Brexit:ผลกระทบเศรษฐกิจโลก

01 ธ.ค. 2561 | 04:30 น.
บทความนี้จะเป็นส่วนสุดท้ายของบทความไตรภาคชุด Brexit หลังจากที่ 2 บทความแรกได้นำเสนอเสียงสะท้อนของคนอังกฤษถึงปัญหาและผลที่ได้รับจากการโหวตแยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกของ EU รวมถึงการพิจารณาว่าปรากฏการณ์นี้อาจจะเป็นโดมิโนตัวแรก ที่จะมาสั่นคลอนโครงสร้างการให้ความร่วมมือระดับภูมิภาค ที่หลายภูมิภาคทั่วโลกมีความพยายามจะเดินตามรอยของการรวมกลุ่มประเทศในแบบที่ EU ทำ

บทความนี้จะกลับมาพิจารณาถึงผลกระทบกับเศรษฐกิจที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ UK ได้แยกตัวจาก EU โดยสมบูรณ์แล้ว

หลังจากผลโหวตออกมาว่าประชาชนส่วนใหญ่ (52 %) ของ UK ประสงค์ที่จะให้ประเทศแยกตัวจากการเป็นสมาชิกของ EU ก็ไม่ได้หมายความว่าการแยกตัวนั้นจะมีผลโดยทันที เพราะกฎหมายกำหนดให้มีระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อออกจากเป็นสมาชิกภาพภายใน 2 ปี ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ.2019 เว้นแต่ประเทศสมาชิกทั้ง 27 ประเทศ จะมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยืดระยะเวลาในการดำเนินการดังกล่าวออกไปจนถึงเดือนธันวาคม ค.ศ.2020 แต่ไม่ว่าอย่างไร ดูเหมือนว่าสุดท้ายแล้ว UK ก็จะต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกในไม่ช้านี้ เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีหญิงของ UK ได้ยืนยันอย่างหนักแน่นในสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษแล้วว่า จะไม่มีการเปิดให้มีการลงประชามติในเรื่องนี้อีก แม้จะได้รับการเรียกร้องจากหลายฝ่ายก็ตาม

ดังนั้นไม่ช้าก็เร็วการแยกตัวออกจาก EU ก็จะมีผลสมบูรณ์ แต่เมื่อแยกตัวมาแล้วนั้นจะมีผล กระทบกับเศรษฐกิจโลกมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับว่า การแยกตัวดังกล่าวเป็นการแยกตัวภายใต้ “ข้อตกลง” (with deal) หรือเป็นการแยกตัวแบบ “ไม่มีข้อตกลง” (with no deal)

การตัดสินใจว่าจะเป็นการแยกตัวในรูปแบบใดนั้น ต้องเข้าสู่การพิจารณาและลงคะแนนเพื่อให้ความเห็นชอบจากสภาฯ (house of commons) ก่อน ซึ่งหากปรากฏว่าการแยกตัวนั้นเป็นแบบมีข้อตกลง UK จะได้ประโยชน์ในการแยกตัวครั้งนี้เป็นอย่างมาก เพราะนั่นหมายความว่าหลังจากแยกตัวแล้ว รัฐบาล UK จะกลับมามีอำนาจในการกำหนดนโยบายของประเทศ สภาฯ จะมีอำนาจบัญญัติกฎหมายได้อย่างเป็นอิสระไม่ต้องคำนึงถึงการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายหรือกฎหมายที่ผ่านสภาฯ ของ EU อีกต่อไป และอำนาจสูงสุดของศาลก็จะกลับคืนมาเพราะไม่ต้องอยู่ภายใต้กำกับดูแลจากศาลของ EU อีกต่อไปเช่นกัน

TP7-3423-A

แถมข้อตกลงในทางการค้า ที่ UK มีความพยายามให้การค้าขายระหว่าง UK และ EU หลังจากที่ได้มีการแยกตัวแล้วนั้น ก็ยังคงให้ใช้ข้อกำหนดในทางการค้าแบบเดิม เสมือนว่า UK ยังเป็นหนึ่งในสมาชิกของ EU อยู่

เรื่องนี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา หากจะถามว่ามีความเป็นไปได้หรือ ที่ EU จะยอมให้เกิดการแยกตัวแบบมีข้อตกลงที่ UK จะได้ประโยชน์ในลักษณะนี้ ก็ต้องมาพิจารณากันว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่าง UK และประเทศสมาชิกใน EU นั้นมีมากน้อยแค่ไหน

จากสถิติทางการค้าจะเห็นได้ว่า 44% ของสินค้า UK ส่งออกไปยังประเทศในกลุ่ม EU และ 51% ของสินค้านำเข้ามายัง UK นั้นเป็นสินค้าจากประเทศสมาชิกของ EU นั่นหมายความว่า หาก EU ปล่อยให้ UK แยกตัวออกไปโดยไม่มีข้อตกลงในเรื่องเกี่ยวกับการค้าไว้เลย หลายประเทศที่เป็นคู่ค้าใหญ่กับ UK อย่างเช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ย่อมจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังจากที่ UK แยกตัวออกไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากมองจากมุมนี้ผู้เขียนเห็นว่าพอมีความเป็นไปได้อยู่บ้างว่าข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องทางการค้าจะมีการจัดทำไว้ก่อนที่ UK จะแยกตัวออกไป

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการเจรจาเพื่อทำข้อตกลงก่อนแยกตัวนั้น ยังได้มีการเจรจาไป ถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย ซึ่งเรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นเรื่องการปิดพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์ เหนือกับไอร์แลนด์ UK มีท่าทีที่ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับข้อเสนอของ EU ในเรื่องนี้ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในความตกลงก่อนที่จะแยกตัวด้วย จากประเด็นนี้ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่อาจส่งผลให้การแยกตัวนั้นเกิดขึ้น โดยไม่มีข้อตกลงกับ EU เลย หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นจริงๆ แน่นอนว่าประเทศที่จะประสบปัญหาใหญ่หลวงและได้รับผล กระทบเป็นประเทศแรกก็คงไม่พ้นตัวของ UK เอง

ภาคธุรกิจใน UK ได้ประเมินไว้ว่ากว่า 70% ของภาคธุรกิจใน UK จะได้รับความเสียหายจากการแยกตัวครั้งนี้ เพราะจากสถิติแล้ว 1 ใน 10 ของงานใน UK นั้นมีความเกี่ยวข้องกับการทำการค้ากับประเทศในกลุ่ม EU และปัจจุบัน 61% ของธุรกิจขนาดเล็กของ UK ก็ส่งสินค้าออกไปยัง EU ดังนั้นหากสภาฯ ของ UK เลือกที่แยกตัวออกมาโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ เลยกับ EU ซึ่งแน่นอนว่าการค้าขายทั้งหมดหลังจากแยกตัว UK เมื่อเป็นประเทศนอกกลุ่มแล้ว การได้สิทธิทางภาษีศุลกากรในฐานะประเทศสมาชิกก็ย่อมหมดไป นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่เรื่องภาษีศุลกากร (non-tariff barrier) อีก

จากทั้ง 2 ประเด็นที่กล่าวมาย่อมทำให้มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ที่ไม่จำกัดไว้แต่เพียงมีผลต่อ UK เท่านั้น หากแต่ยังส่งผลกระทบต่ออีก หลายประเทศที่เป็นสมาชิกของ EU ด้วย ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

ดังนี้ หาก UK แยกตัวจาก EU โดยไม่มีข้อตกลงใดๆ เลย (with no deal) มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจในระบบเศรษฐกิจโลก เพราะโลกของการค้าและการลงทุนในปัจจุบัน หากมีที่ใดที่หนึ่งเสียเสถียรภาพความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ซึ่งตัวเลขด้านบนที่เกี่ยวกับการค้าระหว่าง UK กับ EU แสดงให้เห็นแล้วว่าหาก UK แยกตัวออกไปโดยไม่มีข้อตกลงนั้น มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่การตัดสินใจดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญและนำไปสู่การก่อให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจได้

และหากจะพิจารณาจากประวัติศาสตร์แล้วจะเห็นได้ว่า หากเกิดภาวะวิกฤติทางด้านเศรษฐกิจจากประเทศใดประเทศหนึ่งแล้ว วิกฤติดังกล่าวจะขยายตัวออกไปทำลายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของโลกในวงกว้าง ตัวอย่างเช่น วิกฤติต้มยำกุ้งที่เริ่มจากไทย หรือแฮมเบอร์เกอร์ไครซิส ที่เริ่มจากสหรัฐอเมริกา และสุดท้ายก็ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งหากวิกฤติทางเศรษฐกิจนี้ก่อตัวขึ้นจากประเทศอังกฤษจริงๆ วิกฤติครั้งนี้ก็คงจะถูกเรียกว่า วิกฤติฟิชแอนด์ชิพส์ (fish and chips crisis) เพราะเป็นชื่ออาหารจานหลักของคนอังกฤษนั่นเอง

ท้ายนี้ผมได้แต่หวังว่า UK และ EU จะสามารถเจรจาจนบรรลุ “ข้อตกลง” ก่อนที่จะมีการแยกตัว ออกมา เพื่อที่จะได้ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและลามไปทั่วโลกเหมือนอย่างกับวิกฤติ เศรษฐกิจในครั้งที่ผ่านๆ มา

รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย

โดย มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

ปัจจุบัน ศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ University of Kent (United Kingdom)

สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3423 ระหว่างวันที่ 2 - 5 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว