความชัดเจนด้านวัตถุดิบแล้วจะเกี่ยวโยงไปยังพื้นที่ก่อสร้าง เนื่องจากต้องอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบนั้นๆ อาทิ พื้นที่จ.ฉะเชิงเทรา ส่วนใหญ่เป็นมันสำปะหลัง ขณะที่พื้นที่จ.สระแก้ว ของบมจ.นํ้าตาลขอนแก่น จะมีกากอ้อยจากโรงงานนํ้าตาล

อย่างไรก็ตาม โครงการลงทุน Biorefinery ยังไม่ชัดเจน ว่าขนาดกำลังการผลิตจะอยู่ในระดับใด แต่ในระยะแรก คงไม่ใหญ่มากนัก ไม่ถึง 5 พันตันต่อปี เงินลงทุนประมาณ 100-200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณกว่า 3 พันล้านบาท เนื่องจากยังต้องรอความต้องการใช้ในตลาดเติบโต แต่หากพบว่าความต้องการมากขึ้นก็จะขยายโรงงานระยะที่ 2 ได้ในอนาคต ขณะที่การเลือกเทคโนโลยี ที่ปัจจุบันศึกษาทั้งค่ายสหรัฐอเมริกาและยุโรป ก็ยังต้องใช้เงินลงทุนสูง ดังนั้นต้องการให้ภาครัฐมีมาตรการเข้ามาส่งเสริม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นมาตรการด้านภาษีเพื่อผลักดันการลงทุนเท่านั้น แต่ต้องการให้ภาครัฐตั้งเป้ายอดใช้พลาสติกชีวภาพในประเทศช่วงปีแรก 3-5% จากนั้นจะขยายเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างตลาดในประเทศให้เกิดขึ้นก่อน

“การลงทุน Biorefinery ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง สิ่งที่ผู้ประกอบการอยากเห็นคือการกำหนดนโยบายจากภาครัฐ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้พลาสติกชีวภาพ เพราะหากตั้งโรงงานขึ้นมาแล้วไม่มีความต้องการใช้ในประเทศต้องส่งออก การตัดสินใจไปลงทุนต่างประเทศก็เป็นแนวทางที่ดีกว่า เพราะมีวัตถุดิบทางการเกษตรเช่นกัน ดังนั้นโครงการจะมีความชัดเจน และเข้าบอร์ดพิจารณาได้ภายในไตรมา 2ปีหน้า”

บาร์ไลน์ฐาน

นายพงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ที่บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนการจัดตั้ง Bio Hub ในพื้นที่อีอีซี ของกลุ่มบางจาก คาดว่าจะต้องใช้พื้นที่กว่า 1 พันไร่ ซึ่งปัจจุบัน มีพื้นที่อยู่แล้วในจ.ฉะเชิงเทรา ประมาณ 500 ไร่ และที่เหลืออยู่ระหว่างหาพื้นที่เพิ่ม อาจเป็นทั้งการซื้อหรือเช่าที่ดิน โดยหากแผนการลงทุน Bio Hub ได้ข้อสรุปในต้นปีนี้ คาดว่ามีโอกาสเห็นโครงการโรงกลั่นชีวภาพ ของกลุ่มบางจากเกิดขึ้นภายในปีหน้า และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3-4 ปีจึงจะแล้วเสร็จ

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 ฉบับ 3424 ระหว่างวันที่ 6 - 8 ธันวาคม 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว