"ความต่าง" เทคโนโลยีมือถือจาก 1G สู่ 5G

02 ธ.ค. 2561 | 04:21 น.
ถึงตอนนี้เริ่มได้ยินและคุ้นกับคำว่า 5G กันบ้างแล้ว ว่ากันว่า ในหลายประเทศจะเริ่มเปิดให้บริการในปี 2563 เช่นเดียวกับประเทศไทย เพียงแต่รอสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU กำหนดมาตรฐานคลื่นความถี่

ลองมาดูกันว่า จาก 1G สู่ 5G ต่างกันอย่างไร สำหรับระบบ 1G คือ โทรศัพท์รุ่นแรก ซึ่งเป็นระบบอนาล็อกที่ส่งได้แค่เสียง (voice) เพียงอย่างเดียว

ส่วน 2G ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โทรศัพท์มือถือเป็นได้มากกว่าการโทร. เพราะสามารถส่งข้อความแบบสั้น (SMS) และข้อความรูปภาพ (MMS) ได้


MP20-3423-A

สำหรับ 3G ถือว่าเป็นยุคเริ่มต้นของโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟน เพราะเป็นเทคโนโลยีอีกขั้นหนึ่ง กล่าวคือ สามารถเชื่อมต่อเมื่อมีความเร็วในการรับส่งข้อมูลได้เร็วขึ้น ทำให้สามารถใช้โทรศัพท์มือถือ Video call และเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านมือถือได้

ส่วน 4G เป็นเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่ง 4G สามารถสนับสนุนการเข้าถึงเว็บบนมือถือเช่นเดียวกับ 3G แต่ด้วยการรับส่งข้อมูลที่รวดเร็วกว่า ทำให้สามารถเล่นเกมดูหนังแบบ HD รวมไปถึงการใช้แอพพลิเคชันอื่น ๆ ที่ต้องการความเร็วสูง

สำหรับ 5G เป็นเทคโนโลยีขั้นแอดวานซ์กว่า เพราะ 5G เป็นเทคโนโลยีระบบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่จะทำให้การสื่อสารแบบเคลื่อนที่เร็วขึ้นและปลอดภัยมากขึ้น สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้จำนวนเยอะมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งขณะนี้มี 5 ประเทศ คือ ยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม กำลังพัฒนาสัญญาณเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เพราะ 5G เป็นเครือข่ายที่ถูกพัฒนา ใช้คลื่นความถี่ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดถึง 20 กิกะบิตต่อวินาที MIMO ประสิทธิภาพสูงซึ่งเร็วกว่า 4G ถึง 10 เท่า

สำหรับ 5G ในประทศไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้ มติที่ประชุมบอร์ด กสทช. เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง "หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ นำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า" ซึ่งเบื้องต้น คลื่นที่เรียกคืน คือ ย่านความถี่ 2600 MHz, 3400-3500 MHz และ 26-28 GHz


5G ทำอะไรได้บ้าง
นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ ของ 'เอไอเอส' กล่าวว่า 5G โดดเด่นต่างจาก 4G อยู่ทั้งหมด 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1.ยกระดับความเร็วการใช้ดาต้า (Enhanced Mobile Broadband-EMBB) เน้น "ความเร็ว" (Speed), 2.ขยายขีดความสามารถการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่ออุปกรณ์ (Massive Machine Type Communications - MMTC) เน้นสนับสนุน IoT ที่จะถูกนำมาใช้อย่างมหาศาล

 

[caption id="attachment_355267" align="aligncenter" width="331"] วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ วสิษฐ์ วัฒนศัพท์[/caption]

สุดท้าย คือ เพิ่มคุณภาพเครือข่ายให้สามารถตอบสนองได้รวดเร็วและเสถียรที่สุด (Ultra-Reliable and Low Latency Communications) เน้นประสิทธิภาพความเร็วในการตอบสนอง หรือ Low Latency ที่จะตอบโจทย์รูปแบบการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางการแพทย์ หรือ อุตสาหกรรมยานยนต์อย่าง Self Driving Car อย่างมีประสิทธิภาพ

รายงาน | หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,423 ระหว่างวันที่ 2-5 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว