8ความเสี่ยงหลักที่ภาคเอกชนต้องเผชิญ

30 พ.ย. 2561 | 23:53 น.
รายงานพิเศษ

เอกชนผวา!!!

ปัจจัยเสี่ยงปีหน้ายาวเป็นหางว่าว

เริ่มไม่หมูซ่ะแล้วสำหรับการดำเนินธุรกิจในปี 2562  เมื่อหลายสำนักด้านเศรษฐกิจ ออกมาพยากรณ์ล่วงหน้าแล้วว่า  ปี 2562 การเติบโตของจีดีพี  และการส่งออกจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2561   ด้วยเหตุจากหลายปัจจัยลบ รุมเร้ารอบด้านแบบชักแถวเรียงรายเข้ามา

สอดคล้องกับที่ก่อนหน้านี้  นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยปีหน้า ในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2561 สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะสะท้อนการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตาม 3 ปัจจัยเสี่ยง คือ มาตรการกีดกันทางการค้า ความผันผวนตลาดเงินตลาดทุนโลก และวัฏจักรดอกเบี้ยที่จะปรับขึ้น

เพื่อเป็นการยืนยันว่าปีหน้าการทำธุรกิจไม่หมูจริง!   ต้องมาฟังเสียงภาคเอกชนตัวจริง เสียงจริง สะท้อนมุมมองชัดเจนแค่ไหนฟังกันชัดๆ  จากปากคนทำธุรกิจ ที่ส่วนใหญ่ฉายภาพไปในทิศทางเดียวกัน ถึงข้อกังวลหลายปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้  หลายปัจจัยก็อยู่นอกเหนือการควบคุม  ล้วนเชื่อมโยงมาถึงผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทั้งสิ้น  โดยเฉพาะ8ความเสี่ยงหลัก(ดูกราฟฟิก)ที่ภาคเอกชนเป็นห่วง!!!

8 ความเสี่ยง

-เจอแน่จีนถล่มตลาดหลากสินค้า

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล  รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปี 2562 ยังมีความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและกระทบต่อการค้าของไทย คือผลต่อเนื่องจากสงครามการค้าระหว่าง 2 ผู้นำทางเศรษฐกิจอย่างอเมริกาและจีน ที่จะสะเทือนมาถึงประเทศคู่ค้า จนไม่สามารถควบคุมได้  จะทำให้บรรยากาศการค้าโลกแย่ลง  เชื่อมโยงมาสู่ผลกระทบทางอ้อม  จะทำให้สินค้าที่อยู่ในซัพพลายเชนของจีนลดลง  ที่สำคัญบรรดาสินค้าที่จีนส่งไปขายยังอเมริกาไม่ได้  จะไหลเข้ามายังตลาดเอเชีย รวมถึงเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยด้วยสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น

เกรียงไกร77777

 

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในอเมริกาก็อยู่ในภาวะขาขึ้น  สร้างแรงกดดันให้ไทยอาจตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายด้วย  ก็จะส่งผลกระทบถึงผู้ประกอบการที่กู้เงินจะต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น   รวมไปถึงการค้าขายเริ่มยากขึ้นเพราะหลายประเทศมีนโยบายกีดกันการค้ามากขึ้น ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการค้าขาย  นอกจากนี้ภาคเอกชนยังต้องเฝ้าจับตาสถานการณ์การเมืองไทยทั้งก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง

-หลายปัจจัยลบทุบค้าโลกชะลอตัว

สอดคล้องกับที่ นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด(มหาชน)หรือ Srithai ฉายภาพให้เห็นถึงข้อกังวลว่า   ปี 2562 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ สงครามการค้าระหว่างประเทศอเมริกาและจีน  ซึ่งคงไม่จบเร็ว และมีผลกระทบไปทั่วโลก ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกันในสินค้าหลายๆประเภท เพราะถูกสหรัฐฯขึ้นภาษีขาเข้า เช่น แผงโซล่าร์เซลล์ เครืองซักผ้า เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็ยังได้รับผลดีด้วย ในสินค้าบางประเภทจากสงครามการค้า เพราะไทยส่งออกไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ เช่น ยานพาหนะ และส่วนประกอบเคมีภัณฑ์ เหล็ก ผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรและส่วนประกอบ เป็นต้น

สนั่น

ส่วนผลดีในระยะยาว คือ ผู้ประกอบการหลายสัญชาติในจีน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และผู้ประกอบการชาวจีน ก็ย้ายฐานการผลิตมาไทยบางส่วน เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้า เช่น ผลิตภัณฑ์จากยางพารา สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

“มองโดยรวม สิ่งที่จะเกิดขึ้นและต้องจับตาติดตามคือ ปีหน้าการค้าโลกจะชะลอตัวเนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น ผลกระทบจากสงครามการค้า การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในหลายประเทศ อันเกิดจากสภาพหนี้สินครัวเรือนสูง ทำให้กำลังซื้อหดหาย ผู้บริโภคพยายามชะลอการใช้จ่ายและการลงทุนใหม่ๆยังชะลอตัวอีกด้วย”

-รอดูทีมศก.รัฐบาลใหม่แก้ปัญหาปากท้อง

ด้านนายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์   ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา และนักธุรกิจที่ทำการค้าในประเทศไทยและประเทศเมียนมา  กล่าวแสดงความเห็นถึงปัจจัยบวกและลบที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 ว่ามีมุมมองจาก 2 ส่วนหลักคือ

1. ปัจจัยภายในประเทศ คือสัญญาณด้านบวก  ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะทำให้ความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อรัฐบาลไทยมีมากขึ้น  จะส่งผลต่อการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ที่เข้ามา การส่งออกก็จะดีขึ้น ด้านบริการหรือการท่องเที่ยวจะสร้างความเชื่อมั่นต่อต่างประเทศโดยเฉพาะจีน หากมีการเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ถี่ขึ้น ก็จะนำมาซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น

กริช

ส่วนสัญญาณด้านลบ หากผลทางการเมืองออกมาไม่เป็นดังที่คาดหวังของคนทั่วไป ก็อาจจะมีการย้อนกลับสู่วังวนเดิมๆ รวมถึงปัจจัยลบที่ควบคุมไม่ได้  อย่างอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ซึ่งมาจากเหตุของปัจจัยภายนอก จะส่งผลต่อการค้าการส่งออก

“การแก้ปัญหาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ  ต้องดูจากผลของการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ หากได้คนที่มีฝีมือเข้ามาบริหารนโยบายการเงินการคลังที่ดี  รวมถึงแก้ปัญหาปากท้องประชาชนได้ ก็จะช่วยได้มาก  เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรที่อยู่ในภาวะที่ตกต่ำมาก หากรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไขได้ถูกจุด ก็จะสามารถทำให้เลือดหยุดไหลได้”

2.  ปัจจัยภายนอกประเทศ   ถือเป็นความเสี่ยง โดยเฉพาะสงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาล 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ กำลังทำให้เกิดผลทางด้านการเงินของโลก นำมาซึ่งความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนในปีหน้านี้ หากการเตรียมรับมือได้ไม่ดี ก็จะเป็นผลเสียต่อประเทศได้   นอกจากนี้ปีหน้าไทยได้เป็นเจ้าภาพของกลุ่มสมาชิกอาเซียน จะต้องจับตาดูว่ารัฐบาลใหม่จะใช้บทบาทหน้าที่นี้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยได้อย่างไร

ฟังเสียงสะท้อนข้างต้นแล้วพาให้คิดว่าปี 2562 นี้ เราจะรักษาอัตราการส่งออกให้อยู่ในแดนบวกต่อไปเหมือนปี 2560 ที่การส่งออกมีอัตราการขยายตัวถึง  9.86% และปี 2561 เฉพาะ 10 เดือนแรก การส่งออกมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 8.19% และคาดว่าทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าที่ 8%  เช่นเดียวกับการเติบโตของจีดีพี ที่ปีก่อนเติบโต 3.9%   แต่ปีนี้หลายสำนักต่างคาดการณ์กันว่าจะเติบโตเกิน 4% แน่นอน  ในปีหน้าจะรักษาอัตราการเติบโตให้อยู่ในแดนบวกหรือไม่ให้ร่วงลงจากปีนี้ได้อย่างไร

งานนี้คงต้องรอวัดฝีมือทีมเศรษฐกิจรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะสักแค่ไหน  ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงปีหน้าที่ยาวเป็นหางว่าว!

595959859