ทางออกนอกตำรา : ขายหุ้นโรงเรียนเพี้ยนหนัก ผู้ไม่เสียภาษีขูดค่าเทอมเด็กแน่!

28 พ.ย. 2561 | 14:55 น.
ขาย-2 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 จะถูกบันทึกเป็นวันประวัติศาสตร์ตลาดหุ้น ตลาดทุนไทยอีกครั้ง...และเป็นประวัติศาสตร์ของระบบ “ทุนนิยมเสรี” อันไร้สติ ไร้ขอบเขตของความยับยั้งชั่งใจ

เมื่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ชุดที่มากไปด้วยผู้มีความรู้ แต่ขาดสติ เห็นแต่ “สตางค์” ไปทั้งตลาดหุ้น ประกอบด้วย “วรวิทย์ จำปีรัตน์” อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ที่ถูก “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมว.คลัง เสนอชื่อให้เป็นประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2558

กรรมการ ก.ล.ต.ที่มาโดยตำแหน่ง3 คน ประกอบด้วย “ประสงค์ พูนธเนศ” ปลัดกระทรวงการคลัง “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย “บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร” ปลัดกระทรวงพาณิชย์

กรรมการ ก.ล.ต.ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิอีก 6 คน ประกอบด้วย “สราวุธ เบญจกุล” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม “กัลยานี ภาคอัต” รองอธิการบดีฝ่ายการเงิน มสธ. ปราณี ภาษีผล ประธานอนุกรรมการกำหนดจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชี สภาวิชาชีพบัญชี “หยกพร ตันติเศวตรัตน์” อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ “วิพุธ อ่องสกุล” คณบดีคณะบริหารธุรกิจ นิด้า “ชนินท์ ว่องกุศลกิจ” ประธานกรรมการ บริษัท บ้านปูฯ และ “รพี สุจริตกุล” เลขาธิการ ก.ล.ต.
TV-หุ้นโรงเรียน.001 TV-หุ้นโรงเรียน.002
มีมติอนุมัติให้ บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) หรือ SISB ของกลุ่มทุนสิงคโปร์ที่มีอยู่ 5 แห่ง รับเด็กตั้งแต่เตรียมอนุบาลยันมัธยม 6 เข้าจดทะเบียนขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์ mai ร่วม 1,300 ล้านบาทเศษ เป็นบริษัทแรกที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการศึกษา ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน ประเภทโรงเรียนนานาชาติ ฝ่าด่าน “สำนักความรู้” มาสู้กับ “สำนักทำกำไร” ในตลาดหุ้นได้สำเร็จ

นับตั้งแต่จัดตั้ง ก.ล.ต. มาปี 2535 มี “สุธี สิงห์เสน่ห์” เป็นประธานกรรมการคนแรก มีโรงเรียนเอกชนยื่นไฟลิ่งขอนำหุ้นไประดมทุนในตลาดหุ้นมาไม่เคยขาดสาย แต่ไม่เคยมีใครได้รับการอนุมัติจาก ก.ล.ต. ที่ “มีปัญญาเป็นอาวุธ มีสติที่สรรค์สร้างสิ่งที่ดีงามในสังคม” มาสักครั้ง

ขนาดพี่ใหญ่ผู้มีสัญลักษณ์ของฝรั่งและระบบทุนนิยม “วิทยาลัยเซนต์จอห์น” ย่านวิภาวดีรังสิต ทำเรื่องขอขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อ 10 ปีก่อนหน้า โดนคัดค้านจากกรรมการ ก.ล.ต.นี่แหละจนเข้าไม่ได้ เพราะกรรมการกลัวการศึกษาวิ่งไล่ตามหลักธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไรเป็นตัวตั้ง ค่าเทอมจะแพงหูฉี่จนคุมไม่อยู่ สุดท้ายเจ้าของเซนต์จอห์นต้องตัดที่ 30 ไร่ มาสร้างอาคารสูง สร้างคอนโดมิเนียมขายทำกำไร...ให้เห็นเป็นสัญลักษณ์...

ไม่เพียงกรรมการก.ล.ต.เท่านั้น ที่กำลังสร้างประวัติศาสตร์ของตลาดทุนสามานย์ “กรรมการตลาดหุ้น” ก็เป็นผู้คนกลุ่มหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่เปิดตลาดให้ “โรงเรียนไปเพี้ยนหากำไรในตลาดหุ้น” ซึ่งผมขอทำนายว่าจะเป็นตราบาปทางการศึกษาของประเทศไทยไปชั่วลูกชั่วหลาน เพราะโรงเรียนจะมุ่งเน้นหากำไรจากผู้มาเรียนก่อนที่จะคิดถึงความเป็นเลิศด้านการศึกษา การพัฒนาคน เพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้นเป็นตัวตั้ง.....
1311-14870649090figjm34jx คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งหมด 11 คน ไล่จาก “ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย “ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) “ชัยภัทร ศรีวิสารวาจา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ฯ “จรัมพร โชติกเสถียร” กรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ “นรเชษฐ์ แสงรุจิ” กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร, “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ จำกัด “วรวรรณ ธาราภูมิ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวงฯ

 “อรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล” ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียล กรุ๊ปฯ “เสรี นนทสูติ” รองกรรมการผู้จัดการ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ “อนุชิต อนุชิตานุกูล” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานสายพัฒนาระบบงาน ช่องทางขายและผลิตภัณฑ์ ธนาคารเกียรตินาคิน และ “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ

ทั้งหมดนี้คือกลุ่มบุคคลที่จะต้องถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้น ตลาดทุนไทย ที่ปล่อยให้โรงเรียนสถานศึกษามา “หากินในบ่อนพนันจากการเก็งกำไรด้านราคา” โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้

กลุ่มคนเหล่านี้อาจจะอ้างว่า กฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ และโรงเรียนก็มีสิทธิทุกอย่างที่จะนำหุ้นไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขืนไปห้ามอาจโดนฟ้องร้องในคดีปกครองเอา

แต่ท่านลืมไปว่า หน้าที่ของ ก.ล.ต.คือ ผู้กำกับดูแล ผู้กำหนดนโยบายในการพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นแหล่งระดมทุนและแหล่งลงทุนที่มีประสิทธิภาพของทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป

ขณะที่หน้าที่ของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ ผู้กำหนดนโยบายและควบคุมการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้กำหนดระเบียบหรือข้อบังคับต่างๆ ที่ทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีระเบียบ

ท่านเหล่านี้จึงถูกคัดเลือกมาทำหน้าที่ดูแลตลาดทุนให้ดี มีประสิทธิภาพ...ดังนั้นท่านต้องใช้ความรู้ คู่ปัญญา และสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้สังคม อย่าปล่อยให้ทุนนิยมมาบดบังหน้าที่ในแต่ละหน่วยที่พึงทำ

หน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจสถานศึกษาคืออะไร...คือการพัฒนาความเป็นเลิศทางการศึกษาและพัฒนาคน มิใช่ธุรกิจที่มุ่งเน้นกำไรเป็นที่ตั้ง แต่มุ่งหวังถึงการพัฒนาขีดความสามารถของมนุษย์ให้เป็นคนดี คนเก่ง มิใช่มุ่งเน้นแสวงหากำไรจากการศึกษา

รัฐบาลจึงมอบ “สิทธิพิเศษทางภาษี” ให้ผู้ประกอบการสถานศึกษาแบบไม่เหมือนใคร และไม่มีธุรกิจอื่นใดได้รับ แม้แต่ผู้ที่ได้รับสิทธิบีโอไอ

[caption id="attachment_354283" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

รัฐบาลให้อะไรบ้าง มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 มีนาคม 2558 สรุปไว้ชัด

1. ยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิ หรือผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากกิจการ โรงเรียนเอกชน ที่ตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือกิจการโรงเรียนของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

2. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือการบริจาคที่ดิน ทรัพย์สิน ให้กับโรงเรียนเอกชน และการโอนกลับคืนเมื่อเลิกกิจการ ก็จะไม่มีการจัดเก็บภาษีเช่นเดียวกัน

3. ยกเว้นภาษีให้แก่ผู้อำนวยการผู้บริหาร ครู หรือบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียน เอกชน สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เมื่อมีเหตุต้องออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต

4. ยกเว้นภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นส่วนควบของที่ดิน รวมทั้งทรัพย์สินใดๆ ที่จะต้องใช้ในกิจการโรงเรียน และการบริจาคที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ให้แก่โรงเรียน เพื่อประโยชน์ในการจัดการศึกษา

5. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่โรงเรียนในระบบ สำหรับรายรับ และสำหรับการกระทำตราสาร อันเนื่องมาจากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดิน

เรียกง่ายๆว่า ผู้ประกอบการโรงเรียนเอกชนไม่ต้องเสียภาษีนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มสักบาทเดียวครับ

ผู้ประกอบการที่ไม่เสียภาษีสักบาทเดียวที่ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้หน้าที่อันเป็นจริยธรรมของธุรกิจที่ตัวเองทำ แต่นำบริษัทไปจดทะเบียนขายหุ้นในตลาด จากนั้นก็กำหนดเป็นนโยบายว่าจะจ่ายเงินปันผลจากกำไรปีละ 40-50% ท่านว่าถูกต้องมั้ยครับ

เรื่องแบบนี้ จะไปโทษ บล.ฟินันเซียไซรัสฯ ที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย รวมถึงบล.โกลเบล็กฯ, บล.เคจีไอ (ประเทศไทย)ฯ, บล.เคที ซีมิโก้ฯ, บล.เคทีบี (ประเทศไทย)ฯ, บล.ทรีนีตี้ฯ, บล.โนมูระ พัฒนสินฯ และบล.เอเซีย พลัสฯ ที่เป็นผู้กระจายขายหุ้นให้ประชาชนไม่ได้ แต่ต้องโทษผู้ที่กำหนดนโยบายและผู้กำกับนโยบาย

ถ้าท่านมองไม่เห็นภัยจากการนำโรงเรียนไปขายหุ้นในตลาดหุ้น ก็โปรดพิจารณาทบทวนในเรื่องการเปิดให้นำโรงพยาบาลไปขายหุ้นในตลาดก็แล้วกันว่าท่านเจอค่าหมอ ค่ายา ค่ารักษาพยาบาลที่โหดร้ายขนาดไหน...สาธุ อย่าให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกเลย เพี้ยง...
TT10 TT9 TT8 TT7 TT6 TT5 TT4 TT3 TT2 TT1

| คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3422 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 29 พ.ย.-1 ธ.ค.2561
595959859