รับมือภัยแล้งอุ้มธุรกิจภูธร ลพบุรี/ระยองขยายท่อน้ำดิบ/ภูเก็ตซื้อเอกชน

08 มี.ค. 2559 | 07:00 น.
ประปา-ชลประทาน- เอกชนภูธรทั่วไทยรับมือวิกฤติภัยแล้งผวาฝนทิ้งช่วง พ.ค.-มิ.ย.59 เร่งตุนแหล่งน้ำ-ขยายท่อส่งน้ำอุ้มภาคธุรกิจบริการ อุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย ลพบุรีผันแม่น้ำเจ้าพระยาเติมคลองชัยนาท-ป่าสัก ขุดบ่อบาดาลไม่ให้ซ้ำรอย ปี58 ฟากระยองสำรองอ่างเก็บน้ำประแสร์ อุบลวางท่อเพิ่ม ส่วนภูเก็ตซื้อน้ำเอกชน กระบี่ขยายโรงกรอง และที่ตากขุดอ่างเก็บน้ำแห่งที่ 2 รับเขตศก.พิเศษ

[caption id="attachment_36042" align="aligncenter" width="700"] ตัวอย่างแผนรับมือภัยแล้งกปภ.-ชลประทานในภูมิภาค ตัวอย่างแผนรับมือภัยแล้งกปภ.-ชลประทานในภูมิภาค[/caption]

นายวินัย สุขสุมิตร ผู้จัดการ การประปาส่วนภูมิภาคลพบุรี (กปภ.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงการเตรียมความพร้อมรับมือภัยแล้งว่า จากช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา ระดับน้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภคสำคัญของคนลพบุรีได้แห้งขอดลง และยังส่งผลกระทบให้การสูบน้ำดิบจากคลองเพื่อผลิตเป็นน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคลพบุรี จ่ายให้กับประชาชนในอำเภอเมืองลพบุรีเป็นไปด้วยความลำบาก กระทั่งต้องหยุดจ่ายน้ำเป็นช่วงเวลาทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

อย่างไรก็ดีเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเหมือนปีที่ผ่านมาในปีนี้ กปภ.ลพบุรี ได้เตรียมความพร้อมด้วยการขุดคลองเป็นบ่อลึกและนำกระสอบทรายกั้น เป็นจุดลำเลียงน้ำดิบเข้าสู่โรงสูบน้ำดิบโคกกะเทียม แจกจ่ายน้ำหากเกิดปัญหาเพื่อไม่ให้ซ้ำรอย จากที่ผ่านมาน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดต่ำลงมาก ส่งผลให้น้ำไม่สามารถไหลเข้ามาในคลองชัยนาท-ป่าสักได้ จนกรมชลประทานต้องสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาในคลองดังกล่าว

ขณะเดียวกันยังมีข้อตกลงระหว่าง กปภ. กับกรมชลประทาน ให้สูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เข้ามาในคลองเพื่อผลิตน้ำประปาให้ครอบคลุมในบางบริเวณของ 3จังหวัดได้แก่ อำเภอบ้านหมี่ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี อำเภอบ้านหมอ อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดย กปภ.จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายค่ากระแสไฟฟ้าในการสูบน้ำให้ ซึ่งขณะนี้เครื่องสูบน้ำติดตั้งรอไว้แล้ว นอกจากนี้หากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก จนไม่สามารถสูบเข้าคลองชัยนาท-ป่าสักได้ ทางออก นายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการ กปภ. ได้อนุมัติงบประมาณ 75 ล้านบาท สำหรับวางท่อน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ในค่ายพหลโยธิน ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ซึ่งเดิมมีแหล่งน้ำอยู่ปริมาณ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อนำน้ำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคของคนลพบุรีตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งยังได้รับงบประมาณ 5 ล้านบาทในการขุดเจาะบ่อบาดาล และวางแผนขอใช้พื้นที่ที่เคยเป็นการประปาแห่งแรกของประเทศไทยในค่ายทหารพิบูลสงคราม มาเป็นแหล่งน้ำเสริมในช่วงภัยแล้งด้วย ซึ่งจากการเตรียมพร้อมดังกล่าว จึงมั่นใจว่าการจ่ายน้ำของการประปาส่วนภูมิภาคลพบุรีไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด แต่ถึงอย่างไรได้เดินหน้า รณรงค์ตามสโลแกน “น้ำดิบมีน้อย ใช้สอยอย่างประหยัด”

ขณะที่ นายชาญชัย จันทบาล ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี กล่าวว่าการจ่ายน้ำของ กปภ.บ้านหมี่ไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากระบบการสูบน้ำจะเป็นการสูบตรงลงในคลอง มีระบบการลำเลียงน้ำที่สะดวก ประกอบกับมีแหล่งน้ำใกล้เคียงที่สำคัญคือแม่น้ำบางขาม มีปริมาณน้ำอยู่จำนวนมาก พร้อมที่จะนำน้ำจากแม่น้ำดังกล่าวมาใช้ได้หากเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในคลองชัยนาท- ป่าสัก

