เปิดแผนธุรกิจกระเบื้องโอฬาร เพิ่มสัดส่วนส่งออก-ขยายตลาดใหม่ ดันเป้ายอดขาย 2 พันล้านบาทปีนี้

07 มี.ค. 2559 | 07:00 น.
ช่วงที่ผ่านมาหลายธุรกิจตกอยู่ในภาวะติดหล่มการเมืองและติดหล่มเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจภายในประเทศที่ซบเซาต่อเนื่องข้ามปี ทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจไปได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือทำได้ดีสุดก็แค่ประคองตัว เช่นเดียวกับธุรกิจกระเบื้องมุงหลังคาของคนในตระกูล "เกรียวสกุล" ผู้สร้างตำนาน "กระเบื้องตราลูกโลก" อุฬาร เกรียวสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท กระเบื้องโอฬาร จำกัด เจนเนอเรชั่นที่ 2 เปิดสำนักงานใหญ่ย่านรามคำแหง ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแผนธุรกิจกระเบื้องและวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ของกลุ่ม ที่จะเพิ่มยอดส่งออกและขยายตลาดใหม่ พร้อมดันเป้ายอดขายให้กลับไปเติบโตที่ 2 พันล้านบาทอีกครั้ง

 เปิดแผนรุกธุรกิจกระเบื้องโอฬาร

อุฬาร กล่าวว่า ครอบครัวดำเนินกิจการผลิตและจำหน่ายกระเบื้องมุงหลังคามาแล้วถึง 48 ปี (ก่อตั้งปี2511) รายได้หลักยังอยู่ในกลุ่มเดิมคือธุรกิจกระเบื้องโอฬาร ซึ่งมี 2 ประเภทคือ กระเบื้องมุงหลังคาไฟเบอร์ ซีเมนต์ ภายใต้ชื่อสินค้ากระเบื้องโอฬาร "ตราลูกโลก" และกระเบื้องคอนกรีต ภายใต้ชื่อสินค้า "สแกนเดีย" ส่วนผลิตภัณฑ์ตัวอื่นก็จะมี ไม้ฝา ภายใต้ชื่อสินค้า "ไม้ฝาโอฬาร" และการผลิตบอร์ดไฟเบอร์ สำหรับทำผนังฝาฝ้า ภายใต้ชื่อสินค้า "อีซี่บอร์ด "รวมถึงวัสดุก่อสร้างอื่นๆอีกหลายรายการที่ยังไม่หลุดกรอบวัสดุก่อสร้างที่ครอบครัวถนัด

โดยนับจากปี 2559 เป็นต้นไปบริษัทมีความตั้งใจเดินแผนธุรกิจเชิงรุกมากขึ้น เพราะเป็นอีกปีที่ท้าทายทั้งเรื่องการแข่งขันภายในประเทศ การผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพดีขึ้นและเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภค การให้บริการที่ประทับใจ รวดเร็ว รวมถึงการขยายตลาดใหม่ๆ เข้ามา

ดังนั้นในปี 2559 จึงมีการพัฒนาธุรกิจแบบอีคอมเมิร์ซมากขึ้น โดยเพิ่มช่องทางขาย สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างผ่านระบบออนไลน์ โดยให้บริการเชื่อมโยงกับ 3 ช่องทางหลักที่ทำอยู่แล้วคือ 1.ร้านค้าปลีกที่มีตัวแทนแต่ละภาคดูแล 2.ตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ 400 ราย 3.ร้านค้าวัสดุก่อสร้างในโมเดิร์นเทรด ของโกลบอลเฮ้าส์ ที่มีสาขากระจายอยู่ 38 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนนี้สินค้าส่วนใหญ่บริษัทจะจับมือกับโกลบอลเฮ้าส์เป็นหลัก

"เราจะให้บริการเหมือนสั่งพิชช่ไา ต้องการกระเบื้องกี่แผน สีอะไร โดยจะคำนวณค่าเปลี่ยนหลังคา ค่าแรงให้เสร็จสรรพ สั่งสินค้าพร้อมจ่ายเงิน ที่ทุกอย่างจะจบที่หน้าคอมพิวเตอร์ จะเป็นอีกช่องทางที่เข้ามาเสริมและเข้ามาช่วย 3 ช่องทางจำหน่ายที่มีอยู่แล้วตามที่กล่าวมา"

อย่างไรก็ตามหากการสั่งซื้อผ่านออนไลน์สำเร็จ ก็จะต่อยอดไปถึงการขายผ่านออนไลน์กับลูกค้าในประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย เพราะเรามีตัวแทนจำหน่ายอยู่แล้วที่สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา และบรูไน ซึ่งทั้ง 4 แห่ง ตลาดให้การตอบรับดี โดยที่สปป.ลาวจะนิยมใช้กระเบื้องไฟเบอร์ซีเมนต์ และบอร์ดไฟเบอร์ สำหรับทำผนังฝาฝ้า ส่วนที่เมียนมา จะนิยมบอร์ดไฟเบอร์ และในอนาคตจะส่งออกกระเบื้องไฟเบอร์ซีเมนต์ไปยังเมียนมาด้วยเพื่อไปทดแทนหลังคาสังกะสี

 ขยายตลาดส่งออกเพิ่ม

นอกจากนี้บริษัทจะปรับสัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 30% โดยขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่อย่างประเทศเกาหลี และบังคลาเทศเพิ่มขึ้น โดยเริ่มต้นที่การส่งออกบอร์ดไฟเบอร์และไม้ฝาก่อน โดยเฉพาะเกาหลีในอดีตเคยเป็นตลาดเก่ากันมาก่อน แล้วหยุดไป 2-3 ปี เพราะมีกำลังผลิตรองรับไม่เพียงพอ ขณะนี้มีความพร้อมมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้นแล้ว ก็จะทำให้การส่งออกเพิ่มจาก 4 ประเทศ (สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา และบรูไน) เป็น 6 ประเทศ ทำให้ภายในปีนี้มีสัดส่วนส่งออกรวมทั้งสิ้น 30% และขายในประเทศ 70%

"จากที่ตลาดส่งออกเริ่มตอบรับดี ทำให้ล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตกระเบื้องมุงหลังคาในประเทศเพื่อนบ้านควบคู่ไปด้วย ซึ่งในส่วนนี้ต้องดูความพร้อมและศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน"

 ดันเป้ายอดขาย2พันล.บาท

กรรมการผู้จัดการบริษัท กระเบื้องโอฬาร จำกัด กล่าวอีกว่า จากที่ขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์และการขยายตลาดส่งออกไปประเทศใหม่ๆ เพิ่มขึ้น จะทำให้รายได้ของบริษัทกลับมาดีขึ้น จากที่ปี 2558 มีรายได้รวมราว 1.6 พันล้านบาท ก็จะเพิ่มเป็น 2 พันล้านบาท โดยสัดส่วน 70% มาจากกลุ่มกระเบื้องมุงหลังคาไฟเบอร์ ซีเมนต์ที่เหลือ 30% มาจากกลุ่มกระเบื้องคอนกรีต ไม้ฝา บอร์ดไฟเบอร์ และอื่นๆ โดยจะรักษาระดับนี้ไว้ให้ได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้บริษัทเคยมีรายได้สูงสุดถึง 2.2 พันล้านบาท ในช่วงที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงด้านการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจซบเซา แต่รายได้ลดลงเพราะมีความไม่สงบทางการเมือง บวกกับเศรษฐกิจภายในภายนอกไม่ดี อีกทั้งการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ดูได้จากที่มีหลังคาเหล็กเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งตลาดด้วย และมีราคาถูกกว่า ส่วนหนึ่งมีการนำเข้าจากจีน โดยที่ผู้บริโภคไม่มีความรู้ว่าหลังคาเหล็กนั้นมีคุณภาพดีแค่ไหน เพราะมีหลายเกรด หากเห็นว่าราคาถูกซื้อไปใช้ โดยไม่ดูเรื่องคุณภาพให้ดี อาจไม่ปลอดภัยได้

  5โรงงานรองรับได้เต็มสูบ

อุฬาร แจกแจงถึงผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทว่ามีการผลิตจากโรงงาน 5 แห่ง 14 สายการผลิตที่กระจายอยู่ใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ฉะเชิงเทรา และนครราชสีมา โดยมีพนักงานรวมราว 1.4 พันคน

ปัจจุบันมีขีดความสามารถในการผลิตกระเบื้องมุงหลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์ จำนวน 2 แสนแผ่นต่อวัน โดยมีไลน์ผลิตอยู่ที่บางพลี นครราชสีมา ราชบุรี บางปะอิน และบางปะกง กลุ่มบอร์ดไฟเบอร์ในชื่อสินค้า "อีซี่ บอร์ด" สำหรับทำผนังฝาฝ้าจะผลิตได้ราว 400 ตันต่อวัน ที่โรงงานบางปะอินและราชบุรี ส่วนไม้ฝามีกำลังผลิต 300 ตันต่อวันที่โรงงานราชบุรี รวมถึงกระเบื้องคอนกรีต ภายใต้สินค้า"สแกนเดีย" จะผลิตที่โรงงานบางปะกง นครราชสีมา และที่ราชบุรี มีขีดความสามารถในการผลิตได้ถึง 3 หมื่นแผ่นต่อวัน

"กระเบื้องมุงหลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์ซึ่งเป็นสินค้าชูโรงที่ทำรายได้หลักให้กับบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดด้วยสัดส่วน 40% โดยสินค้าทุกตัวที่ผลิตได้ พบว่ามาจากช่องทางที่ขายผ่านตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ เป็นช่องทางที่ขายดีที่สุด เพราะคลุมพื้นที่ในต่างจังหวัดอย่างทั่วถึง ให้บริการสะดวก มีกลุ่มเป้าหมายจากช่าง กลุ่มผู้รับเหมา และเจ้าของบ้านลงมาเลือกซื้อเองบริษัท

บริษัท กระเบื้องโอฬาร จำกัดในวันนี้มีบริษัทในเครือเกือบ 10 บริษัท มีสถานะเป็นทั้งผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างชนิดต่างๆ, ผู้นำเข้าวัตถุดิบ, ผู้ส่งออก, บริษัทจัดจำหน่าย, บริษัทผู้ผลิตสีพ่นหลังคาและผู้ซื้อวัตถุดิบ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,137 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559