รัฐอัดฉีดแสนล้าน! บูมใช้ "ยาง" ในประเทศ เป็นของขวัญปีใหม่

29 พ.ย. 2561 | 10:20 น.
กนย. เคาะ 4 มาตรการเมกะโปรเจ็กต์แสนล้าน อัดฉีดใช้ยางในประเทศ หวังดันราคาเพิ่ม เป็นของขวัญปีใหม่ให้ชาวสวน เร่งส่ง ครม. มีมติเห็นชอบ ส่วนสัปดาห์หน้าจับตา "กฤษฎา" กล่อมเอกชนบริษัทล้อยางทั้งในและต่างประเทศช่วยซื้อตรงจากสถาบันเกษตรกร ด้าน อปท. คึก! ขานนโยบายเดินหน้าเต็มสูบถนนยางทุกหมู่บ้าน เร่งกำจัดสต็อกช่วย

DSC_1645

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 1/2561 ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบใน 4 โครงการ เพื่อนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบในสัปดาห์หน้า ประกอบด้วย 1.โครงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยาง พ.ศ. 2561–2562 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนค่าครองชีพของเกษตรกรชาวสวนยาง เป้าหมายเกษตรกรชาวสวนยางที่มีสวนยางในพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ที่เปิดกรีดแล้วและขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ก่อนวันที่ 14 พ.ย. 2561 จำนวน 9.9 แสนราย คนกรีดยาง 3.04 แสนราย รวม 1.3 ล้านราย คิดเป็นเนื้อที่ 9.4 ล้านไร่ โดยให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามพื้นที่เปิดกรีดจริง ไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ (กรณีมีคนกรีดยาง แบ่งเป็น เจ้าของสวนยาง 1,100 บาทต่อไร่ และคนกรีดยาง 700 บาทต่อไร่) วงเงิน 1.75 หมื่นล้านบาท (ซึ่งเป็นงบของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.))


S__17580057

2.โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร โดยการสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำน้ำยางพาราไปใช้สร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ทั่วประเทศ จำนวน 75,032 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร รวมระยะทาง 75,032 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้มีการดูดซับน้ำยางออกจากตลาดในปริมาณมากและจะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้นในระยะยาว โดยแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร จัดทำแผนปฏิบัติงานโครงการ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การยางแห่งประเทศไทย และดำเนินโครงการโดยองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ตามแผนปฏิบัติงานโครงการปรับปรุงถนนภายในหมู่บ้าน ให้เป็นถนนที่มีการนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างถนนในชั้นพื้นฐานหนา 15 เซนติเมตร กว้าง 6 เมตร คาดว่าสามารถเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศมากขึ้น โดยการนำยางพารามาใช้ในการทำถนนเป็นจำนวนน้ำยางสด 1.4 ล้านตัน หรือคิดเป็นน้ำยางข้น 7.2 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.63 หมื่นล้านบาท รวมวงเงิน  9.23 หมื่นล้าน (ใช้งบประมาณจากเงินสะสมขององค์กรปกครองท้องถิ่น)


app-DSCN2145-1-503x275

3.โครงการการบริหารจัดการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราของสถาบันเกษตรกร โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์สนับสนุนให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพและมีความพร้อมเป็นแหล่งรับซื้อยางพาราจากสมาชิกเกษตรกรและรวมตัวกันเพื่อจำหน่ายยางพาราเพื่อการส่งออก ขณะนี้ได้สำรวจเบื้องต้น พบว่า มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 8 กลุ่มสหกรณ์ ที่ดำเนินการอยู่แล้ว อาทิ สหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นสถาบันเกษตรต้นแบบ ที่สามารถผลักดันสินค้ายางพาราส่งออกไปต่างประเทศได้สำเร็จ จึงให้กรมส่งเสริมสหกรณ์คัดเลือกสหกรณ์การยางที่มีความเข้มแข็งและสนใจทำผลิตภัณฑ์ยางส่งออกเข้าร่วมโครงการ (วงเงินสินเชื่อของ ธ.ก.ส. 5,000 ล้านบาท) และ 4.โครงการลดพื้นที่ปลูกยางพาราเพื่อปลูกพืชอื่นทดแทน เป็นการช่วยลดความเสี่ยงด้านผลกระทบจากราคายางตกต่ำและช่วยเพิ่มรายได้ รวมไปถึงสร้างทางเลือกในอาชีพเพื่อความยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง จึงได้ตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อดูแลกำกับเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และการยางแห่งประเทศไทย


ฟฟฟ-1

"โดยทั้ง 4 โครงการรวมแล้วงบประมาณใหม่บวกเก่ากว่าแสนล้านบาท ซึ่งได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง หากเกิดปัญหาอุปสรรคให้รีบแจ้งทันที เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า ซึ่งจะเร่งรัดให้เกิดเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด ซึ่งตั้งใจอย่างยิ่งว่า อยากให้ความสำเร็จนี้เป็นของขวัญก่อนปีใหม่ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าจะเชิญบริษัทล้อยางทั้งในและต่างประเทศมาหารือร่วมกันเป็นช่วงสุดท้าย ถึงประเด็นการเพิ่มปริมาณการรับซื้อยางพาราจากเกษตรกร ซึ่งจะต้องขอรับการช่วยเหลือและสนับสนุนอะไรจากรัฐบาลบ้าง"


S__35528733

นายกฤษฎา เผยว่า มี 3 จังหวัด รายงานความคืบหน้ามา ได้แก่ จ.สระบุรี โดยนายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานการประชุมตรวจสอบปัญหาอุปสรรคของการดำเนินงานโครงการทำถนนงานยางพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีต (Para AC) และงานดินซีเมนต์ผสมยางพารา (Para Soil Cement) และซักซ้อมการเตรียมประชุมชี้แจง อปท. ของ จ.สระบุรี ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 29 พ.ย. 2561 โดยมี นางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสระบุรี ท้องถิ่นจังหวัดสระบุรี ผู้แทนสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ แขวงทางหลวงฯ และแขวงทางหลวงชนบทฯ ชี้แจงข้อมูลร่วมกัน


DSCN0106

ส่วนภูเก็ตก็ไม่น้อยหน้า ได้รับรายงานจาก นายธัญญวัฒน์ ชาญพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานในการประชุมการแก้ไขปัญหายางพาราราคาตกต่ำ จ.ภูเก็ต ครั้งที่ 1 ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จ.ภูเก็ต นายฉลาด แก้วขาว เกษตรและสหกรณ์จังหวัดภูเก็ต ทำหน้าที่เลขานุการ โดยมีผู้แทนหัวหน้าสำนักงานจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกแห่งในจังหวัดภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน ที่ประชุมมีมติขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำ โดยกำหนดสายทางการก่อสร้างถนนให้ดำเนินการ 1 สายทาง 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดรูปแบบถนนและปริมาณงานให้เหมาะสมกับพื้นที่ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ได้รับแจ้งการก่อสร้างสายทางแล้ว 14 อปท. จาก อปท. ทั้งหมด 19 อปท. งบประมาณ 87 ล้านบาท และที่ประชุมให้ อปท. สามารถพิจารณาเพิ่มสายทางได้มากกว่า 1 สายทาง เพื่อเป็นข้อมูลและเตรียมความพร้อมหากมีช่องทางงบประมาณดำเนินการ (สามเหลี่ยม)


playground-2543311_1920

กำหนดโครงการใช้ผลิตภัณฑ์ยางพารา ได้แก่ บล็อกยางปูพื้นภายนอกอาคาร (ทางเท้า สนามเด็กเล่น) บล็อกยางปูพื้นสนามฟุตซอลฯ ในพื้นที่ของ อปท. ด้วย ปัญหาเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าจากยางพาราประเภทต่าง ๆ มอบหมายให้ กยท.จังหวัด จัดหาแหล่งผลิต ผลิตภัณฑ์จากยางพารา ข้อมูลมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ให้ อปท. เพื่อประกอบการจัดซื้อ/จัดจ้างต่อไปได้ เช่นเดียวกับเกษตรจังหวัดเพชรบุรี ได้ร่วมตรวจติดตามงานซ่อมแซมถนนมาตรฐาน Para Soil Cement ของโครงการชลประทานทานเพชรบุรี รวมความยาว 1.8 กิโลเมตร ใช้น้ำยางพาราประมาณ 22 ตัน ก็ต้องขอชมเชยจังหวัดเหล่านี้ที่ทำเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว