Management Tools : คิดบวกให้พอดี อย่ามากไป อย่าน้อยไป

03 ธ.ค. 2561 | 05:50 น.
 

คิดบวก-3 วันหนึ่งเมื่อเรานั่งรถเมล์และมีเด็กนักเรียนขึ้นมาแล้วเราเสียสละที่นั่งให้เด็ก แม้กลับถึงบ้านจะเหนื่อยล้า เขาบอกให้ “คิดบวก” ว่าวันนี้เราทำความดี เสียสละให้ผู้อื่น

วันถัดมา เรานั่งที่นั่งเดิม เจ้าเด็กเวรคนเดิมขึ้นมาอีก คราวนี้เราเหนื่อยเกินกว่าจะเสียสละที่นั่ง จึงแสร้งทำหลับไม่รู้เรื่องรู้ราว กลับถึงบ้านจงอย่าได้รู้สึกในทางไม่ดี จง “คิดบวก” ว่า วันนี้เราทำประโยชน์ใหญ่หลวงในการสร้างอนาคตของชาติ เพราะเรากำลังฝึกฝนเด็กให้มีความพร้อมกับการเผชิญความยากลำบาก ให้รู้ว่าชีวิตในบ้านเมืองนี้มันไม่ได้สบายนัก

ตัวอย่างสร้างรอยยิ้มนี้ เป็นการทําให้เห็นว่า เราสามารถคิดบวกได้กับสถานการณ์ต่างๆ ทุกสถานการณ์ หากมีมุมมองในทางที่ดี ให้กำลังใจแก่ชีวิต ก็ผลักดันให้ชีวิตเดินหน้าไปอย่างมีความสุขได้
think  positive ในหนังสือขายดีระดับโลก “อานุภาพของการคิดบวก” (The Power of Positive Thinking) ของ นอร์แมน วินเซนต์ พีล แจงคุณลักษณะ 10 ประการของคนคิดบวก ดังนี้

1.เป็นคนมองโลกในแง่ดี (Optimism) เห็นผลลัพธ์ในทางที่ดีของทุกๆสถานการณ์ ไม่ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นความยากลำบากหรือวิกฤติ ก็คิดว่าสิ่งนั้นคือการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ไม่ใช่ท้อถอย

2. กระตือรือร้นในทุกๆเรื่อง (Enthusiastic) มีพลังตลอดเวลา สนใจใฝ่เรียนรู้ และมีแรงจูงใจในการทำสิ่งใหม่ๆ

3. มีความเชื่อมั่นศรัทธา (Belief) อาจต่อตัวเอง ผู้อื่น หรือสิ่งเคารพนับถือทางจิตใจ

4. มีความซื่อสัตย์สุจริต (Integrity) ยึดมั่นในหลักสุจริต เที่ยงธรรม โปร่งใส เป็นแบบอย่างในการดำรงชีพ

5. มีความกล้าหาญ (Courage) กล้าที่จะเสี่ยง ไม่เกรงกลัว กล้าเดินไปข้างหน้าแม้ว่าจะเสี่ยง

6. เป็นคนที่มีความเชื่อมั่น (Confidence) เชื่อในศักยภาพ ความสามารถของตนเองว่าสามารถทำสิ่งต่างๆได้สำเร็จ

7. มีความมุ่งมั่นตั้งใจ(Determination) มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนและไม่ย่อท้อต่อการเดินหน้าไปหาจุดหมายดังกล่าว

8. มีความอดทน (Patience) รอคอยโอกาส พร้อมจะรอผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น แม้จะใช้เวลา

9. ความสงบเยือกเย็น (Calmness) นิ่ง มีสติ รู้จักไตร่ตรอง ไม่หวั่นไหวเมื่อเจอกับสถานการณ์ที่เลวร้าย

10. มีจุดมุ่ง (Focus) รู้ถึงสิ่งที่สนใจ รู้ว่าควรทำอะไรก่อนหลัง เพื่อไปสู่จุดหมายที่ต้องการ

บัญญัติ 10 ประการดังกล่าว คือ คัมภีร์ของการเหนี่ยวรั้งชีวิตของคนที่แม้เผชิญสถานการณ์ใดๆ แต่หากรู้จัก “คิดบวก” ต่อสถานการณ์ดังกล่าว ก็จะสามารถเดินฝ่าวิกฤติครั้งแล้วครั้งเล่าของชีวิต

แต่ความสมดุลของการคิดบวก กลับเป็นสิ่งที่นักบริหารพึงระลึกถึงเช่นกัน อย่ามากไป อย่าน้อยไป ต้องคิดบวกให้พอดี

ในหนังสืออีกเล่ม ที่นำแนวคิดบวกไปใช้กับการบริหารธุรกิจ (The Power of Positive Thinking in Business : Scott W. Ventrella) บอกเราว่า ด้านที่ไม่สมดุลของการคิดบวก มีมากไป มีน้อยไป อาจนำไปสู่ผลเสียในการบริหารเช่นกัน
TP6-3423-A แปะข้างฝาเอาไว้ ประเมินตนเองตลอดเวลาว่าขณะนี้ เราคิดบวกแล้วหรือไม่ หากมีมากไป หรือมีน้อยไปก็ดึงรั้งกลับมาให้อยู่ในแนวกลาง เช่น แทบจะไม่มีอะไรกินก็ยังเอาเงินไปซื้อลอตเตอรี่ โดยหวังว่าจะถูกรางวัลใหญ่กับเขา เห็นเขาจะเลือกตั้ง เห็นนักวิชาการว่าพรรคเล็กๆ จะมีโอกาส เลยขอตั้งพรรคกันมากมายเป็นร้อยพรรค เช่นนี้โลกสวยเกินไปหรือไม่

ความกระตือรือร้นที่ไม่พอดี พอมีมากเกินไป คนก็จะรู้สึกว่าเราเป็นพวกไฮเปอร์ ทำงานไม่หยุดหย่อน กลางคืนกลางคํ่า เสาร์ อาทิตย์ก็ยังทำงาน พอคนอื่นเห็นหน้าเราขยันมากเกินไปก็กลับอคติอีกด้านว่า สงสัยจะเฟกหรือของปลอมอีก

ความเชื่อมั่นศรัทธาอะไรบางอย่างก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะมีสิ่งยึดเหนี่ยวในจิตใจ แต่ถ้ามากไปก็กลายเป็นความงมงาย กลายเป็นสาวกหรือแฟนคลับที่เขาจะเอ่ยปากอะไร ก็เชื่อเขาไปเสียหมด อย่างนี้ก็ไม่สวย

คงจำกันได้ การตรงเป็นไม้บรรทัดแบบอดีตรัฐมนตรีท่านหนึ่งที่มาจากนักวิชาการก็ดูดี แต่ท้ายสุดท่านไม่ค่อยมีเพื่อน ไม่มีสังคม คนเข้าไม่ถึง คนไม่คบด้วย แต่ถ้าพร่องในสิ่งนี้ ก็กลายเป็นไร้จริยธรรม ก็ต้องพอดีๆ ครับ

กล้าไป ก็เสี่ยงตายไม่คุ้มค่า การได้ชื่อว่าเป็นวีรชนคนยกย่องกันแต่เสียชีวิตก็คงไม่ใช่เรื่องดีงามนัก

ความดื้อรั้น มุ่งมั่นเกินไป เชื่อมั่นในตนเองมากไป ติดยึดมากไปล้วนแต่ไม่ดี อดทนมากไปก็ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ให้ดีขึ้น สงบเยือกเย็นเกินไปก็ดูเหมือนเกียจคร้าน ไม่กล้าตัดสินใจ หรือบางทีมุ่งมั่นในสิ่งเดียว เช่น สนใจวิจัยค้นคว้าเรื่องนี้เรื่องเดียวไม่สนใจเรื่องอื่นๆ ไม่ยอมมองโลกภายนอกบ้าง ก็จะมีมุมมองที่คับแคบ

ทางสายกลางย่อมดีที่สุด คิดบวกได้ครับ แต่อย่ามากไปอย่าน้อยไป

|คอลัมน์ : Management Tools
|โดย : รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า6 ฉบับ 3423 ระหว่างวันที่ 2-5 ธ.ค.2561
595959859