'ประยุทธ์' เซ็นคลอด "ก.ม.ข้าว" สนช. จ่อโหวตผ่าน 3 วาระรวด "ชาวนา-โรงสี" หวั่น! ไม่รอบคอบ

29 พ.ย. 2561 | 05:09 น.
นายกฯประยุทธ์เซ็นคลอดร่างกฎหมายข้าว เตรียมบรรจุวาระเร่งด่วนโหวตผ่าน 3 วาระรวด หวังมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้ชาวนามีความมั่นคง "นายกฯชาวนา" จับตาผลกระทบระบบค้าข้าว ยํ้า! ทุกวันนี้ดีอยู่แล้ว ส.โรงสี ตั้งข้อสังเกตลักไก่เข้าสภา ไม่รับฟังผู้มีส่วนได้เสียก่อน



16312



นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ในฐานะผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติข้าว พ.ศ. .... เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงร่างกฎหมายฉบับนี้ ว่า ต้องขอขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. หรือ ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องชาวนาในระยะยาว จึงได้มีบัญชาให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี คณะร่างฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปประชุมครั้งสุดท้ายที่ทำเนียบรัฐบาล (22 พ.ย. 61) ได้ข้อยุติว่า ร่าง พ.ร.บ.ข้าวฉบับนี้ ซึ่งมี 37 มาตรา ทุกฝ่ายยอมรับได้ หลังจากนี้เห็นควรส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรีได้เซ็นลงนาม และ
จะส่งเรื่องให้ สนช. พิจารณา คาดจะเป็นภายในสัปดาห์นี้ เพื่อเตรียมบรรจุเรื่องพิจารณาเร่งด่วนให้ สนช. โหวตเห็นชอบ 3 วาระรวด


TP8-3422-A

"เป็นประวัติศาสตร์ เป็น พ.ร.บ.ข้าว ฉบับแรกที่ดูแลพี่น้องชาวนา เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ระดมใส่เข้าไปในกฎหมายฉบับนี้ ล้วนแล้วแต่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องชาวนาของประเทศไทย และระบบการพัฒนาและการทำนาทั้งระบบก็จะถูกปฏิวัติให้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นที่สุดแล้ว สิ่งที่ชาวนาจะต้องขอบคุณไม่ใช่ตัวผม ไม่ใช่คณะร่างฯ พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่เป็นนายกรัฐมนตรีที่จะเอาหรือไม่เอากฎหมายฉบับนี้ ผลสรุปชัดเจน ท่านเห็นด้วยที่จะให้กฎหมายนี้เป็นของขวัญปีใหม่กับพี่น้องชาวนา"

สำหรับโครงสร้าง ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. .... จะมีคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ทำหน้าที่กำหนดนโยบายระดับชาติ กรมการข้าว ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการข้าว (ภาคการผลิต) ไม่เป็นการจัดตั้งหน่วยงาน
ใหม่ แต่ได้มีการกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปรับปรุงโครงสร้างกรมใหม่ เพื่อให้สามารถ
ปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.นี้ ให้เกิดประสิทธิภาพ เมื่อพิจารณาผ่านสภาแล้ว กำหนดให้มีกฎระเบียบ ประกาศ รวมทั้งหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน


RICE

ขณะที่ นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยว่า เป็นเจตนารมณ์ที่นายกรัฐมนตรีต้องการให้กฎหมายนี้เกิด ไม่ได้ขัดขวางอะไร แต่เป็นข้อท้วงติงที่เกรงว่าจะกลายเป็นผลลบกับชาวนามากกว่าเป็นผลดี เพราะว่าจากการที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) นั้น ปัจจุบัน ทำให้การขายข้าวของชาวนามีความเป็นธรรมและได้รับการดูแลเป็นอย่างดี หลายอาชีพอิจฉาด้วยซํ้าไป แล้วข้าวทุกชนิดเวลานี้ก็ราคาค่อนข้างดี แต่เมื่อมีกฎหมายใหม่ออกมา ก็ไม่แน่ใจระบบค้าข้าวจะทำให้ชาวนาตกที่นั่งลำบากหรือไม่ ไม่มีใครคาดเดาในอนาคตได้ ขอยํ้าวันนี้ดีอยู่แล้ว


ข้าว

เช่นเดียวกันกับ นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวถึงร่างกฎหมายนี้ได้มีการปรับแก้ไข (19 ต.ค. 61) ร่างใหม่ในหลายมาตรา มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่ รวมทั้งกฎหมายลูกประกอบการพิจารณาร่างฯ ตั้งข้อสังเกตว่า เห็นควรจะต้องทำประชาพิจารณ์อีกครั้งหรือไม่ เกรงว่าจะไปขัดแย้งมาตรา 77 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นกับผู้ที่มีส่วนได้เสียก่อน

"ระบบการค้าข้าวของประเทศได้ก้าวมาไกลมาก และวงจรการค้าได้วิ่งไปด้วยฟันเฟืองที่ค่อนข้างสามารถขับเคลื่อนกลไกการค้าได้ ซึ่งฟันเฟืองทุกตัว (ชาวนา ท่าข้าว โรงสี หยง ผู้ส่งออก รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่คอยกำกับดูแล) ต่างก็ช่วยกันขับเคลื่อนวงจรตลาดการค้าข้าวของไทยไปสู่ตลาดโลก โดยในแต่ละส่วนได้ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ถ้ามองเพื่อทำความเข้าใจให้ละเอียด จะเห็นได้ว่า โครงสร้างของกลไกในระบบการค้าข้าวนี้ค่อนข้างสมบูรณ์ในตัวของมันเองแล้ว แทบจะไม่น่ามีสิ่งใดใส่เติมเข้าไปเพื่อแทรกแซงระบบ โดยหวังว่าจะเกิดแต่ผลดีได้ 100% โดยที่ไม่มีผลเสียตามมาเลยนั้นคงเป็นไปได้ยาก"


หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,422 วันที่ 29 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม 2561

595959859