เหล่ากูรูเผยทิศทางขับเคลื่อน ... วงการบล็อกเชนไทย

02 ธ.ค. 2561 | 08:14 น.
เหล่ากูรูฟินเทคร่วมให้ข้อมูลชี้จุดเด่นจุดด้อยและทิศทาง Blockchain ในงาน Blockchain Thailand Genesis

"กรณ์ จาติกวณิช" เผย Blockchain มาแก้ไขปัญหาจุดบกพร่องการใช้เงินสด ขณะที่ ปัญหาของบิทคอยน์ยังมีต้นทุนการผลิตสูง เพราะใช้ไฟฟ้าเยอะและขาดความสะดวกในการใช้ ด้าน "ดร.การดี" ระบุ Tokenization หรือ กระบวนการออกเหรียญ เป็นสิ่งที่มีความปลอดภัยสูง

จากงาน Blockchain Thailand Genesis งานมหกรรมเทคโนโลยีบล็อกเชนงานแรกที่จัดโดยคนไทย เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับนักลงทุนรายย่อยที่มองหาสินทรัพย์เพื่อการลงทุนรูปแบบใหม่ในยุคเริ่มต้น รวมไปถึงผู้ประกอบการที่ต้องการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ เช่น การระดมทุนรูปแบบใหม่ เรียกว่า ICO ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำนวนเงินทั้งหมดที่ได้ทำผ่าน ICO ทั่วโลก ระหว่างปี 2017-2018 มีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้การระดมทุนแบบ ICO เติบโตอย่างต่อเนื่อง คงหนีไม่พ้นการทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั่วโลก ไม่จำกัดแค่เพียงในประเทศตนเอง ซึ่งการให้ความรู้ การส่งเสริมพัฒนา และสนับสนุนจากทั้งทางภาครัฐและเอกชนให้กับผู้ประกอบการ ก็จะช่วยทำให้มีเงินทุนนอกประเทศไหลเข้ามาภายในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีมากยิ่งขึ้น


Thailand Blockchain Genesis 1

ดร.ประเวทย์ ตันติสัจจธรรม เลขาธิการสมาคมไทยบล็อกเชน กล่าวว่า งาน Blockchain Thailand Genesis ถือเป็นงานครั้งแรกและใหญ่ที่สุดสำหรับคนไทยที่จัดโดยคนไทย โดยที่จะรวมผู้เชี่ยวชาญและคนในวงการเกี่ยวกับ Blockchain Cryptocurrency Fintech เข้าด้วยกัน ภายในงานมีวิทยากรจากหลากหลายอาชีพมาให้ข้อมูล เพื่อให้รู้ว่า Blockchain จะทำงานได้อย่างไรบ้าง มีประโยชน์อย่างไรบ้างในธุรกิจต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ใน Fintech หรือ Cryptocurrency เท่านั้น


บล็อกเชนและคริปโตจะเติบโตอย่างแน่นอน
นายกรณ์ จาติกวณิช ประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย กล่าวว่า เงิน คือ นวัตกรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ จุดบกพร่องของเงินทำให้เกิดจุดเริ่มต้นของ Cryptocurrency โดยมีเทคโนโลยี Blockchain มาแก้ไขปัญหาจุดบกพร่องดังกล่าว เช่น เงินในสกุลเงินดอลลาร์มีธนาคารกลางเป็นตัวกำหนด ว่า จำนวนเงินดอลลาร์ในระบบจะมีเท่าไหร่ ซึ่งก็แล้วแต่จะกำหนด แต่เงินในคริปโตฯ อย่างบิทคอยน์ มีจำนวนที่ตายตัว และการโอนคริปโตจะมีต้นทุนต่ำกว่าสกุลเงินทั่วไป


นายกรณ์ จาติกวณิช ThaiFintech (2)

แต่ปัญหาของบิทคอยน์ คือ ต้นทุนการผลิตสูง เพราะใช้ไฟฟ้าเยอะและขาดความสะดวกในการใช้ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการตรวจสอบการทำธุรกรรม รวมไปถึงปัญหาที่บิทคอยน์โดนแฮค ซึ่งถ้าเป็นเงินที่หายไปจากธนาคาร เราสามารถเรียกร้องเงินคืนได้ แต่ในโลกของคริปโตฯ ยังทำไม่ได้ จึงถือเป็นข้อเสียเปรียบ แต่เชื่อว่าวันหนึ่งจะมีเทคโนโลยีที่เข้ามาแก้ไขจุดนี้ และผมเชื่อว่าในอนาคตบล็อกเชนและคริปโตฯ จะเติบโตอย่างแน่นอน


Tokenization เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน




ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ICORA (2)

ดร.การดี เลียวไพโรจน์
ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ICORA หนึ่งในหญิงเก่งและแกร่งที่ขับเคลื่อนวงการสตาร์ทอัพไทย จนมาถึงยุคฟินเทค Tokenization หรือ กระบวนการออกเหรียญ เป็นสิ่งที่มีความปลอดภัยสูง เพราะเป็นการหลีกเลี่ยงการแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยตรง เช่น เลขบัตรเครดิต โดยการแปลงข้อมูลบัญชีส่วนบุคคลให้กลายเป็นโทเคน แล้วจึงนำโทเคนไปใช้ดำเนินการชำระเงิน สามารถทำให้เรามีส่วนร่วมด้วยกันมากขึ้น และมันจะไม่ใช่แค่การซื้อถูกขายแพง แต่เราจะมองไปไกลกว่านั้น มองไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถสร้างความยั่งยืนได้มากกว่า และในด้านของเทคโนโลยี เช่น AI, Big Data หรือ AV สิ่งเหล่านี้ล้วนสามารถผลักดันให้เกิดการเติบโตของ Tokenization และทุกอุตสาหกรรมกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็น Fintech มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร ร้านค้า ที่ดิน ก็สามารถเข้าสู่การเป็น Fintech ได้ โดยการใช้แนวคิดแบบ Tokenization


กรุงเทพฯ … เมืองหลวงคริปโตเคอเรนซีของภูมิภาค




นายศิวนัส ยามดี Coin Asset (2)

นายศิวนัส ยามดี
ผู้ก่อตั้งคอยน์ แอสเซท กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา เราประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับที่ดีมาก เราเป็นเอ็กเซนจ์ที่มีแนวคิดที่อยากสนับสนุนวงการคริปโตของไทย อยากให้วงการคริปโตของไทยเติบโตขึ้น ประการแรก คือ บนกระดานของเราลิสต์เหรียญที่มีคุณภาพของคนไทยขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประการที่ 2 เราเพิ่ม QR Payment ที่แก้ไขปัญหาการลงทุนระยะสั้น ฝากเงินได้รวดเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป้าหมายของเราในวันนี้ไม่ใช่แค่การแข่งขันในประเทศ แต่เราจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของคริปโตเคอเรนซีในภูมิภาคนี้ เราตั้งเป้าจะทำให้ร้านค้าต่าง ๆ รองรับจ่ายเงินด้วยคริปโตฯ ด้วยระบบที่พัฒนาขึ้นมาให้ใช้ได้จริง


บล็อกเชนเป็นเพียงหนึ่งในฟันเฟือง




นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ BearTai (2)

นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์
ผู้ก่อตั้งแบไต๋ไฮเทค ชุมชนคนรักไอทีชื่อดังของเมืองไทยที่ครองความนิยมมาอย่างยาวนาน กล่าวว่า AI หรือที่ย่อมาจาก Artificial Intelligence เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถคิดได้ สอนได้ หลายคนกลัว AI เพราะมองว่า AI คือ สมองของคอมพิวเตอร์ เพราะฉะนั้น เราต้องรีบพัฒนาตัวเองก่อนถูกแทนที่ด้วย AI AI ถูกนำไปพัฒนาหลายด้าน ทั้งการสร้างหุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ หรือแม้กระทั่งสัตว์ ยกตัวอย่าง ธนาคารในยุคปัจจุบันที่กลายเป็น Digital Banking ถ้าธนาคารไม่มีสาขาแล้ว ความต้องการคนทำงานก็น้อยลง ถ้า AI ถูกใช้ในแวดวงธนาคาร อาจทำให้อีกหลายตำแหน่งงานถูกยุบลงไปอีก และการมาถึงของบล็อกเชนก็ยิ่งอาจทำให้ผู้บริโภคพึ่งพาธนาคารน้อยลง นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น อยากให้มองภาพใหญ่ของเศรษฐกิจและสังคมที่จะเปลี่ยนไป Blockchain AI หรือ IoT เป็นเพียงฟันเฟืองของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ดังนั้น การตามทันเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญมากในการขับเคลื่อนประเทศในยุคนี้


กำกับดูแลการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล




นางสาวอัญชิสา ฐาปนากรวุฒิ กลต. (2)

นางสาวอัญชิสา ฐาปนากรวุฒิ
เจ้าหน้าที่อาวุโสแผนกฟินเทค สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ตนมองตลาดของสินทรัพย์ดิจิตอล ว่า เป็นตลาดของ "แฟนพันธู์แท้" เนื่องจากคนที่อยู่ในวงการล้วนต้องอาศัยการศึกษาอย่างเข้าใจ รู้ลึก รู้จริง ทั้งในเชิงเทคโนโลยีและการซื้อขาย อีกทั้งยังรู้ถึงความเสี่ยงและวิธีการรับมือ ปัญหาที่ทาง กลต. เป็นห่วงมากที่สุดในขณะนี้ เป็นเรื่อง ICO เพราะทั่วโลกมี ICO ที่หลอกลวงนักลงทุนเป็นจำนวนมาก อันนำมาสู่ความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการในการกำกับดูแล เพื่อป้องกันการหลอกลวงประชาชน ตลอดจนการฟอกเงินและความเสี่ยงอื่น ๆ โดยมุ่งสร้างความชัดเจน ความสุจริต ให้ประชาชนสามารถใช้สินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ


วางกลยุทธ์และนโยบายการใช้ AIและบล็อกเชน




ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร DEPA (1)

ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร
ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า ทั่วทั้งโลกกำลังตื่นตัวที่จะพัฒนา Blockchain เพื่อนำไปใช้มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้น ในต่างประเทศเริ่มมี AI National Strategy หรือ การวางกลยุทธ์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในระดับชาติ รวมถึงมีการวางนโยบายที่จะทำให้ Blockchain เข้ามามีผลในการการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านในทางเศรษฐกิจมากขึ้น ได้แก่ จีน สวิตเซอแลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ การใช้ Blockchain อย่างแพร่หลายในไทยต้องใช้เวลา บางอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว เช่น การเงิน การประกันภัย หรือ การขนส่ง โจทย์สำคัญ คือ ทำอย่างไร อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สำคัญของประเทศจะสามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ได้ เช่น การเกษตร การผลิตอาหาร การแพทย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ อีกประเด็นสำคัญ คือ เรื่องกฎหมาย ที่อาจต้องมีการปลดล็อกบางส่วน เพื่อทดสอบว่า ระบบใหม่ ๆ เหมาะกับเมืองไทยหรือไม่ ปลอดภัยแค่ไหน แทนการปิดกั้น ก่อนที่จะเข้าไปกำกับดูแลต่อหากมีการรับเข้ามาใช้

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว