"การเมืองอังกฤษ" ส่อเค้าวุ่น! หลังผู้นำชาติสมาชิกอียูลงมติอนุมัติ "เบร็กซิท"

01 ธ.ค. 2561 | 02:50 น.
ผู้นำชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) 27 ประเทศ ลงมติอนุมัติข้อตกลงถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษแล้วในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (25 พ.ย. 2561) ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม หลังจากมีการหารือกันเพียงสั้น ๆ ไม่ถึง 1 ชั่วโมง นับเป็นการปิดฉากกระบวนการเจรจาเพื่อการถอนตัวของอังกฤษออกจากอียู หรือที่เรียกกันว่า "เบร็กซิท" ที่มีมาเป็นเวลาราว 20 เดือน หรือเริ่มจากเดือน มี.ค. 2560

นายฌอง-คล้อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวที่กรุงบรัสเซลส์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐสภายุโรปและสำนักงานใหญ่ของอียู ว่า เขาเองเห็นว่าการที่อังกฤษต้องแยกตัวออกจากอียูนั้นเป็นเรื่องเศร้า ถึงขั้นที่เรียกว่าเป็น "โศกนาฏกรรม" เลยทีเดียว แต่เขาก็เป็นคนหนึ่งที่ให้การรับรองแผนการแยกอังกฤษออกจากอียู ที่นำเสนอโดย นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ต่อที่ประชุมระดับผู้นำรัฐบาลของกลุ่มอียู เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และเห็นว่า "นี่คือ ข้อตกลงที่ดีที่สุดแล้วสำหรับอังกฤษ"

หากเปรียบกับการสมรส อียูก็ยอมเซ็นชื่อในใบหย่าให้กับอังกฤษที่เป็นฝ่ายขอหย่าเรียบร้อยแล้ว แต่กระบวนการต่อจากนี้ก็ใช่ว่าจะราบรื่น ในทางตรงข้าม กลับส่อเค้าความวุ่นวายในทางการเมืองของอังกฤษเอง เนื่องจากขั้นตอนถัดไปต่อจากนี้ คือ ข้อตกลงดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาของอังกฤษ

ทั้งนี้ ภายใต้แผนการที่นำเสนอโดย นางเทเรซา เมย์ อังกฤษจะแยกตัวออกจากอียู ในวันที่ 29 มี.ค. ปีหน้า (พ.ศ. 2562) ซึ่งนั่นตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า รัฐสภาอังกฤษจะลงมติเห็นชอบและให้การรับรองข้อตกลงฉบับนี้ในช่วงต้นเดือน ธ.ค. ที่กำลังจะมาถึง (กำหนดคือ วันที่ 12 ธ.ค. 2561) แต่ถ้าสถานการณ์พลิกล็อก ไม่เป็นไปอย่างที่คาด ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูง นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ก็จะตกที่นั่งลำบาก ถึงขั้นที่ต้องอาจมีการยุบสภาและเลือกตั้งกันใหม่เลยทีเดียว

ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะมีการส่งสัญญาณจากพรรคฝ่ายค้าน รวมทั้งสมาชิกบางคนของฝ่ายรัฐบาลอังกฤษ ที่ออกมาระบุว่า หากมีการเปิดให้ออกเสียงโหวต ก็จะโหวตควํ่า หรือไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงแยกตัวที่รัฐบาลไปทำไว้กับอียู และหากสถานการณ์เป็นเช่นนั้นจริง นั่นก็หมายความว่า รัฐบาลอังกฤษมีเวลา 21 วัน ในการร่างแผนใหม่ ซึ่งหากผลักดันไม่สำเร็จ อังกฤษก็อาจจะต้องออกจากอียูแบบไร้ข้อตกลง หรือ ต้องทำประชามติใหม่ หรือ หากเกิดความปั่นป่วนในรัฐสภา สุดท้ายอาจนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ของอังกฤษ

 

[caption id="attachment_353493" align="aligncenter" width="503"] เทเรซา เมย์ เทเรซา เมย์[/caption]

นางเทเรซา เมย์ ยืนยันว่า ข้อตกลงแยกตัวฉบับนี้มีขึ้นเพื่อประโยชน์ของชาวอังกฤษทั้งประเทศ และจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต แต่ทั้งพรรคฝ่ายค้าน หรือแม้กระทั่งพรรคของนางเมย์เองบางคน ต่างออกมาระบุว่า นี่คือ ข้อตกลงที่เลวร้ายที่สุดสำหรับอังกฤษ การเจรจาระหว่างอังกฤษและอียูเกี่ยวกับเรื่องเบร็กซิทภายใต้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน เพื่อเริ่มต้นกระบวนการแยกตัวออกจากอียูอย่างเป็นทางการนั้น มีมายาวนานกว่า 1 ปีครึ่ง แต่ดูเหมือนประโยชน์ที่อังกฤษจะได้รับนั้น แทบจะไม่มีอะไรเลย

เนื้อหาของข้อตกลงว่าด้วยการถอนตัวของอังกฤษออกจากอียูนั้น มีความยาวถึง 599 หน้า ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการแยกตัวออกจากอียูของอังกฤษ อีกส่วนหนึ่งว่าด้วยเรื่องของความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างอังกฤษกับอียู ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งตามกำหนดของข้อตกลงนั้น อังกฤษจะถอนตัวออกจากอียูอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มี.ค. 2019 (พ.ศ. 2562) แต่ขณะเดียวกัน ก็ยืดหยุ่นให้มีระยะเปลี่ยนผ่าน 21 เดือน ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงเดือน ธ.ค. 2020 (พ.ศ. 2563) เพื่ออาจจะมีการเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอังกฤษและอียู หลังจากที่อังกฤษถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกอียูแล้ว โดยภายในระยะเวลาเปลี่ยนผ่านนี้ อังกฤษยังจะคงใช้กฎเกณฑ์ของตลาดร่วมยุโรปอยู่ แต่หากทั้ง 2 ฝ่ายเห็นว่า ต้องการเวลาเพิ่มเติมในการทำรายละเอียดดังกล่าว ก็อาจขอขยายเวลาการปรับตัว หรือ ช่วงเปลี่ยนผ่านไปอีก 2 ปี แต่ต้องยื่นขอขยายเวลาก่อนวันที่ 1 ก.ค. 2020

ทั้งนี้ อังกฤษจะต้องจ่ายเงินค่าออกจากการเป็นสมาชิกให้แก่อียู 39,000 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย

นอกจากนั้น อียูและอังกฤษยังตกลงที่จะให้มีการคงไว้ซึ่ง "พรมแดนเสรี" ระหว่างไอร์แลนด์เหนือที่เป็นของอังกฤษ และประเทศสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสมาชิกของอียู (ทั้งสองมีพรมแดนระยะทางเกือบ 500 กม.) ต่อไป โดยไม่มีการสร้างแนวกั้นพรมแดนระหว่างประเทศขึ้นมา หลังจากที่อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกอียูแล้ว ปัจจุบัน มีประชาชนหลายพันคนข้ามพรมแดนดังกล่าวเพื่อไปทำงานหรือไปท่องเที่ยวในแต่ละวัน เช่นเดียวกับอาหารและเวชภัณฑ์ที่ถูกขนส่งข้ามพรมแดนนี้อย่างเสรี ข้อตกลงจะให้คงสถานะดังกล่าวนี้ต่อไป จนกว่าจะมีข้อตกลงฉบับใหม่ทางการค้าระหว่างอังกฤษและอียูออกมา ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่า น่าจะเป็นได้ภายในสิ้นปี 2020 และนั่นก็หมายความว่า ถึงแม้ปีหน้าอังกฤษจะถอนตัวออกจากอียูแล้วอย่างเป็นทางการ แต่พรมแดนส่วนนี้ยังคงใช้กฎเกณฑ์เดิมต่อไปนั่นเอง การแยกตัวจึงเหมือนไม่ได้แยกตัวเด็ดขาด ทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนเบร็กซิทที่ต้องการให้อังกฤษแยกตัวอย่างเด็ดขาดจากอียู แสดงความไม่พอใจในเรื่องนี้

การที่หลายฝ่ายในอังกฤษยังคงไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวออกจากอียู และฝ่ายที่สนับสนุนการแยกตัวก็ไม่ได้รับเงื่อนไขที่น่าพึงพอใจ กลายเป็นคลื่นใต้นํ้าที่ทำให้การลงมติของรัฐสภาอังกฤษในเรื่องนี้ ซึ่งกำลังจะมีขึ้นในเดือน ธ.ค. ที่กำลังจะมาถึง เป็นวาระที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่า ผลลัพธ์ของการลงมติจะทำให้ นางเทเรซา เมย์ สานฝันเบร็กซิทให้เป็นจริงได้สำเร็จตามกำหนดการที่วางไว้ หรือจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอต้องหลุดจากตำแหน่งกันแน่




10-3422.indd

รายงาน | หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,422 ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน -1 ธันวาคม 2561



[caption id="attachment_355112" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]