"รถ-คอมพ์" พลิกบวก! ดันส่งออกเข้าเป้า 8%

30 พ.ย. 2561 | 05:09 น.
301161-1151

2 กลุ่มสินค้าใหญ่ "รถยนต์-คอมพิวเตอร์" ลุ้นพลิกบวก 2 เดือนสุดท้าย ช่วยดันส่งออกไทยทั้งปีโต 8% ตามเป้า วงการชี้เทรนด์น่าห่วงไทยขาดรถอีโคคาร์-PPV รุ่นใหม่ ๆ ป้อนคู่ค้า

จากมูลค่าการส่งออกในกลุ่มสินค้ารถยนต์และส่วนประกอบ ที่เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทย (สัดส่วน 11.4% ของการส่งออกภาพรวมปี 2560) ที่ติดลบ 2 เดือนติดต่อกัน ในเดือน ก.ย. และ ต.ค. 2561 โดยลดลง -7.4% และ -8.9% ตามลำดับ และสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าส่งออกอันดับ 2 (สัดส่วน 7.8% ในปี 2560) ที่ติดลบ 4.9% ในเดือน ต.ค. ในอีก 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ สินค้า 2 กลุ่ม ที่มีสัดส่วนรวมกัน 20% ของการส่งออกไทยจะมีทิศทางแนวโน้มเป็นอย่างไรนั้น

 

[caption id="attachment_355194" align="aligncenter" width="503"] สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)[/caption]

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้การส่งออกสินค้ารถยนต์ของไทยติดลบ 2 เดือนติดต่อกันข้างต้น มีสาเหตุสำคัญจากไทยส่งออกรถอเนกประสงค์ (PPV) ซึ่งเป็นรถที่มีมูลค่าสูงได้ลดลงในเดือน ต.ค. 2561 ที่ -12% ส่วนรถกระบะ -2.5% ขณะรถยนต์นั่งยังขยายตัวเป็นบวกที่ 16.9% นอกจากนี้ ยังเป็นผลพวงจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้การส่งออกรถยนต์ไปตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งมีรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมันปรับตัวลดลง รวมถึงการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ที่ยังติดลบในหลายประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ดี

"อย่างไรก็ดี ภาพรวมการส่งออกรถยนต์ของไทยช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปได้แล้ว 952,125 คัน เพิ่มขึ้น 1.2% ส่วนด้านมูลค่า (เฉพาะรถยนต์ไม่รวมชิ้นส่วนประกอบ) ส่งออกได้แล้ว 499,379 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.04% คาดใน 2 เดือนสุดท้ายปีนี้ การส่งออกรถยนต์ของไทยจะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากในเดือน ต.ค. ไทยผลิตรถอีโคคาร์ได้เพิ่มขึ้นและคาดจะส่งออกได้เพิ่ม และช่วยให้การส่งออกรถยนต์ในปีนี้บรรลุเป้าหมายที่ 1.1 ล้านคัน"


car-2027078__480

ขณะที่ แหล่งข่าวจากผู้ส่งออก ระบุสาเหตุที่ไทยส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบลดลง 8.9% ในเดือน ต.ค. ล่าสุด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากตลาดโลกหันไปให้ความนิยมรถอีโคคาร์และรถอเนกประสงค์ (PPV) รุ่นใหม่ ๆ ซึ่งไทยยังมีการส่งออกรถในรูปแบบดังกล่าวค่อนข้างน้อย ส่วนการส่งออกสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ที่ลดลงในเดือน ต.ค. มีส่วนสำคัญจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ไทยยังมีการปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศคู่ค้าค่อนข้างน้อย ส่วนในตลาดฮ่องกงและมาเลเซีย ที่ไทยส่งออกสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบได้ลดลง ผลจากฮ่องกงได้เร่งนำเข้าสินค้าในช่วงกลางปีจำนวนมาก ซึ่งมีการเติบโตกว่า 55% และการส่งออกไปมาเลเซียที่หดตัวสาเหตุจากในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีมูลค่าการส่งออกสูง


131605

ส่วนการติดลบในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (แผงวงจรไฟฟ้า -8.8% เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้ง และส่วนประกอบ -40.2%) ในเดือน ต.ค. เป็นผลกระทบจากสงครามการค้า โดยเริ่มได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้ เนื่องจากมาตรการเซฟการ์ดและการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ทำให้การส่งออกสินค้าไทยในกลุ่มดังกล่าวได้รับผลกระทบ เนื่องจากไทยอยู่ภายในห่วงโซ่อุปทานของจีนและสหรัฐฯ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ให้ความเห็นกรณีการส่งออกของไทยในช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ ส่งออกแล้วมูลค่า 211,488 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.2% ซึ่งในอีก 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ หากจะทำให้เป้าหมายการส่งออกของไทยขยายตัวได้ที่ 8% จะต้องส่งออกได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 22,029 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูง เรื่องนี้มองว่ามีความเป็นไปได้ โดย สรท. ได้คาดการณ์ส่งออกไทยปี 2561 จะขยายตัวได้ 8% เช่นกัน

 

[caption id="attachment_355204" align="aligncenter" width="503"] วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)[/caption]

"ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกในช่วงปลายปีที่เหลือ เช่น เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐฯ มีการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นผลดีกับการส่งออกของไทยในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ ตลาดญี่ปุ่นที่เป็นอีกหนึ่งคู่ค้าหลักในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 18% รวมถึงการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนก็ยังขยายตัวสูง"

นอกจากนี้ ทิศทางราคาทองคำ (ไม่รวมอัญมณีและเครื่องประดับ) การส่งออกขยายตัวในตลาดกัมพูชา สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ และเนื่องจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้า การอ่อนค่าของสกุลเงินในตลาดเอเชีย ทำให้นักลงทุนมีความต้องการสำรองทองคำเพิ่มขึ้น เพราะเป็นสินทรัพย์ที่ค่อนข้างปลอดภัยมากที่สุด ดังนั้น หากทิศทางของราคาทองคำและน้ำมันยังอยู่ในเกณฑ์ ณ ปัจจุบัน และหากสินค้ารถยนต์ในช่วง 2 เดือนที่เหลือปีนี้ ส่งออกไม่ติดลบ จะช่วยให้การส่งออกของไทยขยายตัวที่ 8% เป็นไปตามเป้าหมายแน่นอน


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,422 วันที่ 29 พ.ย. - 1 ธ.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ผู้ประกอบการเหมืองจี้ทบทวนการปรับเพิ่มค่าภาคหลวงแร่ส่งออก
"เสื้อผ้าจีน" ทะลักไทย 1.4 หมื่นล้าน! ส่งออกการ์เมนต์เวียดนามทิ้งห่างไทย 3 เท่าตัว


เพิ่มเพื่อน
บาร์ไลน์ฐาน