'อนันต์' สอนน้องแปดริ้ว รับมือ "ดอกเบี้ย-เลือกตั้ง"

03 ธ.ค. 2561 | 06:59 น.
พี่เบิ้ม "อนันต์ อัศวโภคิน" ฝากข้อคิดดีเวลอปเปอร์รุ่นใหม่ ต้องคุมต้นทุน พร้อมหาทางรับมือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง ด้าน นายกอสังหาฯ ระบุ ปั้นแปดริ้วเป็นเมืองที่อยู่อาศัยแห่งอนาคต

นายอนันต์ อัศวโภคิน ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ฝากข้อคิดให้ดีเวลอปเปอร์รุ่นใหม่ เข้าใจถึงการบริหารจัดการและการควบคุมการก่อสร้าง ว่า จุดเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์ต้องเรียนรู้ด้านบัญชีงบดุลให้ลึกซึ้ง เพราะนี่คือ ต้นทุนที่แท้จริง ทั้งนี้ ที่ดินไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดของการพัฒนาโครงการ แต่ที่สำคัญ คือ การวางงานอย่างเป็นระบบ เช่น วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า การเลือกผู้รับเหมาล่วงหน้า รวมถึงการวางแผนจัดซื้อล่วงหน้า เป็นต้น

ยกตัวอย่าง "คิวเฮ้าส์" จะเน้นก่อสร้างบ้านเสร็จก่อนขาย เริ่มมาตั้งแต่ปี 2540 หลังพ้นภาวะนํ้าท่วมมาตั้งแต่ปี 2538 การสร้างบ้านก่อนขายจะควบคุมคุณภาพการก่อสร้าง แต่ยังมองว่า ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าแต่อย่างใด


ข่าว2

นายอนันต์ กล่าวต่อว่า กรณีลูกค้ากู้ไม่ผ่านจะสร้างปัญหา โดยประสบการณ์ของบริษัทมักรอให้แบงก์ช่วยสกรีนและอนุมัติก่อน ทำให้ปัจจุบันสามารถมอบบ้านให้ลูกค้ามากกว่า 4,000 หลังต่อปี อีกปัจจัย คือ ดอกเบี้ยที่จะหมุนเวียนมากระทบ ดังนั้น จึงไม่ควรชะล่าใจ รวมถึงมาตรการแบงก์ชาติและการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปีหน้า

ด้าน นายวัชระ ปิ่นเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วัชราดล จำกัด ในฐานะนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จ. ฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า สมาคมเร่งผลักดันฉะเชิงเทราเป็นเมืองที่อยู่อาศัยแห่งอนาคตในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี  ปัจจุบัน มีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำเริ่มทยอยเข้ามาลงทุนในพื้นที่มากขึ้น

ส่งผลให้ราคาที่ดินในตัวเมืองฉะเชิงเทราปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินที่เกาะอยู่ตามถนนหลัก ฉะเชิงเทรา บางปะกง ราคาอยู่ที่ 4-6 ล้านบาทต่อไร่ แต่ปัจจุบัน ราคาอยู่ที่ 12-25ล้านบาทต่อไร่ ส่วนราคาที่ดินในตัวเมืองฉะเชิงเทราได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ล่าสุด ในเดือน พ.ย. นี้ ราคาที่ดินขยับขึ้นมาอยู่ที่ 30,000 บาทต่อตารางวา (ตร.ว.)

ด้านการพัฒนาเมืองนั้น ยังมองว่าเป็นโอกาสที่ฉะเชิงเทราจะปรับพื้นที่แต่ละโซนไปดำเนินการได้ ทั้งโซนเมืองเก่าและเมืองใหม่ โซนไปทางสุวินทวงศ์ที่จะเชื่อมไปกับแนวโน้มการเติบโตของรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีส้ม ตลอดจนแนวเชื่อมกับมอเตอร์เวย์ล้วนมีแนวโน้มต่อการพัฒนาเมืองได้ทั้งสิ้น

หน้า 29-30 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,423 วันที่ 2-5 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว