เชนร้านอาหารทรุดยาว! ปัจจัยลบรุมเร้าฉุดตลาด รวม 2.4 แสนล้านวูบ

05 ธ.ค. 2561 | 09:00 น.
ปัจจัยลบอื้อ! กำลังซื้อทรุด ทัวร์จีนหาย กระทบธุรกิจร้านอาหาร 2.4 แสนล้านบาท วูบยาวถึงกลางปีหน้า หลังไตรมาส 3-4 ยอดขายยังคงลดต่อเนื่อง 10-20% ขณะที่ อานิสงส์ไปตกที่ "สตรีต ฟูด-ดีลิเวอรี" หลังผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดใช้เงิน หันหาของกินราคาถูก

นายสุภัค หมื่นนิกร ผู้ก่อตั้งสถาบันธุรกิจแฟรนไชส์อาหารและผู้เชี่ยวชาญธุรกิจร้านอาหารแฟรนไชส์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารเมืองไทย ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 2.4 แสนล้านบาท โดยเฉพาะเชนร้านอาหาร พบว่า ในครึ่งปีหลังยังลดลงต่อเนื่องราว 10-15% จากในครึ่งปีแรกที่หดตัวลง 20-30% ซึ่งการหดตัวดังกล่าวเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัวตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้บริโภคเข้าร้านอาหารและเดินห้างสรรพสินค้าน้อยลง ผนวกกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ยอดขายของร้านอาหารในย่านท่องเที่ยวลดลง

ขณะเดียวกัน แม้ธุรกิจเชนร้านอาหารและร้านอาหารขนาดใหญ่ส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัว แต่ทว่าในกลุ่มร้านอาหารริมถนน หรือ สตรีตฟูด หรือ ร้านอาหารที่มีราคาถูก กลับมีทิศทางการเติบโตที่สวนกระแสจากกลุ่มร้านขนาดใหญ่ เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมซื้ออาหารจากร้านค้าทั่วไปเข้าไปรับประทานในบ้านมากขึ้น นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของตลาดนัดและตลาดนัดกลางคืนต่าง ๆ ก็เข้ามากินส่วนแบ่งทางการตลาดของร้านอาหารไป

"ในยุคที่ผู้บริโภคโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เลือกรัดเข็มขัด แต่ขณะเดียวกันก็ยังอยากออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ตามไลฟ์สไตล์และรูปแบบเฉพาะตัวอยู่ ดังนั้น การเข้ามาของตลาดนัดที่มีจุดเด่นที่มีของกินที่หลากหลาย ราคาถูก จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี"


"ดีลิเวอรี" ดันยอดโค้งท้าย
ทั้งนี้ แม้เชนร้านอาหารทั่วไปจะยังไม่มีการเติบโตในปีนี้ แต่การบริการในรูปแบบดีลิเวอรี (Delivery) ภายในร้านกลับมาการเติบโตสูงถึง 20-30% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเข้ามาของบริการดีลิเวอรีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ไลน์แมน, แกร็บ ฯลฯ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างเร่งปรับทัพดีลิเวอรีเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าให้มากที่สุดในการสร้างยอดขาย ขณะเดียวกัน ยังโหมโปรโมชันในช่วง 2 เดือนสุดท้าย เพื่อกระตุ้นยอดขายให้มากที่สุด ขณะที่ การแข่งขันของธุรกิจร้านอาหาร นับจากนี้มองว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนอย่างในอดีตที่ผ่านมา การมีแค่รสชาติที่ดีไม่สามารถสอดรับกับความต้องการของกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ครบถ้วน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีจุดเด่น การตกแต่ง ดีไซน์ที่สวยงาม ออกมาตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่นิยมไลฟ์สไตล์การถ่ายรูป

"แม้ผู้ประกอบการหลายแบรนด์ดังจะหันมาปรับกลยุทธ์กระตุ้นยอดขายในช่วง 2 เดือนสุดท้ายมากขึ้น แต่โดยส่วนตัวมองว่าเป็นเพียงการป้องกันไม่ให้ยอดขายลดลงไปมากกว่านี้ ซึ่งแน่นอนว่า ธุรกิจร้านอาหารในเมืองไทยปัจจุบันมีความท้าทายมากกว่าในอดีต เนื่องจากจำนวนผู้ประกอบการที่เพิ่มมากขึ้น สภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการจับจ่ายใช้สอย หรือ รับประทานอาหารนอกบ้านมากนัก นั่นเป็นประเด็นหลักที่ทำให้คนทานอาหารนอกบ้านน้อยลง"


MP36-3423-1

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าภาพรวมการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้าจะยังคงไม่หวือหวามากนัก ยังคงต้องรอดูสถานการณ์หลังเลือกตั้งว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งหากผลการเลือกตั้งออกมาเรียบร้อยดี ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยและกำลังซื้อทั้งระบบ


แบรนด์ดังปรับทัพเสริมแกร่ง
นายกิตติชาญ คงแป้น ผู้จัดการทั่วไป ธุรกิจร้านอาหาร เดอะพิซซ่า คอมปะนี ในเครือไมเนอร์ กล่าวว่า แม้ปัจจุบันภาพรวมธุรกิจร้านอาหารเมืองไทยจะยังคงมีการแข่งขันที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง แต่ว่าบริษัทยังมองเห็นช่องว่างทางการเติบโต โดยเฉพาะในตลาดระดับอำเภอรองลงไป รวมทั้งตลาดต่างจังหวัด ซึ่งมองว่า ตลาดพิซซ่ายังไม่อิ่มตัว ยังเติบโตได้อีก ดังนั้น บริษัทจึงวางยุทธศาสตร์ระยะยาวภายใน 5 ปี (ปี 2562-2566) นับจากนี้ด้วยการขยายการเติบโตของธุรกิจเดอะพิซซ่าเพิ่มเป็นเท่าตัว ทั้งในแง่รายได้และจำนวนสาขา จากปัจจุบันเดอะพิซซ่ามีรายได้ 7,000 ล้านบาท และจำนวนสาขาจากปัจจุบันมี 400 สาขา เพิ่มเป็น 800 สาขา ในทุกรูปแบบ หรือ ลงทุนปีละประมาณ 600 ล้านบาท เฉลี่ยเปิดปีละ 50-60 สาขา

"ในปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ลงทุนมากที่สุดเลยก็ว่าได้ ทั้งการเปิดสาขาใหม่รวมกันมากกว่า 70 สาขา โดยเปิดในกรุงเทพฯและปริมณฑล 30% และ 70% เปิดในต่างจังหวัด แยกเป็น ร้านนั่งทาน 20 สาขา และร้านดีลิเวอรี หรือ เดลโก้ 50 สาขา จากที่ผ่านมาเฉลี่ยเปิดใหม่แค่ 20-30 สาขา"

ขณะที่ นางสาวนัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โคคา โฮลดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนลฯ เจ้าของแบรนด์โคคา สุกี้, China White, Mango Tree, Mango Tree Bristobar เป็นต้น กล่าวว่า บริษัทได้ทำการปรับภาพลักษณ์ของร้านโคคาสุกี้ใหม่ให้มีความทันสมัย เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 18-25 ปี หลังจากปัจจุบัน บริษัทสามารถสร้างฐานลูกค้าอายุ 40 ปีขึ้นไป จนประสบความสำเร็จ ผ่านคอนเซ็ปต์ร้านโคคาสุกี้ที่บริษัทจะนำมาใช้ เพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ คือ แบ็กทูเบสิก หรือ การกลับสู่วิถีเดิม ขณะเดียวกันยังมีการเพิ่มเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อเป็นทางเลือกของลูกค้า ซึ่งวัตถุดิบส่วนหนึ่งมาจากโคคาบูทิคฟาร์มของบริษัทเอง

"ในอดีตลูกค้าออกไปทานอาหารนอกบ้าน เพราะคิดถึงคุณภาพและความอร่อยของอาหาร แต่ปัจจุบัน แค่เพียงความอร่อยไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด ร้านแต่ละร้านจำเป็นต้องสวยงาม ความสะดวกสบายก็ต้องมี และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุ 18-25 ปี ในขณะที่กลุ่มลูกค้าหลักของเราอายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนกลุ่มอายุ 25-40 ปี เขาจะจำได้ว่าตอนเด็ก ๆ พ่อแม่เคยพามากิน"


หน้า 36 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,423 ระหว่างวันที่ 2-5 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว