เกาะติดภัยแล้งชี้ชะตาแรงงานภาคเกษตรไทย หลังภาครัฐเร่งเข้าช่วยเหลือ

03 มี.ค. 2559 | 07:07 น.
ดร.ภูมิศักดิ์  ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.กัมปนาท  เพ็ญสุภา  รองคณบดีฝ่ายวิจัย ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยร่วมกันว่า ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ภัยแล้งกับแรงงานภาคเกษตรไทยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานได้ประเมินสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2558 พบว่า ปริมาณน้ำต้นทุนที่เก็บกักใน 33  เขื่อนหลักและอ่างต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งปริมาณฝนที่ตกลงมาน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ส่งผลหลายพื้นที่จะต้องประสบปัญหาภัยแล้งทั้งในและนอกเขตชลประทาน    มีน้ำไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพด้านเกษตรกร รวมทั้งอาชีพอื่นๆ ที่ใช้น้ำมาก

จากการติดตามของศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2558 ต่อเนื่องต้นปี 2559 (เดือนพฤษภาคม 2558 – กุมภาพันธ์ 2559) พบความเสียหายครอบคลุมพื้นที่ 2.86 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 271,341 ราย ทำให้เกษตรกรไม่สามารถปลูกพืช และทำนาได้ตามฤดูกาล ซึ่งระยะยาวอาจทำให้ประสิทธิภาพการผลิตลดลง เกิดผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของชุมชนและเกษตรกร โดยเฉพาะแรงงานภาคการเกษตร

ทั้งนี้ สถานการณ์ภัยแล้งได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานภาคเกษตรเป็นอันดับแรก เนื่องจากเกษตรกรเกิดภาวะการว่างงานและขาดรายได้ในช่วงที่ประสบภัยแล้ง ซึ่งหากพิจารณาสัดส่วนแรงงานในภาคการเกษตรระหว่างปี 2555 – 2558 ที่ผ่านมา พบว่าแรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องกล่าวคือ ในปี 2555 แรงงานในภาคการเกษตรมีสัดส่วนร้อยละ 39.63 ของผู้มีงานทำรวมทั้งประเทศ แต่ในปี 2558 สัดส่วนกลับลดลงเหลือเพียงร้อยละ 32.28 อีกทั้งยังพบว่า กลุ่มแรงงานภาคการเกษตรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลุ่มแรงงานภาคการเกษตรที่มีอายุ 15 -39 ปี กลับมีแนวโน้มลดลง กล่าวได้ว่า แรงงานรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตรน้อยลง ส่งผลให้อายุเฉลี่ยของแรงงานภาคเกษตรสูงขึ้น

ดังนั้น จึงมีนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนให้สามารถประกอบอาชีพและสร้างรายได้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถดำรงชีวิตผ่านวิกฤตภัยแล้งไปได้ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 เห็นชอบโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง ปี 2558/59 จำนวน 8 มาตรการ 45 โครงการ ซึ่งมีหลายหน่วยงาน ขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 ระดับชาติ (ศก.กช.) รวม 8 มาตรการ ดังนี้

1. การส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต  เพื่อการยังชีพและลดรายจ่ายในครัวเรือน หากมีเหลือจึงจำหน่าย 1,028.80 ล้านบาท   2. การชะลอ/ขยายระยะเวลาชำระหนี้  ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสินเชื่อ ให้เกษตรกรที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงิ 6,052.01 ล้านบาท  3.การจ้างงานสร้างรายได้แก่เกษตรกร เพื่อสร้างรายได้ในขณะที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้ 2,241.93 ล้านบาท  4. การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง ให้ชุมชนมีแผนการพัฒนาความต้องการและเหมาะสมกับชุมชน 147.67 ล้านบาท

5. การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ  ส่งเสริมรณรงค์ให้วิธีการเกษตรกรและปชช.ประหยัดน้ำ10.00 ล้านบาท  6. การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน เพิ่มโอกาสใช้ประโยชน์จากน้ำต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 5,670.90 ล้านบาท  7. การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อสุขภาวะที่ดีจากโรคภัยและลดการสูญเสียทรัพย์สินทางการเกษตร   8. การสนับสนุนอื่นๆ       เพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง 307.00 ล้านบาท รวมงบประมาณ 15,458.31 ล้านบาท

หากวิเคราะห์มาตรการดังกล่าว ทั้ง 8 มาตรการ มีงบประมาณที่เบิกจ่ายแล้ว 15,458.31 ล้านบาท โดยขณะนี้มาตรการที่ 2 เบิกจ่ายงบประมาณมากที่สุด ซึ่งเป็นมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสินเชื่อ ให้เกษตรกรที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงิน โดยเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในระยะยาว ส่วนมาตรการที่ 4 เป็นโครงการใหญ่ของชุมชน อยู่ในขั้นตอนพิจารณางบประมาณเป็นช่วง ตามรายละเอียดของโครงการที่เสนอ ซึ่งในเบื้องต้นพิจารณาจัดสรรในเรื่องการปลูกพืชใช้น้ำน้อยของชุมชนก่อน และโครงการอื่นในลำดับถัดไป

นอกจากมาตรการดังกล่าว ภาครัฐยังมีหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 เพื่อช่วยเหลือเกษตรที่ได้รับความเสียหายด้านพืช ไม่เกินรายละ 30 ไร่ โดยมีเงื่อนไขการช่วยเหลือ คือ ข้าว ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนและอื่นๆ ไร่ละ 1,690 บาท ซึ่งสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2558 ต่อเนื่องต้นปี 2559 มีกรอบวงเงินช่วยเหลือ 3,214.46 ล้านบาท (ความเสียหายระหว่างเดือนพฤษภาคม 58 – กุมภาพันธ์ 59 จำนวน 2.86 ล้านไร่)

อย่างไรก็ตาม หากมองถึงผลได้จากเงินช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง พบว่า การเบิกจ่ายงบช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ที่มีการเบิกจ่ายช่วยเหลือเกษตรกรจากสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2558 แล้ว 1,096.53 ล้านบาท และมาตรการที่ 3 การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตร มีการเบิกจ่ายช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว 2,165.84 ล้านบาท หรือร้อยละ 97 ของวงเงินช่วยเหลือ (2,241.94 ล้านบาท)

สุดท้าย ทุกฝ่ายต้องปรับตัวร่วมกันเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง ได้แก่ ประการที่หนึ่ง เกษตรกรควรต้องคำนึงสถานการณ์ภัยพิบัติ (ภัยแล้ง) ว่าสภาพพื้นที่ ปริมาณน้ำที่ใช้ในการผลิตจากแหล่งใด มากน้อยเพียงใด ราคาและตลาดการรับซื้อ รวมทั้งพิจารณาการผลิตทางเลือกอื่น เช่น การปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ปศุสัตว์ ประมงขนาดเล็ก เป็นต้น ประการที่สอง การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย การแปรรูป ประการที่สาม ควรนำระบบการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรมาใช้ให้มากขึ้น ซึ่งยังมีข้อจำกัดและยังไม่แพร่หลาย จำต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยและส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ผลิตสนใจมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของการผลิตได้ ประการที่สี่ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนรุ่นหลังไม่สนใจทำการเกษตร จึงควรมีนโยบายบริหารจัดการในเรื่องนี้ เช่น การปรับทัศนคติของแรงงานรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นลูกหลานเกษตรกร ให้มาสนใจในเกษตรกรรมที่เป็นพื้นฐานของประเทศ และประการที่ห้า การใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องจักรกลทางเกษตร ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้เกิดการลดการใช้แรงงานคน หันมาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต