Innovation ต่อลมหายใจของธุรกิจครอบครัว

01 ธ.ค. 2561 | 14:13 น.
การสร้างเครือข่ายความร่วมมือไม่ใช่แนวคิดใหม่ในวงการธุรกิจ ขณะที่ธุรกิจครอบครัวเองก็มักสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับบุคคลภายนอก เช่น ลูกค้า ซัพพลายเออร์และพันธมิตรผ่านการทำงาน ซึ่งความสัมพันธ์แบบไว้วางใจกันและวัฒนธรรมครอบครัวที่แข็งแกร่งเหล่านี้เป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันสำหรับธุรกิจครอบครัวมากมายเลยทีเดียว ความร่วมมือทางธุรกิจมีบทบาทสำคัญในวงกว้างและทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแข่งขันของอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตามจำนวนผู้เกี่ยวข้องและลักษณะความสัมพันธ์อาจแตกต่างกัน โดยระยะห่างของความสัมพันธ์ในการทำธุรกิจสมัยใหม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ซึ่งบางครั้งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย หากผลประโยชน์และวัตถุประสงค์มีการเปลี่ยนแปลง เช่น Nokia และ Siemens ที่เปลี่ยนจากคู่แข่งมาเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกัน หรือแสนสิริร่วมทุนกับบีทีเอส พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้า เป็นต้น รูปแบบเหล่านี้อาจตรงข้ามกับความมั่นคงในระยะยาวและลักษณะความสัมพันธ์แบบร่วมมือกันของธุรกิจครอบครัวที่อาจใช้เวลานานหลายชั่วอายุคน

b-b-3423 ดังนั้นธุรกิจครอบครัวก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเหล่านี้ ผู้นำธุรกิจครอบครัวควรตระหนักว่าพวกเขาอาจไม่สามารถจัดการกับผู้อื่นโดยอาศัยความไว้วางใจและความสัมพันธ์ระยะยาวได้อย่างที่เคยทำในอดีต นอกจากนี้การพึ่งพาซึ่งกันและกันมากอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงและเปลี่ยนแปลงช้า ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อความเป็นอิสระและอำนาจการควบคุมที่ธุรกิจครอบครัวมักต้องการมาตลอด

ทั้งนี้เมื่อศึกษารูปแบบความร่วมมือของกลุ่มธุรกิจครอบครัวที่ The Deloitte Family Business Center ได้สำรวจผู้นำคนปัจจุบันและผู้นำในอนาคตของธุรกิจครอบครัวทั่วโลก 575 ราย ในปีค.ศ. 2018 พบว่าการเข้าซื้อกิจการ (Acquisition) เป็นรูปแบบการรวมธุรกิจที่พบมากที่สุด คือ 46% เพื่อให้ธุรกิจมีการเติบโตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ 33% ใช้วิธีการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Alliance ) และ 25% ใช้วิธีกิจการร่วมค้า (Joint Venture) และเมื่อถามถึงความตั้งใจในการรวมธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้าคำตอบก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจากผลการสำรวจชี้ว่าการเข้าซื้อกิจการ (Acquisition) มีแนวโน้มที่จะยังคงเป็นวิธีการหลักในการรวมธุรกิจระหว่างธุรกิจครอบครัว รองลงมาได้แก่ พันธมิตรทางธุรกิจและกิจการร่วมค้า โดยเหตุผลในการรวมธุรกิจส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเติบโตหรือประสิทธิภาพด้านขนาดของธุรกิจ

มีสิ่งที่น่าสนใจว่า 30% ของธุรกิจครอบครัวที่สำรวจต้องการ “การเข้าถึงนวัตกรรม” ซึ่งเป็นไปได้ว่าธุรกิจครอบครัวจำนวนมากรู้สึกถึงความจำเป็นในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ของครอบครัว ปัจจุบันการซื้อบริษัทอื่นเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆวิธีของการเข้าถึงนวัตกรรมเท่านั้น อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในแต่รูปแบบจะเห็นว่าการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจและกิจการร่วมค้ามีการร่วมมือและการเจรจาต่อรองมากกว่า อีกทั้งมีความเสี่ยงน้อยกว่าการเข้าซื้อกิจการซึ่งมีแนวโน้มที่จะเผชิญหน้ากันมาก มีต้นทุนสูงและเสี่ยงต่อความล้มเหลวในการบริหารมากกว่า อย่างไรก็ตามในอนาคตธุรกิจครอบครัวอาจต้องหาแนวทางอื่นๆ ในการสร้างนวัตกรรมให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับธุรกิจของตนเองต่อไป

ที่มา : Deloitte. 2018. Deloitte Survey on Next-Generation Family Businesses: Adapting To an Ecosystem-Driven World. Available:https://www2.deloitte.com/lu/en/pages/strategy/articles/next-generation-family-business-exploring-business-ecosystems.html

คอลัมน์ | หน้า 35 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,423 ระหว่างวันที่ 2-5 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว