สยามพิวรรธน์ผนึก GC ส่งความสุขรีไซเคิลสไตล์รักษ์โลก

10 ม.ค. 2562 | 05:33 น.
จากโซน Ecotopia บนชั้น 4 สยามดิสคัฟเวอรี่ ที่รวบรวมสินค้ารักษ์โลก สินค้ารีไซเคิล มาวางขายอยู่ด้วยกัน เป็นการส่งเสริมนโยบายการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม สนองตอบไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ กับนิยามอีโค่ที่เป็นวิถีของคนทันสมัย  (Eco is Fashionable)

ล่าสุด บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ยังร่วมมือกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จัดงาน “Circular Living Festival” ภายใต้คอนเซ็ปต์ Gift to Circular Living Festival #ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนโลก เปิดตัวต้นคริสต์มาสที่ผลิตจากกล่องใส่ซีดีเหลือใช้ สูง 10 เมตร กว้าง 5 เมตร จากการออกแบบของเป๋-ธนวัต มณีนาวา แบรนด์ TAM:DA(ทำดะ) ที่ต่อยอดไอเดียของงานเซอร์คูล่า ลิฟวิ่ง เฟสติวัล กลายเป็นต้นคริสต์มาสรีไซเคิลจากกล่องใส่ซีดี โดยใช้กล่องใส่ 2,500 ชิ้น ประดับด้วยไฟนีออน ซึ่งจะตั้งโชว์ตั้งแต่วันนี้ - 13 มกราคม 2562

09.ต้นคริสต์มาสรีไซเคิล (Circular Living Tree) ทำจากกล่องใส่ซีดีเหลือใช้ สูง 10 เมตร กว้าง 5 เมตร

งาน “Circular Living Festival” ได้จัดตลาดของขวัญจากผลิตภัณฑ์รีไซเคิลและอีโค่ “Circular Living Market” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นสินค้าจากโซน Ecotopia และยังมีสินค้าแบรนด์ดังแนวอีโค่มาวางจำหน่าย

นอกจากนี้ ยังจัดคอลเลกชันรักษ์โลกที่อัพไซคลิ่งจากขยะพลาสติกในเมืองไทย จากโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand โดยความร่วมมือของ GC, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และมูลนิธิอีโคอัลฟ์ ที่นำขยะขวดพลาสติกจากทะเล มาแปลงร่างเป็นแฟชั่นเสื้อผ้าและกระเป๋า

“สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GC กล่าวว่า GC ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน นำทรัพยากรมาใช้หมุนเวียนให้คุ้มค่าสูงสุดจากต้นนํ้าสู่ปลายนํ้า เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่คนไทย ตามแนวคิด “Circular Living” #ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนโลก

โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ริเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์  2560 เพื่อส่งเสริมการจัดการปัญหาขยะในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทย โดยการดำนํ้าและเก็บขยะพลาสติกในทะเล และชายหาดที่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง และจังหวัดภูเก็ต พร้อมรณรงค์การเก็บและแยกขยะในพื้นที่ต่างๆ  จนสามารถรวบรวมขยะพลาสติกจำนวนทั้งหมดถึง 20 ตัน เข้าสู่กระบวนการอัพไซคลิ่ง ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมการผลิต จนสามารถแปลงร่างขยะพลาสติกกลายเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นและกระเป๋า ในชื่อว่า ไทยแลนด์ คอลเลกชัน โดยเสื้อยืดมีทั้งหมด 3 ลาย แต่ละตัวทำจากขยะขวดพลาสติกใส 14 ขวด

18.ผลงานชนะเลิศชื่อว่า “The Skin” (เดอะสกิน) ทำจากถุงขนม

ดีไซน์ที่ 1: Upcycling the Oceans, Thailand บ่งบอกถึงพลังใจของผู้คนที่ร่วมกันเก็บขยะขวดพลาสติกในทะเล ดีไซน์ที่ 2: From Trash to Trashion แรงบันดาลใจจากคำว่า ‘Trash’ และ ‘Fashion’ หรือขยะกับแฟชั่นมาผสานกันอย่างลงตัว และ ดีไซน์ที่ 3: Trash to Treasure ดีไซน์พิเศษ ลิมิเต็ด เอดิชัน จาก  เจมส์ - จิรายุ ตั้งศรีสุข ถ่ายทอดผ่านการวาดลวดลายนาฬิกาทราย ที่สะท้อนถึงการนำขยะพลาสติกมาแปลงร่างเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่น

สินค้าอื่นๆ ที่น่าสนใจ ยังมีกระเป๋าเป้ 5 สี ออกแบบโดย ฮาเวียร์ โกเยนิเซ่ ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิอีโคอัลฟ์ เป็นกระเป๋าที่ทำจากขยะขวดพลาสติกใส 14 ขวด

รายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งหมด โดยไม่หักค่าใช้จ่าย ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อใช้ในกิจการของมูลนิธิชัยพัฒนา

“อุสรา ยงปิยะกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า  ปีนี้ได้ร่วมกับ GC จัดวางถังขยะบริเวณสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ เพื่อรับบริจาคขยะพลาสติกที่ไม่ใช้แล้ว ติดตั้งทั้งหมด 30 จุด

การจัดงานครั้งนี้ นอกจากนำเสนอตัวอย่างการนำขยะมาสร้างให้เกิดประโยชน์ ยังกระตุ้นให้คนทั่วไปรู้จัก สังเกต และนำสิ่งของเหลือใช้รอบตัว มาสร้างใหม่ให้เกิดประโยชน์

หลังจบงานกล่องใส่ซีดี ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นต้นคริสต์มาสจะถูกนำไปแปรรูปเป็นถังขยะต่อไป ส่วนเศษพลาสติกที่เหลือจะถูกนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิล ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างคุณค่าให้กับพลาสติกเหลือใช้ต่อไปอย่างยั่งยืน

20.รองชนะเลิศอันดับ 1 ผลงานชื่อว่า “Re-Me” (รี-มี)

ส่วนการประกวด Sustainable Designer’s Contest ชุบชีวิตใหม่ให้พลาสติกกลายเป็นสินค้ามีค่า ซึ่งร่วมจัดโดย GC และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ผู้ชนะเลิศ ได้แก่ ทีมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยน.ส.ชัญญ์ชนพร นาทพัฒนพงศ์ และน.ส.ศิรดา ไทยสมบูรณ์ กับผลงานชื่อว่า “The Skin” ชุบถุงขนมให้มีชีวิตใหม่ด้วยการนำถุงขนมที่ถูกทิ้ง มาพลิกด้านในที่เป็นสีเงินแล้วมาพับและรีดผ่านความร้อน ทำให้ถุงขนมมีเอฟเฟกต์เกิดลวดลายคล้ายลายกระเป๋าหนังจระเข้ เมื่อนำมาลงสีจึงเกิดลวดลายที่สวยงามยิ่งขึ้น นำมาผลิตเป็นกระเป๋า เพราะเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันได้

ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยน.ส.สรชา กิจกาญจน์ กับผลงานชื่อว่า “Re-Me” เกิดจากคำว่า Recycle+Me หมายถึง นำฉันที่เป็นขยะกลับมาใช้ใหม่ เป็นชุดกระเป๋าที่เกิดจากวัสดุรีไซเคิล คือ ขยะพลาสติกแรปอาหาร ผสมกับถุงพลาสติกใช้แล้ว นำมาผ่านกรรมวิธีการทอเป็นผืนผ้าและนำไปตัดเย็บเป็นกระเป๋าอย่างสวยงามและมีประโยชน์ และ รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดย น.ส.ณัฐธิดา นันทสันติ กับผลงานชื่อว่า “Arman” นำฉลากจากขวดนํ้าพลาสติกที่ใช้แล้ว มาผ่านกระบวนการความร้อนกับผ้าโพลีเอสเตอร์ ซึ่งเป็นเศษผ้าหุ้มเบาะรถจากโรงงานที่เป็นขยะซึ่งมีอยู่เยอะมาก เมื่อนำมาหลอมรวมกัน จึงทำให้เกิดลวดลายใหม่ คล้ายลายพรางทหารจึงเกิดเป็นไอเดียผลิตเป็นลายกระเป๋าอย่างสวยงาม

หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3422 ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว