คุมเข้มสินเชื่อรถยนต์! สกัดหนี้เสียพุ่ง หลังยอดปล่อยกู้สะสม 2 ปี 1.6 แสนล้าน

29 พ.ย. 2561 | 12:25 น.
291161-1906

แบงก์ทหารไทยห่วงสินเชื่อรถยนต์ ปี 60-62 พุ่ง 1.6 แสนล้าน ดันยอดหนี้จัดชั้น-เอ็นพีแอล แตะระดับ 9 หมื่นล้าน กระทบการกันสำรอง จับตาปี 62 แบงก์ชาติออกมารตการสกัด ค่ายรถชี้! เศรษฐกิจฟื้นแข่งเปิดตัวรุ่นใหม่ อัดแคมเปญ ยอดขายเพิ่ม

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า ในปี 2562 สินเชื่อรถยนต์ต้องจับตาเป็นพิเศษและเพิ่มความระมัดระวังในการเติบโตเพิ่มมากขึ้น เพราะมีแนวโน้มการปล่อยกู้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าอัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในขณะนี้จะอยู่ที่ระดับ 1.6% หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเอ็นพีแอลบัตรเครดิต ที่อยู่ 2.5% แต่ถ้าดูจากตัวเลขหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ที่มีระยะเวลาค้างชำระน้อยกว่า 3 เดือน ของสินเชื่อรถยนต์ค่อนข้างสูง อยู่ที่ 7.3% หรือคิดเป็นมูลค่า 7.5 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมตัวเลขเอ็นพีแอลและ SM จะอยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 8.9% ของยอดสินเชื่อรถยนต์รวม

 

[caption id="attachment_354997" align="aligncenter" width="313"] นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี[/caption]

สินเชื่อรถยนต์ แม้ว่าจะเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน สามารถยึดรถ ขายทอดตลาดก่อนจะไหลเป็นเอ็นพีแอลภายใน 90 วัน แต่ตัวเลข SM ที่ค่อนข้างสูง สะท้อนถึงความเสี่ยงของคุณภาพหนี้ และความสามารถการชำระหนี้ของผู้กู้ได้ในอนาคต ซึ่งจะกดดันการบริโภคเอกชนให้ปรับลดลงด้วย


Print

จับตา ธปท. ออกมาตรการสกัด
ขณะเดียวกัน หากดูตัวเลขยอดสินเชื่อรถยนต์มีแนวโน้มการเร่งตัวสูงขึ้นค่อนข้างเร็ว หากเทียบตัวเลขสินเชื่อในช่วงโครงการรถคันแรกในปี 2555 ยอดสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% ขณะที่ ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน ยอดสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากยอดสินเชื่อรถยนต์คงค้างทั้งระบบ ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non Bank) และบริษัทในเครือผู้ประกอบการรถยนต์ (Captive) รวมอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นของธนาคารพาณิชย์ 1 ล้านล้านบาท สูงกว่า Non Bank ประมาณ 50%

นอกจากนี้ หากดูภาระผ่อนรถยนต์ต่อรายได้ในช่วงที่มีโครงการรถคันแรก จะเห็นภาระผ่อนรถยนต์ต่อรายได้พุ่งไปอยู่ที่ 48% หลังจากนั้นตัวเลขค่อย ๆ ปรับลดลงมาอยู่ 34% ในปี 2559 และในปี 2560 ตัวเลขภาระผ่อนกลับขึ้นมาอยู่ที่ 35% ล่าสุด ไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 อยู่ที่ 37% และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

แม้ว่าในขณะนี้ ความเสี่ยงจะยังไม่มากนัก แต่กรณีที่สินเชื่อขยายตัวเร็วขึ้น จนทำให้ตัวเลขเอ็นพีแอลและหนี้จัดชั้น SM ขึ้นไปแตะเกือบที่ระดับ 10% จะมีความเสี่ยงต่อระบบสถาบันการเงินค่อนข้างมาก เนื่องจากจะมีผลต่อตัวเลขการประเมินสินเชื่อที่อาจจะเสื่อมคุณภาพลง และในที่สุด อาจจะต้องมีมาตรการออกมาสกัดกั้นก่อนมีปัญหา เช่น การพิจารณาเพิ่มวงเงินต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ลักษณะคล้ายกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ทำก่อนหน้า เพราะจะต้องพิจารณาความสามารถของผู้กู้ จะเห็นว่า ที่ผ่านมา สินเชื่อรถยนต์ส่วนใหญ่จะใช้เน้นโปรแกรมดาวน์ 0% และผ่อนแบบบัลลูน และสามารถออกรถได้ทันที ทำให้ไม่สะท้อนรายได้ของผู้กู้ที่แท้จริง ซึ่งจะสร้างความเสี่ยงค่อนข้างมากในระยะข้างหน้า

 

[caption id="attachment_354999" align="aligncenter" width="503"] ©Clker-Free-Vector-Images ©Clker-Free-Vector-Images[/caption]

ดังนั้น สินเชื่อรถยนต์ถือเป็นสินเชื่อหนึ่งที่จะเป็นความเสี่ยงที่ระบบธนาคารพาณิชย์จะต้องระมัดระวังเพิ่มมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อในปี 2562 แต่เชื่อว่าทุกธนาคารติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนหนึ่งมาจากมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ที่จะเพิ่มภาระการตั้งสำรองของตัวเลข SM เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทำให้อาจไม่เห็นการออกมาตรการจากทางการ แต่สถาบันการเงินให้ความเข้มงวดก่อน