ด้านนายพิสุทธิ์ รัตนวิลัย เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรีเผยว่า กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมในพื้นที่คงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรมผลิตเหล็ก กระเบื้องและวัสดุภัณฑ์ ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บริเวณพื้นที่อำเภอพัฒนานิคม และอำเภอชัยบาดาล ซึ่งเป็นพื้นที่ราบสูง กว่า 10 โรงงาน จะมีการเตรียมพร้อมรับมือกับเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว เพราะมีความจำเป็นต้องใช้น้ำมาเป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้า ดังนั้นน้ำดิบภายในพื้นที่โรงงานจึงมาจากบ่อน้ำบาดาล เป็นหลัก

สอดคล้องกับนายพิศักดิ์ ชลยุทธ์ ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การใช้น้ำอุปโภคบริโภคของประชาชน ธุรกิจบริการโรงแรมนับหมื่นห้องจะมีน้ำใช้อย่างต่อเนื่อง เพราะน้ำดิบมีเพียงพอ อาทิ อ่างเก็บน้ำบางวาด มีปริมาณน้ำ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ มีปริมาณน้ำ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเหลือ80% ขณะเดียวกันยังทำสัญญาซื้อน้ำเอกชนจากเหมืองเพื่อผลิตน้ำประปา ทุกปี ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 1 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน และในปี 2560 จะรับน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำคลองกระทะ ตำบลฉลอง ซึ่งกรมชลประทานอยู่ระหว่างก่อสร้างมีความจุน้ำ 4.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็จะมีกำลังการผลิตน้ำประปาเพิ่ม 1.5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวมทั้งยังมีแผนสร้างโรงกรองน้ำแห่งใหม่เพิ่ม ซึ่งจะจ่ายน้ำให้ครอบคลุมจังหวัดพังงา แต่ ได้ยกเลิกการจ่ายน้ำที่จังหวัดกระบี่ลง เนื่องจาก กระบี่อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงกรองน้ำ เพิ่มเติม

นายพินิจ ศิลาแลง หัวหน้าผลิตการประปาส่วนภูมิภาค จังหวัดระยอง กล่าวว่าปี 2559 กปน.จังหวัดระยอง มีปริมาณน้ำเพียงพอโดยมีน้ำของกรมชลประทาน 4 อ่าง ซึ่งมีมากถึง 70% สามารถจ่ายน้ำประปา 3.6 พันลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ที่สำคัญมีน้ำดิบสำรองที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ ในกรณีฉุกเฉิน ที่จะใช้ทั้งอุปโภคบริโภค ขณะที่ภาคเกษตรไม่กระทบเนื่องจากจัดทำระบบคลองซอยเข้าถึงพื้นที่เกษตรทุกแปลง ส่วนโรงแรมจะเน้นซื้อน้ำจากเอกชนคือ “อีสท์วอเตอร์”

นายคมสัน บุญเอี่ยม ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ได้เตรียมแผนรับมือภัยแล้งไว้กรณีฝนทิ้งช่วงในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2559 ได้เจรจากับทางจังหวัดให้รักษาค่าระดับน้ำที่ 107 สถานีN7 หรือสะพานเสรีประชาธิปไตย เพื่อผลิตและจ่ายน้ำให้กับประชาชนรวมทั้งธุรกิจ ภาคบริการต่างๆ ทั้งนี้ กปภ.อุบลราชธานีมีสถานีจ่ายน้ำ 3 จุดได้แก่ อำเภอเมืองกับอำเภอวาริน คือสถานีจ่ายกุดลาดกำลังผลิต 1 พันลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง แหล่งน้ำดิบคือแม่น้ำมูลจะดูแลโซนทิศเหนือของตัวเมือง สถานีท่าวังหิน กำลัง 1.5 พันลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงดูแลพื้นที่ตัวเมืองอุบลราชธานี ใช้น้ำดิบจากลำมูลน้อย และ สถานีโพธิ์มูล ดูแลอำเภอวารินเป็นหลัก กำลังผลิต 850 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่งโมงใช้น้ำดิบจากแม่น้ำมูล อย่างไรก็ดีหากเกิดวิกฤติแล้งรุนแรงจึงมีแผนสำรองหากแม่น้ำมูลมีน้อย จะใช้วิธีเดินท่อส่งน้ำดิบที่ก่อสร้างแล้วเสร็จอีก 7 กิโลเมตรมาเสริมที่ท่าวังหิน ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 70% หรือ 900-1.1 พันลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงจากกำลังผลิต ปัจจุบัน 1.5 พันลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง

ขณะที่ สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดตาก เริ่มส่อเค้าทวีความรุนแรง น้ำในอ่างเก็บน้ำลำห้วยต่างๆ เริ่มแห้งขอด ต่อเรื่องนี้ นายดุสิต แสงสุคนธ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดตาก กล่าวว่าการทำแผนระยะยาวนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่สอด แห่งที่ 2 (ตอนบน) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะใช้งานควบคู่กับอ่างเก็บน้ำแห่งแรกที่ บ้านหัวฝาย นอกจากจะสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตรการขยายตัวของชุมชนเมืองนครแม่สอดแล้วยังรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก (แม่สอด-พบพระ-แม่ระมาด)อีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,137 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559