ค้าชายแดนเชียงของโตเฉียด2.5หมื่นล้าน R3a บูมสินค้าเกษตร‘ไทย-จีน’

05 ธ.ค. 2561 | 02:00 น.
รายงาน

ป้ายR3a

การขนส่งสินค้าทางบกผ่านถนน R3a (ไทย-ลาว-จีน) หลังจากเปิดใช้สะพานข้ามแม่นํ้าโขงผ่านด่านอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย วันที่ 11 ธันวาคม 2556 นับวันจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นกับการค้าชายแดนของจังหวัดเชียงราย เนื่องจากสามารถที่จะขนส่งสินค้าด้วยรถยนต์ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว แม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ที่ผ่านมารัฐบาลของทั้ง 3 ชาติทั้งไทย สปป.ลาว และจีน พยายามเจรจาหาทางแก้ไขมาโดยตลอด ส่งผลทำให้การนำเข้าและส่งออกสินค้าผ่านด่านศุลกากรเชียงของ มีปริมาณและมูลค่าการค้าสูงที่สุดใน 3 ด่านการค้าชายแดนของจังหวัดเชียงราย ที่ประกอบด้วยด่านศุลกากรเชียงของ ด่านศุลกากรเชียงแสน และด่านศุลกากรแม่สาย

“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบมูลค่าการค้าชายแดนล่าสุด ที่ผ่านด่านศุลกากรเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560-กันยายน 2561) พบว่า มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 24,174.69 ล้านบาท แยกเป็นการนำเข้า 6,298.25 ล้านบาท การส่งออก 17,876.44 ล้านบาท และเมื่อย้อนหลังไป 5 ปีจนถึงปีงบประมาณ 2557 ยังพบว่า มูลค่าการค้ารวม โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าจากประเทศไทย มีอัตราการขยายตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

MP21-3423-A

การค้าชายแดนของจังหวัดเชียงราย ที่ผ่านด่านศุลกากรเชียงของน่าจับตามอง เนื่องจากสินค้าที่มีการค้าระหว่างกันส่วนใหญ่คือ สินค้าเกษตร จากมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด 6,298.25 ล้านบาทนั้น เป็นการนำเข้าสินค้าเกษตรถึง 5,558.63 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณมากถึง 279,361.57 ตัน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทผักสดและผลไม้สดจากประเทศจีน ทั้งนี้มีรายงานว่าผักและผลไม้สดจากประเทศจีนแทบทั้งหมด จะมีปลายทางอยู่ที่ตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานครหรือปริมณฑล ก่อนจะกระจายออกไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทั่วประเทศ ตั้งแต่ในห้างค้าปลีก ค้าส่ง ไปจนถึงในตลาดสดต่างๆ ขณะบางส่วนถูกส่งผ่านแดนต่อไปยังประเทศที่ 3 ในภูมิภาคอาเซียน

เช่นเดียวกันกับสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสปป.ลาวและจีนก็เป็นสินค้าเกษตร โดยจากมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 17,876.44 ล้านบาทนั้น เป็นสินค้าเกษตรมากถึง 10,182.18 ล้านบาท มีปริมาณมากถึง 352,241.93 ตัน สินค้าส่วนใหญ่เป็นยางพาราและผลไม้สด (ทุเรียน-มังคุด) ทั้งนี้มีรายงานว่า ส่วนใหญ่สินค้าไทยที่ส่งออกผ่านด่านศุลกากรเชียง ของ มีปลายทางอยู่ที่ศูนย์กระจายสินค้าในสิบสองปันนาและนครคุนหมิง ซึ่งทำให้ในระยะหลังๆ นี้นักท่องเที่ยวจากไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวในสิบสองปันนา เมื่อไปเดินในตลาดจะพบสินค้าจากประเทศไทยมากขึ้นทุกปี

นายสงวน ซ้อนกลิ่นสกุล รองประธานฝ่ายโลจิสติกส์และ GMS หอการค้าจังหวัดเชียงราย ซึ่งประกอบธุรกิจอยู่ในพื้นที่อำเภอเชียงของ เปิดเผยว่า ความฝันความต้องการของผู้ประกอบการไทยและรัฐบาลไทยคือ ต้องการเห็นสินค้าไทยไปวางขายในตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อต้องการไปเปิดตลาดในประเทศจีนก็ต้องรับให้ได้ กับการที่จะมีสินค้าจีนเข้ามาในประเทศด้วย อันเป็นไปตามกฎกติกาการค้าที่เป็นสากล ทำให้ตนมองว่าการทะลักลงมาของสินค้าจีนไม่ใช่เรื่องแปลก

“เพียงแต่ผู้ประกอบการภาคการค้า ภาคการผลิต ต้องปรับตัวให้ทัน สินค้าใดที่มีศักยภาพในการแข่งขัน ส่งไปขายได้ก็ควรจะเพิ่มการผลิต สินค้าใดที่สู้สินค้าที่มาจากประเทศคู่แข่งไม่ได้ ก็จำเป็นต้องเลิกผลิตแล้วไปส่งเสริมให้ผลิตสินค้าที่แข่งขันในตลาดได้ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ภาครัฐและภาคเอกชนต้องช่วยกัน เพื่อไม่ให้ภาคการผลิต โดยเฉพาะเกษตรกร ได้รับความเดือดร้อนจากสงครามการค้าในปัจจุบัน”

ต่อข้อเป็นห่วงที่ว่าจะมีสินค้าจากประเทศจีนทะลักมาจนล้นประเทศไทยนั้น รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ระบุว่า ในความเห็นส่วนตัวตนมองว่าไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ กำลังซื้อ-กำลังการบริโภคในประเทศไทยมีเท่าเดิม สินค้าที่ลงมาเพิ่มขึ้นก็จะถูกผลักออกไปสู่ตลาดในประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เป็นเรื่องปกติของการค้า เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มีแต่ต้องหาหนทางหรือวิธีการที่จะรับมือให้ได้อย่างผู้ชนะ เพราะว่าจะมีแต่ผู้ชนะเท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนดเกมการแข่งขัน

“จริงๆ แล้วผมไม่อยากให้มองภาพการทะลักลงมาของสินค้าจีนอย่างเดียว เพราะถ้ามองภาพตรงนั้นก็จะดูน่ากลัว ลองมองกว้างๆ ขึ้นมาอีกนิดก็จะเห็นว่า สินค้าเกษตรไทยก็ทะลักขึ้นไปที่ประเทศจีนมากด้วยเช่นกัน เช่น ทุเรียน มังคุด ผลไม้เมืองร้อนหลายอย่างที่จีนไม่มี ก็เป็นโอกาสของสินค้าไทย และการที่สินค้าจากประเทศจีนทะลักลงมา ถ้ามองในฐานะผู้บริโภค ผมว่าผู้ได้ประโยชน์คือผู้บริโภค ซึ่งจะได้มีโอกาสบริโภคสินค้าในราคาที่เหมาะสม ผมเป็นห่วงเรื่องของคุณภาพและราคามากกว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าต้องให้ความเชื่อมั่นให้ได้ว่า สินค้าทุกชิ้นที่เข้ามาในประเทศเป็นสินค้าที่มีมาตรฐาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และขายในราคาที่เหมาะสมเป็นธรรม” รองประธานหอการค้าเชียงราย กล่าว

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,423 วันที่ 2-5 ธันวาคม 2561

[caption id="attachment_356550" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]