"ปีหน้าในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีมาก แต่ตัวเลขสินเชื่อรถยนต์เร่งตัวสูงขึ้นเร็ว และหากในปี 2562 ยอดสินเชื่อขยายตัวไปแตะ 20% และตัวเลขของเอ็นพีแอลและ SM ขึ้นไปแตะ 10% จากตอนนี้อยู่ที่ 8.9% ถือว่ามีผลต่อตัวเลข PIL อยู่แล้ว และสะท้อนไปยังคุณภาพพอร์ตสินเชื่อที่สุขภาพไม่ค่อยดี ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เราเห็นสถาบันการเงินเริ่มส่งสัญญาณระมัดระวังมากขึ้น จึงเชื่อว่าคงไม่ถึงขั้นออกมาตรการมาคุมเหมือนกับสินเชื่อบ้าน เพราะก่อนจะออกอาจจะมีการส่งสัญญาณเบรกไว้แล้ว"

 

[caption id="attachment_355001" align="aligncenter" width="503"] ©Pettycon ©Pettycon[/caption]

เพิ่มค้ำประกัน-เงินดาวน์
แหล่งข่าวจากค่ายรถ-ค่ายรถจักรยานยนต์ เปิดเผยว่า แม้ยอดขายในภาพรวมจะเติบโต แต่การปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงิน หรือ ลีสซิ่ง มีความเข้มงวดมากขึ้น ยกตัวอย่าง จากเดิมที่ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ก็ต้องมี หรือ การเพิ่มเงินดาวน์ จากเดิมเริ่มต้น 15-20% ในตอนนี้ก็ต้องวางเงินดาวน์เพิ่มเป็น 25-30% หรือแม้แต่หลักฐานทางการเงินในการขอกู้ ก็ต้องมีเอกสารที่เพิ่มเติมเพื่อการันตีและรับรองว่า ลูกค้ามีศักยภาพในการกู้และสามารถผ่อนได้มากน้อยแค่ไหน

ช่วง 10 เดือน (ม.ค. - ต.ค. 2561) ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์สะสมมีจำนวน 833,515 คัน เพิ่มขึ้น 20.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเซ็กเมนต์รถยนต์นั่งเพิ่มขึ้น 18.5%, รถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีเพิ่มขึ้น 22.5% ขณะที่ ตัวเลขการขายในเดือน ต.ค. มีจำนวนทั้งสิ้น 86,931 คัน เพิ่มขึ้น 26.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา


0h9u0jJVGOZloNE0nLtwcZDTFWaDd6PWASdXJ8PnwVaGwgJSkMY3IhbylDbzhzd3MEM3MsbCsQPD1y

โดย 5 อันดับแรกที่ทำยอดขายสูงสุด 10 เดือนแรกของปีนี้ ได้แก่ โตโยต้า 253,185 คัน เพิ่มขึ้น 35.4%, อีซูซุ 139,164 คัน เพิ่มขึ้น 6.3%, ฮอนด้า 103,902 คัน เพิ่มขึ้น 0.9%, มิตซูบิชิ 67,975 คัน เพิ่มขึ้น 24.8% และนิสสัน 57,423 คัน เพิ่มขึ้น 21.6%


ค่ายรถอัดแคมเปญเพิ่มยอด
นายสุรภูมิ อุดมวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์ที่มีการเติบโตเป็นผลมาจากความต้องการในการใช้รถของผู้บริโภคยังมีอยู่ ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่ช่วยผลักดันการขาย คือ การลงทุนจากภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น การเปิดตัวรถรุ่นใหม่จากค่ายรถ และการทำแคมเปญกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ

"ตลาดรถยนต์ในเดือน พ.ย. - ธ.ค. มีแนวโน้มเติบโตสูง เพราะมีงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2018 ซึ่งแต่ละค่ายจะขนข้อเสนอพิเศษออกมา รวมไปถึงการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่สร้างความกังวลใจ คือ จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง"

 

[caption id="attachment_355004" align="aligncenter" width="336"] โมริคาซุ ซกคิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โมริคาซุ ซกคิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด[/caption]

ด้าน นายโมริคาซุ ซกคิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศไทย ปี 2561 คาดว่าจะมียอดขายรวม 1 ล้านคัน โดยแต่ละเซ็กเมนต์มีการเติบโต โดยมีปัจจัยบวก คือ ภาพรวมเศรษฐกิจการลงทุนจากภาครัฐในโครงการต่าง ๆ อาทิ พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี การท่องเที่ยวที่เติบโต ขณะที่ ค่ายรถจะมีการงัดกลยุทธ์การขายในช่วงปลายปี ทั้งเปิดตัวรถใหม่ ทั้งแคมเปญ อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่กระทบกับตลาดรถยนต์ คือ ตลาดส่งออกที่มีการชะลอตัว

นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ในปีนี้ถือเป็นการเติบโตเกินกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้น ในส่วนของมาสด้ามียอดขายสะสมแล้ว 57,402 คัน เติบโต 43% ครองส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 6.9% และประมาณการว่าน่าจะมียอดขายมากกว่า 6.5 หมื่นคัน


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,422 วันที่ 29 พ.ย. - 1 ธ.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ใช้สินเชื่อรถยนต์อย่างไรให้เหมาะสม
กสิกรไทยที่ปรึกษาร่วมทุนในเฮงลิสซิ่ง เสริมทัพรุกตลาดสินเชื่อรถยนต์


เพิ่มเพื่อน
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก