ถอดบทเรียน 'จีเอ็ม' ปิดโรงงาน! ตลาดเปลี่ยน ทิศทางข้างหน้ามุ่งสู่ "ยานยนต์ไฟฟ้า"

07 ธ.ค. 2561 | 11:36 น.
| รายงานพิเศษ : ถอดบทเรียน 'จีเอ็ม' ปิดโรงงาน! ตลาดเปลี่ยน ทิศทางข้างหน้ามุ่งสู่ "ยานยนต์ไฟฟ้า"

……………….


ปลายเดือน พ.ย. 2561 บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์สฯ หรือ จีเอ็ม ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศแผนปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐฯ รวมถึงบริษัทซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่การผลิต โดยบริษัทได้ประกาศ (26 พ.ย.) ว่า จะปิดโรงงานหลายแห่งในอเมริกาเหนือและยุติการผลิตรถยนต์หลายรุ่นที่ไม่ทำเงิน เพื่อหันไปให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและรถระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่เชื่อว่าจะเป็นขุมพลังสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจของจีเอ็มได้ในอนาคต การประกาศดังกล่าว ทำให้หุ้นของจีเอ็มในตลาดสหรัฐฯ พุ่งขึ้นทันที 7.6% สู่ระดับ 38.66 ดอลลาร์ต่อหุ้น

การยุติสายการผลิตจะเริ่มขึ้นในปีหน้า (2562) ที่ 3 โรงงานในอเมริกาเหนือ คือ โรงงานเมืองลอร์ดสทาวน์ มลรัฐโอไฮโอ, โรงงานเมืองแฮมแทรมค์ มลรัฐมิชิแกน และที่เขตโอชาวา ในเมืองออนตาริโอ ประเทศแคนาดา รถยนต์หลายรุ่นที่ผลิตในโรงงานเหล่านี้จะถูกยุติการผลิต ได้แก่ รุ่นเชฟโรเลต ครูซ, คาดิลแลค ซีที 6 และบูอิค ลาครอส โดย "เชฟโรเลต ครูซ" นั้น จะยุติการผลิตในตลาดสหรัฐฯ ในปีหน้า

แมรี่ บาร์รา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของจีเอ็ม ยอมรับว่า จำเป็นต้องปิดโรงงานและยุติการผลิตรถซีดานบางรุ่น เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของตลาดยานยนต์ และจีเอ็มก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อให้เข้ากับกระแสโลกและเป็นผู้นำในตลาดยานยนต์แห่งอนาคต ซึ่งก็คือ รถยนต์ไฟฟ้าและรถขับเคลื่อนไร้คนขับ ทั้งนี้ โรงงานอีก 4 แห่ง (ในบัลติมอร์ แมรี่แลนด์ วอร์เร็น และมิชิแกน) ที่เป็นโรงงานประกอบเครื่องยนต์ จะชะลอการผลิตหลังปี 2562 เป็นต้นไป และนั่นก็ทำให้โรงงานเหล่านี้สุ่มเสี่ยงต่อการถูกปิดเช่นกัน ผู้บริหารของจีเอ็มยังระบุด้วยว่า มีแผนจะปิดอีก 2 โรงงานที่อยู่นอกภูมิภาคอเมริกาเหนือ แต่ไม่ได้ชี้ชัดว่าจะเป็นประเทศใด "เรากำลังปรับขนาดขององค์กรให้เหมาะสมกับความเป็นจริงในตลาด การปิดโรงงานและลดการจ้างงานเป็นเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมรถยนต์" ซีอีโอของจีเอ็ม กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงมีแผนจ้างงานบุคลากรเพิ่มเป็น 2 เท่า ในส่วนของแผนกรถยนต์ไฟฟ้าและรถขับเคลื่อนอัตโนมัติไร้คนขับภายในระยะ 2 ปีข้างหน้า


GM1

การจะปิดโรงงานและปลดคนงานทำให้จีเอ็มต้องเตรียมงบ 3,000-3,800 ล้านดอลลาร์ฯ เอาไว้สำหรับการจ่ายเงินชดเชย อย่างไรก็ตามเชื่อว่า การปรับโครงสร้างครั้งนี้จะทำให้บริษัทมีสภาพคล่องเงินสดมากขึ้นราว 6,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2020 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า

