ดัน "ปตท.สผ. - วายุภักษ์" ร่วมทุนแหล่งปิโตรเลียม

27 พ.ย. 2561 | 10:25 น.
271161-1715

กระทรวงพลังงานดัน ปตท.สผ. - กองทุนวายุภักษ์ ถือหุ้นแหล่งเอราวัณ 25% หลังแบ่งเค้กประมูลปิโตรเลียมลงตัว หวังให้ฝ่ายไทยมีสิทธิ์ในทรัพยากร เผย เชฟรอนโดนบีบ โดยไม่เป็นธรรม

งวดเข้ามาทุกขณะกับการคัดเลือกผู้ชนะประมูลยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ (G1/2561) และบงกช (G2/2561) ที่มีกลุ่มผู้ดำเนินการ 2 ราย แข่งขันกันในทั้ง 2 แหล่ง ได้แก่ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างพิจารณาซองที่ 4 ในข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ และสัดส่วนการจ้างงานพนักงานไทย


Unknown

ท้ายที่สุด คาดว่าการพิจารณาจะออกมาในรูปแบ่งกัน โดยให้สิทธิสัมปทานแหล่งเอราวัณแก่กลุ่มบริษัท เชฟรอนฯ และแหล่งบงกชเป็นของ ปตท.สผ. ตามเดิม เนื่องจากเป็นสูตรการแบ่งผลประโยชนท์ที่ลงตัวที่สุดที่ภาครัฐอยากให้เป็น เพราะจะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แหล่งได้ต่อเนื่อง ในปริมาณขั้นต่ำที่กำหนดไว้ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพราะหากเปลี่ยนเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องใช้เวลาปรับตัว จะส่งผลกระทบกับการผลิตช่วงรอยต่อ และกระทบต่อความมั่นคงในการจัดกาพลังงานของประเทศได้

แต่ที่น่าจับตาอีกประเด็น คือ เรื่องการสรรหาหน่วยงานของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจ ที่จะเข้าร่วมลงทุนสัดส่วนไม่เกิน 25% ในแต่ละแหล่ง ซึ่งขณะนี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาซองที่ 2 ด้านหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน อยู่ระหว่างศึกษาคุณสมบัติของหน่วยงานต่าง ๆ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ทางคณะอนุกรรมการอยู่ระหว่างศึกษาคุณสมบัติหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ที่จะเข้ามาถือหุ้นร่วมลงทุนใน 2 แหล่ง ว่า มีหน่วยงานใดมีศักยภาพและเป็นไปได้ทางกฎหมาย คือ ในพระราชบัญญัติการจัดตั้งเปิดให้สามารถร่วมลงทุนกับเอกชนได้บ้าง โดยจะพิจารณาหลายด้าน เช่น ประสบการณ์ด้านพลังงาน ฐานะทางการเงิน เพราะจะต้องใช้เงินในการลงทุนนับแสนล้านบาท ในช่วงเวลา 10 ปี


appPEPP

สำหรับหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในบัญชีศึกษา เช่น กองทุนวายุภักษ์, กรมการพลังงานทหาร, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมถึงการศึกษาว่า บริษัท ปตท.สผ. เข้าอยู่ในข่ายที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้วยหรือไม่ และอีกแนวทาง คือ กระทรวงพลังงานจะตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่เพื่อร่วมลงทุนในส่วนนี้ เป็นต้น โดยกระทรวงพลังงานจะเสนอบัญชีหน่วยงานที่ได้รับคัดเลือกไปพร้อมกับรายชื่อผู้ชนะการประมูล เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 25 ธ.ค. 2561 ว่า จะเลือกหน่วยงานใดเข้าถือหุ้นในสัดส่วนของรัฐ 25% ในแต่ละแหล่ง

ด้านแหล่งข่าวจากวงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกลุ่มเชฟรอนกังวลมากว่า อาจมีการผลักดันให้ ปตท.สผ. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจตัวแทนภาครัฐเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนดังกล่าว เพราะก่อนหน้านี้ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวชัดว่า ปตท.สผ. เป็นรัฐวิสาหกิจ ถือเป็นหน่วยงานรัฐ และสามารถเสนอชื่อตนเองเป็นผู้ถือหุ้นในแหล่งบงกชได้ และคุณสมบัติหน่วยงานรัฐที่จะเข้าร่วมลงทุนต้องดูเป็นกรณีไป ซึ่งจะทำให้มีปัญหาในแง่กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทมหาชน อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เช่น ปตท. เอง อาจเป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน รวมทั้งไม่เป็นธรรมกับผู้ร่วมเข้าประมูล ที่ให้ ปตท.สผ. เสนอรายชื่อตัวเองเข้าร่วมถือหุ้นในสัดส่วนหน่วยงานรัฐได้อีก


TP10-3279-A

อีกข้อกังวล คือ ในทีโออาร์ประมูลก็มีการระบุ กระทรวงพลังงานสงวนสิทธิ์ที่จะมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (State Participation) ในสัดส่วนการลงทุนไม่เกิน 25% ภายใต้หลักการร่วมลงทุนอย่างเท่าเทียมกันกับผู้ขอสิทธิ์ที่ได้รับการคัดเลือก โดยผู้ขอสิทธิ์ต้องเสนอหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนในสัดส่วน 25% ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลสามารถที่จะส่งหน่วยงานใดมาก็ได้ หากเป็นหน่วยงานรัฐที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งก็จะไม่มีปัญหา เพราะส่งแค่เงินมาลงทุนตามสัดส่วนในแต่ละปี ไม่จำเป็นต้องส่งคนมาบริหารก็ได้ แต่ถ้าเป็นหน่วยงานรัฐที่มีฐานะการเงินไม่แข็งแกร่งมากพอ รัฐบาลจะหางบประมาณจากไหนมาร่วมลงทุน เพราะขณะนี้ก็มีภาระลงทุนในโครงการขนาดใหญ่จำนวนมากแล้ว

นอกจากนี้ หากรัฐต้องตั้งวงเงินจากงบประมาณรายจ่ายมาร่วมลงทุน ก็น่าเป็นห่วงเรื่องกระบวนการและขั้นตอนของวิธีการงบประมาณที่อาจมีความล่าช้า ทำให้เกิดความเสียหาย เพราะแต่ละปีต้องใช้งบลงทุนในการขุดเจาะหลุมสำรวจและผลิตจำนวนมาก เพื่อรักษากำลังการผลิตให้ได้ตามข้อกำหนด ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการมาร่วมลงทุนจริง ๆ ควรจะพิจารณาหน่วยงานที่มีศักยภาพจริง ๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจัดหาพลังงาน และให้ความยุติธรรมกับผู้เข้าร่วมประมูลด้วย

 

[caption id="attachment_353826" align="aligncenter" width="503"] ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน[/caption]

"ดูเหมือนว่า ทางเชฟรอนจะถูกบีบที่จะให้รัฐหรือรัฐวิสาหกิจเข้ามาถือหุ้น 25% ขณะที่ ปตท.สผ. ทางภาครัฐจะถือหาง เพราะเปิดโอกาสให้เสนอตัวเองเข้าไปถือหุ้นได้ ซึ่งวิธีดังกล่าวนี้ก็เพื่อที่จะให้แหล่งเอราวัณมีสัดส่วนของทางฝ่ายไทยเข้าไปร่วมถือหุ้นในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพยากร แต่ก็ไม่ยุติธรรมสำหรับผู้ร่วมเข้าประมูลแข่งขันด้วยกัน"

โดยก่อนหน้านี้ ทาง ปตท.สผ. ได้เจรจาขอเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในแหล่งเอราวัณ จากที่ถือหุ้นอยู่เพียง 5% แต่ทางเชฟรอนปฏิเสธ ทำให้ ปตท.สผ. ตัดสินใจยื่นประมูลในแหล่งเอราวัณแข่งกับเชฟรอน โดยหวังว่าจะชนะการประมูลทั้ง 2 แหล่ง แต่ในแง่ปฏิบัติแล้ว คงเป็นไปได้ยาก หาก ปตท.สผ. ชนะการประมูลในแหล่งเอราวัณด้วย จะทำให้การผลิตก๊าซฯ ในช่วงรอยต่อเกิดการสะดุดผลิตก๊าซฯ ไม่ได้ตามปริมาณที่กำหนด ดังนั้น การที่กระทรวงพลังงานจะสงวนสิทธิ์ให้ ปตท.สผ. เข้าถือหุ้นในแหล่ง 25% ถึงเป็นไปได้สูง

นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงาน เปิดเผยว่า คุณสมบัติหน่วยงานรัฐที่จะเข้ามาถือหุ้นในแหล่งเอราวัณและบงกช 25% ส่วนตัวมองว่า หากเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและยิ่งมีประสบการณ์ด้านพลังงาน จะเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากความคล่องตัวในการลงทุน รวมทั้งมีความรู้ด้านพลังงานอยู่ก่อนแล้ว


บงกช

ขณะที่ บมจ.ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าข่ายเป็นหน่วยงานที่สามารถเข้าร่วมทุนในแหล่งดังกล่าวได้ ซึ่งถ้าเป็น ปตท. อาจถูกมองว่า แปรรูปไปแล้ว เป็นข้อเสียหายที่ทำให้หลายฝ่ายไม่ชอบใจ เนื่องจากมีเอกชนถือหุ้น แต่หากเป็น กฟผ. ก็มีคุณสมบัติครบ เนื่องจากรัฐถือหุ้น 100% และมีฐานทางการเงินค่อนข้างดี


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,421 วันที่ 25 - 28 พ.ย. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
● "3 ตัวแทน ปตท.สผ." แหล่งพลังงานบงกช ... ภารกิจส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น http://www.thansettakij.com/content/348461
● ปตท.สผ. ลุ้นผลประมูล "เอราวัณ-บงกช" สิ้นปีนี้ http://www.thansettakij.com/content/338997


เพิ่มเพื่อน
บาร์ไลน์ฐาน