ราคายางเริ่มโงหัว! 'กฤษฎา' ลุยทำถนน ดัดหลังพ่อค้า

30 พ.ย. 2561 | 11:27 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

'กฤษฎา' ดัดหลังพ่อค้า! ปูพรมลุยนำยางพาราทำถนน หวังลดสต็อกช่วยชาวสวนแก้ราคาตกต่ำ ตลาดกลางขานรับนโยบาย พ่วงอานิสงส์ใต้ฝนชุก ดันราคาเริ่มโงหัวทั้งยางแผ่นดิบ–ยางแผ่นรมควัน ด้านแกนนำกระทุ้งอย่าให้ฝันค้าง 'อุทัย' ใจร้อนขอ ม.44 ปลดล็อกเงื่อนไขระเบียบ

S__16162846

"ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามความเคลื่อนไหวราคายางพาราในรอบสัปดาห์นี้ พบว่า ราคา ณ วันที่ 30 พ.ย. 2561 ราคายางพารา ณ ตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา ปรับตัวสูงขึ้นทั้งยางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควัน ทางการยางแห่งประไทย (กยท.) รายงานปริมาณยางมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากภาคใต้อยู่ในช่วงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือส่งผลให้มีฝนชุกต่อเนื่อง เป็นอุปสรรคในการกรีดยาง ขณะที่ นโยบายรัฐยังเดินหน้าเพิ่มใช้ยางทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์อย่างต่อเนื่อง หวังลดสต็อกยางในประเทศช่วยชาวสวนแก้ราคาตกต่ำ


DSC_21022 (1)

วันที่ 30 พ.ย. 2561 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พื้นที่ จ.สกลนคร และนครพนม โดยมี นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน, นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ณ บ้านท่าลาด ต.ไฮหย่อง อ.พังโคน จ.สกลนคร พร้อมมอบแนวทางการดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาและโครงการที่สำคัญตามนโยบายของรัฐบาล


S__17580056-1-503x377

จากนั้นเดินทางต่อไปยังคลองสายใหญ่ฝั่งซ้าย อ่างเก็บน้ำห้วยบุ่งหมากโมง อำเภอเมือง จ.นครพนม เพื่อเยี่ยมชมวิธีการดำเนินงานทำถนนดินซีเมนต์ผสมยางพารา (Para Soil Cement) ในงานปรับปรุงถนนลาดยาง บริเวณคลองซ้ายใหญ่ฝั่งซ้าย LMC อ่างเก็บน้ำห้วยบุ่งหมากโมง จ.นครพนม ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการไทยนิยมยั่งยืน สนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศ


46960622_2143760359008015_2022725929066823680_n

ด้าน นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่ง กล่าวว่า ความพยายามของชาวสวนยางที่จะกดดันรัฐบาลให้เลือกยืนข้างเกษตรกรชาวสวนยางเพิ่งมาสำเร็จในช่วงปลายปีก่อนเลือกตั้งนี้ แต่จะเป็นจริงหรือไม่ ต้องช่วยกันกดดันและผลักดันต่อไป เพราะปัจจุบันถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ยังไม่สามารถเดินตามเป้าหมายได้ เพราะฝ่ายนายทุนยางมะตอยยังใช้กลไกอำนาจรัฐชะลอดึงเรื่องและแอบสอดไส้กำหนดแบบสเปควิธีการทำและราคากลาง ดังนั้น สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังต่อไปนี้

1.รัฐบาลต้องเร่งประกาศแบบการทำถนนที่ผ่านการรับรองโดยวิศวกรโยธาของกรมทางหลวงชนบทและกรมชลประทาน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำแบบถนนไปใช้ได้ โดยไม่ต้องถูกตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในภายหลัง

2.ราคากลางที่กรมบัญชีกลางประกาศยังเป็นแค่ฉบับร่าง ที่ยังมีปัญหาในการปฏิบัติ เพราะยางพาราเป็นสินค้าเกษตร ไม่อยู่ในบัญชีรายการสิ่งก่อสร้างที่พาณิชย์จังหวัดสามารถประกาศได้ กรณีนี้มีข้อเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลาง ยกเว้น การสืบราคาน้ำยางอย่างน้อย 3 ราย โดยให้อ้างอิงราคาน้ำยางสดจากการยางแห่งประเทศไทยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น


ยาง1-503x335

3.การทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์จะสามารถลด Supply ยาง พร้อม ๆ กับการชี้นำราคายางได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรชาวสวนยางผ่านสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางของการยางแห่งประเทศไทยเท่านั้น แม้เปิดช่องให้บางพื้นที่สามารถใช้น้ำยางข้นได้ แต่จะต้องเป็นน้ำยางข้นที่ผลิตโดยสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและการยางแห่งประเทศไทย ห้ามซื้อน้ำยางข้นจากบริษัทเอกชนโดยเด็ดขาด เพราะราคาน้ำยางสดตามสเปกในราคากลางกําหนดสูงถึงราคายางที่จุดคุ้มทุนของเกษตรกร คือ อย่างน้อย 60 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งผลประโยชน์เหล่านี้ต้องตกถึงมือเกษตรกรชาวสวนยางเท่านั้น จึงจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของชาวสวนยางทั่วประเทศได้

"รัฐบาลอย่าทำให้ถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์เป็นฝันค้างของชาวสวนยาง หรือเป็นแค่เพียงความตั้งใจดีที่ไม่สามารถเป็นจริงตามเป้าหมายได้ เพราะชาวสวนยางรอมา 4 ปี เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เพราะราคายางที่เพิ่มสูงขึ้น คือ คำตอบสุดท้ายที่จะกระจายรายได้ไปสู่ชาวสวนยางทุกกลุ่ม รวมทั้งเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์กว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ" นายสุนทร กล่าว


S__12288199

เช่นเดียวกับ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) และในฐานะกรรมการในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่กล่าวว่า ถ้ารัฐเอาจริงก็จะทำให้วงการยางสะเทือน ยางจะขาดตลาด แต่ไม่มั่นใจกับบางหมู่บ้านที่ยังไม่กล้าทำ กลัวผิด ดังนั้น สยยท. เสนอให้ใช้ ม.44 ซึ่งทางรัฐมนตรีเกษตรฯ  รับปากว่า ที่ประชุม กนย. ที่ผ่านมา จะไปหารือกับนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าหากทำราคายางพาราขึ้นแน่ ดังนั้น จึงเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศ ม.44 เพื่อปากท้องชาวสวนยางจะช่วยปลดล็อกระเบียบต่าง ๆ ที่ทำให้การใช้ยางในประเทศที่ผ่านมามีอุปสรรค ไม่สำเร็จตามเป้าหมาย


บาร์ไลน์ฐาน