จีเอ็มเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 1 ของสหรัฐอเมริกา มีโรงงานผลิตในสหรัฐฯ จำนวน 47 แห่ง มีการจ้างงานพนักงานราว 110,000 คน (เฉพาะในสหรัฐฯ)

ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารของจีเอ็มเคยออกมาให้ความเห็นว่า การที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์หลากประเภทในอัตราสูงขึ้น อาจจะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ เอง ที่มีโรงงานตั้งอยู่ในต่างประเทศหลายแห่ง ดังนั้น แทนที่จะเป็นการสร้างงาน ดีไม่ดีอาจจะทำให้ต้องลดการจ้างงานแทนและมีการลงทุนน้อยลงด้วย "การที่บริษัทต้องแบกรับต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้นโดยไม่สามารถผลักภาระไปให้ผู้บริโภค อาจจะทำให้บริษัทมีการลงทุนในอนาคตน้อยลง จ้างงานน้อยลง และจ่ายอัตราจ้างน้อยลงด้วย" จีเอ็มเองนั้นมีโรงงานผลิตตั้งอยู่นอกสหรัฐฯ หลายแห่ง หากต้นทุนนำเข้าสูงขึ้นเกินแบกรับจริง ๆ ก็อาจจำเป็นต้องปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้ยอดขายลดลง


➣ ประธานาธิบดีเห็นต่าง

ด้าน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมีความคิดเห็นในทางตรงข้ามกับผู้นำของจีเอ็ม โดยเขากล่าวว่า การตั้งกำแพงภาษีรถยนต์นำเข้าให้สูงขึ้นจะช่วยให้อุตสาหกรรมภายในประเทศอยู่รอด ยกตัวอย่าง รถปิกอัพนำเข้ามายังสหรัฐฯ จะต้องถูกเรียกเก็บภาษีที่อัตรา 25% และนั่นก็ทำให้รถปิกอัพที่ผลิตในสหรัฐฯ ยังคงทำยอดขายได้ดี "ถ้าเราทำเช่นนั้นกับรถยนต์ที่เรานำเข้ามาจากต่างประเทศ เราก็จะมีรถยนต์ที่ผลิตในประเทศของเราเองมากขึ้น และจีเอ็มก็อาจจะไม่ต้องปิดโรงงานที่โอไฮโอ มิชิแกน และแมรี่แลนด์" ประธานาธิบดีทรัมป์เขียนไว้ในทวิตเตอร์เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา และยํ้าว่า ประธานาธิบดีมีอำนาจเต็มที่ในเรื่องนี้

สื่อเยอรมัน "เวียร์ทชาฟท์ สว็อคเค" รายงานว่า ผู้นำสหรัฐฯ กำลังเตรียมแผนจะขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศในอัตรา 25% ในเร็ว ๆ นี้ โดยจะยกเว้นให้เพียงรถยนต์ที่นำเข้ามาจาก 2 ประเทศ คือ แคนาดาและเม็กซิโก ที่เพิ่งบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ได้เมื่อไม่นานมานี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ยื่นรายงานต่อประธานาธิบดี หลังจากได้รับคำสั่งให้ไปศึกษาว่า สหรัฐฯ สามารถตั้งกำแพงภาษีรถยนต์นำเข้าโดยใช้เหตุผลด้าน "ความมั่นคง" ของประเทศได้หรือไม่ ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับกรณีการตั้งกำแพงภาษีเหล็กกล้าและอะลูมิเนียม โดยผู้นำสหรัฐฯ อ้างเหตุผลด้านความมั่นคงเช่นกัน

นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ประธานาธิบดีพูดถูก กรณีที่ว่า ชาวอเมริกันชื่นชอบรถปิกอัพที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา แต่นั่นก็อาจจะเป็นเหตุผลให้จีเอ็มจำเป็นต้องปิดบางโรงงานที่ผลิตรถเก๋งซีดาน เนื่องจากคนอเมริกันหันมานิยมรถยนต์ขนาดใหญ่ในรูปรถปิกอัพและรถอเนกประสงค์ หรือ เอสยูวี กันมากยิ่งขึ้น ทำให้โรงงานที่ผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขนาดเล็กไปไม่รอดและต้องถูกปิดตัวในที่สุด

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,424 ระหว่างวันที่ 6-8 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว