จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำที่สมบูรณ์ ‘10 ซูเปอร์ฟูด’

04 ธ.ค. 2561 | 05:36 น.
จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำที่สมบูรณ์ ‘10 ซูเปอร์ฟูด’เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวเขา เพื่อสุขภาพที่ดีของชาวเรา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับนํ้า โดยรับสั่งตลอดรัชสมัยการครองราชย์ว่า “นํ้าคือชีวิต” ซึ่งนอกจากการจัดการนํ้าในมิติต่างๆ การรักษาและฟื้นฟู “ต้นนํ้า” คือหนึ่งพระราชกรณียกิจที่สำคัญ สำหรับปัจจัยหลักของการดูแลพื้นที่ต้นนํ้านั้นไม่เพียงแต่การลดการตัดต้นไม้ทำลายป่าแต่ยังมุ่งสร้าง “ทรัพย์ในดิน” ควบคู่กันไป โดยพระองค์ได้ทรงก่อตั้งมูลนิธิโครงการหลวงขึ้นเพื่อเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ในการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรบนที่สูงสืบเนื่องเรื่อยมาจวบจนถึงปัจจุบัน โดยมีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงสืบสานพระราชปณิธานพระบิดาเช่นเดียวกัน

IMG_5755

“วิจัย พัฒนา และส่งเสริมอาชีพ” พื้นที่โครงการหลวงส่วนใหญ่ในอดีตมีความแห้งแล้งเพราะเป็นพื้นที่สูง ฉะนั้นสิ่งที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาพันธุ์พืชที่สำคัญ คือ งานวิจัย โดยที่โครงการหลวงนั้นให้ความสำคัญกับงานวิจัยเกษตรที่สูงเป็นลำดับแรก ซึ่งในส่วนของสถานีวิจัยถือเป็นฐานรากที่สำคัญในการผลิตและขยายพันธุ์เพื่อส่งต่อให้กับสถานีเกษตรหลวงและศูนย์พัฒนาโครงการหลวง เพื่อนำมาส่งเสริมให้เกิดการเพาะปลูกพันธุ์พืชต่างๆ ผ่านการถ่ายทอดให้กับเกษตรกรในท้องถิ่นรวมทั้งชาวเขาเผ่าต่างๆ เพื่อสร้างอาชีพ รายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตโดยคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติเป็นสำคัญ

โดยในส่วนของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ นับเป็นหนึ่งแห่งที่ดำเนินงานงานวิจัยหลากหลายด้าน อาทิ ไม้ดอก ไม้ประดับ พืชผัก ไม้ผล ซึ่งทุกขบวนการของการปลูกพืชได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการเพาะปลูกที่ดี (GAP) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) โดยตัวอย่างของผลผลิตที่ได้รับความนิยม เช่น อโวคาโดพันธุ์แฮส มีประโยชน์อย่างมากต่อร่างกายทั้งในแง่ของแร่ธาตุและสารอาหาร โดยเฉพาะกรดไขมันไม่อิ่มตัวช่วยลดคอเลส-เตอรอลในเลือด พร้อมกันนี้ยังมี กีวี องุ่น สตรอว์เบอร์รี่ รวมทั้งงานวิจัยประมงพื้นที่สูงที่ทางมูลนิธิโครงการหลวงร่วมมือกับกรมประมงทดลองเลี้ยงและขยายพันธุ์เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

สำหรับสายพันธุ์ปลาที่ถูกนำมาขยายพันธุ์ ประกอบไปด้วย ปลาเรนโบว์เทราต์ (Rainbow trout) เป็นปลาที่มีรสชาติดี มีโอเมก้า 3 สูง ปัจจุบันหน่วยวิจัยแห่งนี้สามารถเพาะเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์ได้แล้ว สำหรับปลาสเตอร์เจี้ยน (Sturgion) นิยมนำไข่มาทำคาเวียร์ ซึ่งไข่ปลาจากสเตอร์เจียนจะมีลักษณะสีดำ โดยหน่วยวิจัยประมงพื้นที่สูงแห่งนี้สามารถผลิตคาเวียร์ได้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่สำคัญมีราคาสูงอยู่ที่กิโลกรัมละ 50,000 บาท สำหรับปลาทั้ง 2 สายพันธุ์เลี้ยงด้วยนํ้าธรรมชาติจากนํ้าตกสิริภูมิแหล่งต้นนํ้าจากยอดดอยอินทนนท์

8930930835651

ด้านสถานีเกษตรหลวงปางดะด้วยภูมิประเทศที่อยู่ที่ราบเชิงเขา สถานีแห่งนี้จึงเป็นพื้นที่ขยายพันธุ์พืช ทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาว เช่น ควินัว ธัญพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อาทิ กรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกายครบ 10 ชนิด สามารถทานเพื่อทดแทนบุคคลที่โปรตีนจากสัตว์รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน พร้อมกันนี้ยังมีแปลงผลิตและงานส่งเสริมการปลูกมะเดื่อฝรั่ง แปลงปลูกพืชไร่อย่าง ถั่วขาว องุ่นไร้เมล็ด และงานปศุสัตว์ที่สำคัญอย่าง การเลี้ยงไก่
เบรส ไก่ฟ้าคอแหวน และผลิตภัณฑ์เนื้อไก่อินทรีย์

ขณะที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวัง หนึ่งศูนย์พัฒนาที่สำคัญในการจัดตั้งขึ้นเพื่อลดพื้นที่การปลูกฝิ่นและพัฒนาการปลูกพืชเขตหนาว โดยการขับเคลื่อนของศูนย์ฯในขณะนี้มุ่งหน้าสู่การส่งเสริมเป็นหลัก ผ่านการจัดทำ แปลงทดสอบสาธิตการปลูกพืชเพื่อหาพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดต่างๆ อาทิ การปลูกป่าชาวบ้านตามแนวพระราชดำริป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การอนุรักษ์ดินและนํ้าด้วยการปลูกหญ้าแฝก โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย ได้แก่ ระบบการเพาะปลูกที่ดี (GAP) ด้านผลิตผลที่สำคัญของศูนย์ดังกล่าว เพียบพร้อมไปด้วย การเพาะเลี้ยงเห็ดปุยฝ้าย รวมทั้งผักอย่าง บร็อกโคลิ คะน้าฮ่องกง กะหลํ่าปลีแดง พร้อมกันนี้ยังมีการผลิตสมุนไพรกระถาง แปลงปลูกเคพกูสเบอร์รี่ ที่สำคัญยังเป็นสถานที่เพาะกล้าพืชผัก

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

สำหรับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง ด้วยภูมิประเทศที่เป็นที่ราบเชิงเขา ศูนย์พัฒนาแห่งนี้จึงมีบทบาทหลักใน
ด้านการส่งเสริมการปลูกพืชไร่ที่มีทั้งพืชผัก ไม้ผล โดยมุ่งเพาะปลูกตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งทางคุณสุพัตรา บุตรพวง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาฯ เน้นยํ้าว่า เราเป็นพื้นที่ต้นนํ้าจะต้องปลูกพืชผักด้วยการปราศจากสารเคมี ด้านผลผลิตที่สำคัญของโครงการหลวงทุ่งเริง คือ ผักอินทรีย์ จำพวก ผักกาดอินทรีย์ ซาโยเต้อินทรีย์ เป็นต้น โดยหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งจากสถานีเกษตรหลวงและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแต่ละแห่ง อาทิ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไม้ดอกและวัตถุแปรรูปต่างๆ ถูกรวบรวมและส่งต่อสู่มือผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้รักสุขภาพในงาน (รอยัล โปรเจ็คต์ แกสโตรโนมี เฟสติวัล แอท สยามพารากอน “Royal Project Gastronomy Festival@Siam Paragon) ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิโครงการหลวงและศูนย์การค้าสยามพารากอน ภายใต้แนวคิด “10 ซูเปอร์ฟูด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวเขา เพื่อสุขภาพที่ดีของชาวเรา”

21

จากการพูดคุยคุณธณพร ตันติยานนท์ ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน เผยว่า ด้วยเทรนด์เรื่องของสุขภาพและการปักหมุดพื้นที่ของศูนย์การค้าให้เป็นศูนย์กลางด้วยการเป็นปลายนํ้าที่ดี เรามีความพร้อมในการจัดกิจกรรมด้วยการนำผลิตภัณฑ์จากโครงการหลวงมานำเสนอและจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อาทิ การวางจัดจำหน่าย การนำมาแปรรูป รวมทั้งการเชิญเชฟฝีมือดีมารังสรรค์เมนูอาหารโดยวัตถุดิบหลักจากโครงการหลวง ที่สำคัญภายในงานยังมีนิทรรศการ 10 ซูเปอร์ฟูดจากโครงการหลวงโดยนำเสนอแหล่งที่มาเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจอันดีในแต่ละวัตถุดิบให้กับผู้บริโภค

ด้านคุณเมธัส กิจโอภาส ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด มูลนิธิโครงการหลวง กล่าวว่า ภายในงาน ทางมูลนิธิฯได้นำเอาผลิตภัณฑ์คุณภาพดี โดยเฉพาะวัตถุดิบที่เหมาะแก่การทานเพื่อดูแลสุขภาพมานำเสนอ เพื่อเป็นทางเลือกรวมทั้งสร้างโอกาส ตลอดจนได้ศึกษาตลาดและทราบความต้องการ เพื่อดำเนินการผลิตให้ตรงกับเทรนด์ในแต่ละช่วงเวลาด้วยความสอดรับ โดย 10 ซูเปอร์ฟูดที่คัดสรรมานั้นประกอบไปด้วย ข้าวกล้องดอย ธัญพืชอย่าง ควินัว ผักและสมุนไพร ผลไม้ เนื้อไก่ ปลา เครื่องดื่ม และกลุ่มเฮลตี้ สแน็ค

งานรอยัล โปรเจ็คต์ แกสโตรโนมี เฟสติวัล แอท สยามพารากอน หรือตลาดนัดร่วมสมัยจะเริ่มจำหน่ายผลิตผลโครงการหลวงตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน- 7 ธันวาคม 2561 นี้ ณ ฮอลล์ ออฟ เฟม ชั้นเอ็ม ศูนย์การค้าสยามพารากอน มาร่วมจับจ่ายใช้สอยสินค้าคุณภาพดีที่เกิดจากผืนแผ่นดินไทยด้วยฝีมือคนไทยบนกรอบพื้นฐานความภูมิใจซึ่งนี่คือความสุขแบบองค์รวมที่เกิดจากต้นนํ้าสู่ปลายนํ้าด้วยความสมดุลและยั่งยืน

หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 ฉบับที่ 3,423 วันที่ 2 - 5 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว