หวั่นไทยโดนตัดสิทธิGSPเพิ่มถ่วงจีดีพีปี62โตไม่ถึงฝัน4%

02 ธ.ค. 2561 | 07:53 น.
ตัวเลขส่งออกของไทย เดือนตุลาคม ที่กลับมาขยายตัว 8.7% จากที่ตัวเลขเดือนกันยายนที่ติดลบ 5.2% วูบครั้งแรกในรอบ 19 เดือน ทำให้กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่า การส่งออกทั้งปีจะยังขยายตัวได้ 8% ตามเป้าหมาย แต่ปี 2562 ยังมีปัจจัยต้องติดตาม ทั้งการเมืองในประเทศ เศรษฐกิจและการค้าโลกที่เริ่มมีแนวโน้มชะลอตัว ทำให้หลายสำนักมองกันว่า เศรษฐกิจปี 2562 อาจไปไม่ถึงฝันที่คาดว่าจะโตได้ 4%

“นริศ สถาผลเดชา” เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี ประเมินว่า ปัจจัยหลักที่ฉุดเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปีหน้า มาจากการส่งออกที่ชะลอตัวเหลือ 4.3% คิดเป็นมูลค่า 2.65 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปีนี้ที่ขยายตัวได้ 7.4% ส่วนหนึ่งมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทั้งในส่วนของสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศให้ปรับลดลง รวมถึงการตั้งกำแพงภาษีบนสินค้าส่งออกของไทยและการตัดสิทธิ GSP ที่ได้ตัดสิทธิไปแล้ว 11 รายการ

[caption id="attachment_355512" align="aligncenter" width="503"] คุณนริศ TMB นริศ สถาผลเดชา[/caption]

ทั้งนี้ไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะโดนตัดสิทธิ GSP เพิ่มเติม เนื่องจากไทยใช้สิทธิ GSP ค่อนข้างเยอะเป็นอันดับที่ 2 รองจากอินเดีย และหากไทยโดนตัดสิทธิ GSP เพิ่มมากขึ้น จะยิ่งส่งผลต่อภาคส่งออกชะลอตัวมากขึ้น เพราะสิทธิ GSP ไทยมี 3,400 รายการคิดเป็น 10% ของการส่งออกทั้งหมดขณะมองว่ายังได้ประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน จากการย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย โดยมีผลบวกอยู่ที่ 0.1% หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

“จีดีพีปี 2562 มองยังไงก็คงไม่ถึง 4% โดยคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 3.8% เท่านั้น ซึ่งแม้ไส้ในตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนจะเติบโตค่อนข้างสูงที่ 5.4% จากปีนี้อยู่ที่ 3.8% ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC) แล้วก็ตาม หรือแม้แต่การลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวจาก 5.1% มาอยู่ที่ 7.7% แต่ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยพยุงให้เศรษฐกิจเติบโตได้สูง เนื่องจากมีสัดส่วนต่อจีดีพีเพียง 0.5% เท่านั้น ดังนั้นแม้จะพยายามงัดปัจจัยบวกต่างๆ เป็นตัวดันเต็มที่ ก็ยังไม่สามารถทำให้จีดีพีไทยไปได้เกิน 4% ได้และปีนี้ที่เคยมองไว้ 4.5% แต่เมื่อตัวเลขไตรมาสที่ 3 ออกมาขยายตัว 3.3% จึงคาดว่าทั้งปีนี้น่าจะขยายตัวได้แค่ 4%”

[caption id="attachment_355112" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

นอกจากนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง โดยคาดว่า อัตราการเติบโตในปี 2562 จะขยายตัวเพียง 6.5% หากดูข้อมูลจะพบว่า ช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นจีนปรับลดลง 20-30% สะท้อนความมั่งคั่งหรือ Wealth ของคนจีนลดลง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมายังการจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับธนาคารกลางประเทศจีน (PBOC) ได้ปรับค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลง เพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าไปแล้ว 7% และหากเทียบกับค่าเงินบาทจะอ่อนลงถึง 10% ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและภาคการท่องเที่ยวของไทยที่ส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพามาจากนักท่องเที่ยวจีน

อย่างไรก็ดี ธนาคารยังมองว่า ตัวเลขการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 6.4% มาอยู่ที่ 6.6% หรือคิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยว 40.2 ล้านคน แต่นักท่องเที่ยวชาวจีนยังไม่ได้กลับมาขยายตัวสูงเหมือนเดิม โดยจะเห็นจำนวนนักท่องเที่ยว
ชาวจีนปรับลดลงจาก 8 แสนคนต่อเดือน เหลือเพียง 6 แสนคนต่อเดือน โดยเป็นสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเองประมาณ 60% และมากับกรุ๊ปทัวร์อีก 40%

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในปี 2562 จะชะลอตัวลงเหลือเพียง 3.5% จากปีนี้อยู่ที่ 4.7% จากการบริโภคสินค้าคงทนที่ลดลง อย่างไรก็ดี รายได้ภาคเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นมาประมาณ 2.5% จากมูลค่าพืชเศรษฐกิจอยู่ที่ 7.72 แสนล้านบาท พบว่าราคาข้าวและมันสำปะหลังยังคงไปได้ แต่ยางพารา อ้อย ปาล์มนํ้ามันยังคงไม่ฟื้นตัว ทำให้รายได้ภาคเกษตรยังไม่ได้ปรับตัวดีมาก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแรงกดดันเศรษฐกิจขยายตัวไม่ถึงระดับ 4% ในปี 2562

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,423 วันที่  2 - 5 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว