PTTEP ลุ้นรวบ! "บงกช-เอราวัณ"

28 พ.ย. 2561 | 07:10 น.
'กุลิศ' เคาะประมูลปิโตรเลียม 29 พ.ย. นี้ ลือสะพัดผู้ประกอบการกลุ่มเดียวกันกินรวบทั้ง 2 แหล่ง คือ เอราวัณและบงกช หวั่นมีปัญหาทางเทคนิคในการเข้าพื้นที่ ผลิตก๊าซไม่ต่อเนื่อง ทำกำลังการผลิตก๊าซหายช่วงรอยต่อ

โค้งสุดท้ายของการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมของแหล่งเอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ได้ดำเนินการเปิดซองพิจารณาข้อเสนอทั้ง 4 ซอง ของผู้ร่วมเข้าประมูลทั้ง 4 รายแล้วเสร็จแล้ว ประกอบด้วย แปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) ร่วมกับบริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือมูบาดาลา และบริษัท เชฟรอนไทยแลนด์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์ โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด

ขณะที่ แปลง G2/61 (แหล่งบงกช) ได้แก่ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และบริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด ซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการปิโตรเลียม ที่มี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานโดยตำแหน่ง พิจารณาในวันที่ 29 พ.ย. นี้ ซึ่งล่าสุด มีกระแสข่าวออกมาว่าจะมีผู้ประกอบการกลุ่มเดียวกันที่จะเป็นผู้ชนะการประมูลในทั้ง 2 แหล่ง

แหล่งข่าวจากวงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" จากการติดตามการพิจารณของคณะอนุกรรมการฯ ในเบื้องต้น ทราบว่า ผลการประมูลแหล่งปิโตรเลียมหมดอายุทั้ง 2 แหล่ง จะเป็นผู้ประกอบการรายเดียวได้ไปทั้งหมด แต่จะไม่ขอเปิดเผยในรายละเอียดว่าเป็นทางกลุ่มเชฟรอน ผู้รับสัมปทานในแหล่งเอราวัณ หรือ กลุ่ม ปตท.สผ. ผู้ดำเนินการในแหล่งบงกช ชนะการประมูลในครั้งนี้ แต่เท่าที่ทราบก่อนหน้านี้ ทางกลุ่ม ปตท.สผ. หวังที่จะชนะการประมูลในแหล่งเอราวัณ

โดยเห็นได้จากกรณีที่ บริษัท โททาล อี แอนด์พี ไทยแลนด์ จำกัด ยักษ์ใหญ่จากฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพันธมิตรกับ ปตท.สผ. ถือหุ้นในแหล่งบงกช 33.3% ไม่ขอเข้าร่วมกับ ปตท.สผ. ในแหล่งเอราวัณ ทั้งที่ได้ซื้อซองประมูล เนื่องจากไม่สามารถยอมรับข้อเสนอของ ปตท.สผ. ที่จะเสนอขายก๊าซธรรมชาติในราคาที่ต่ำมาก ๆ ได้ จากราคาที่มีการกำหนดไม่เกิน 214 บาทต่อล้านบีทียู โดยเห็นว่า มีความเสี่ยงที่ไม่คุ้มต่อการลงทุน จึงได้ถอนตัวการประมูลไปในที่สุด ปตท.สผ. จึงได้เจรจากับทางกลุ่มมูบาดาลา ที่ต้องการมีฐานการผลิตปิโตรเลียมในไทยมากขึ้นและมีเงินหนา เข้ามาร่วมประมูลในแหล่งเอราวัณแทน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ากลุ่มเชฟรอน หรือ ปตท.สผ. จะเป็นผู้ชนะเพียงรายเดียวจากการประมูลทั้ง 2 แหล่ง ก็มีความเป็นห่วงว่าจะเกิดกับปัญหาการผลิตก๊าซธรรมชาติในช่วงรอยต่อหรือช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างแน่นอน เนื่องจากจะเกิดความยุ่งยากในเชิงปฏิบัติ ที่ผู้ประกอบการรายเดิมยังมีภาระผูกพันที่จะต้องผลิตก๊าซให้ได้ตามสัญญาเดิม ขณะที่ ผู้ประกอบการรายใหม่จะต้องเข้ามาเตรียมตัวรับหน้าที่ตามสัญญาใหม่ ทำให้เกิดความซับซ้อนด้านหน้าที่และความรับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้กระทบแผนการลงทุนและการปฏิบัติการ

โดยผู้ประกอบการรายเดิมจะลดการลงทุนลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คงเหลือการลงทุนเท่าที่จำเป็น เพื่อให้สามารถผลิตปิโตรเลียมได้ตามสัญญาส่งมอบกับลูกค้าเท่านั้น รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและรักษาสภาพแท่นผลิต อุปกรณ์การผลิต อุปกรณ์ควบคุมการผลิตทั้งแบบอัตโนมัติ จนถึงแบบควบคุมด้วยมือ การอัพเดตซอฟต์แวร์ต่าง ๆ รวมกถึงการจ่ายค่าลิขสิทธิ์การใช้ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ซึ่งแต่ละปีมูลค่าการลงทุนมีสูงถึงแสนล้านบาทต่อปี

อีกทั้งตามปกติจะมีการเจาะหลุมประมาณ 500 หลุมต่อปี เมื่อรายใหม่เข้ามาอาจจะเหลือเพียงประมาณไม่เกิน 100 หลุมต่อปี หรืออาจจะน้อยกว่านั้น ปริมาณหลุมเจาะที่ลดลงย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณการผลิตปิโตรเลียมที่จะผลิตได้จากอ่าวไทยอย่างแน่นอน ซึ่งจะต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีที่มีราคาแพงมาทดแทนปริมาณก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่ขาดหายไป รวมถึงการจ้างงานย่อมลดลง ทั้งงานที่ต้องใช้การจ้างงานผู้รับเหมาช่วงช่างฝีมือ รวมถึงการลดการจ้างงานพนักงานใหม่และลดจำนวนพนักงานเดิมลง ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้าง เกิดการว่างงานในหลายระดับแรงงาน นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาใหม่ ๆ จะหมดโอกาสในการได้รับการจ้างงาน

นอกจากนี้ การลดการลงทุนจะทำให้ประมาณการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยลดลง และจะกระทบต่อวัตถุดิบสำหรับปิโตรเลียมเคมีย่อมลดลงตาม รายได้จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีย่อมลดลง หากไม่สามารถหาวัตถุดิบทดแทนได้ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง

ที่สำคัญสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมที่ยังไม่หมดอายุและภาครัฐขอรับโอนจากผู้รับเหมาสัมปทานรายเดิม จะเกิดปัญหาด้านการประเมินมูลค่าของค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตนั้น ๆ หากตกลงกันไม่ได้ ผู้รับสัมปทานรายเดิม ซึ่งมีหน้าที่ต้องรื้อถอนตามข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม จำเป็นต้องรื้อถอน จะกระทบกับความต่อเนื่องในการผลิตปิโตรเลียมของผู้ได้รับสัญญารายใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,422 วันที่ 29 พ.ย. - 1 ธ.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โบรกเกอร์แนะเก็บPTTEP
PTTEP งัด 'เชฟรอน' กินรวบแหล่งก๊าซ!!

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว