เตรียมรับมือ "5จี" กับการเปลี่ยนผ่าน Digital Transformation

29 พ.ย. 2561 | 03:35 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลประกาศเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเปิดใช้ "5จี" ในเชิงพาณิชย์ ปี 2563 เพื่อเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านดิจิตอล (Digital Transformation) อย่างเต็มรูปแบบ

นั้นจึงเป็นที่มา ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. อนุมัติให้ค่ายมือถือทดสอบระบบ "5จี"

ไม่เพียงแต่ค่ายมือถือเท่านั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เตรียมพร้อมทดสอบในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เช่นเดียวกัน


ผนวก "5จี" กับอีอีซี
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เนื่องจากรัฐบาลประกาศเป้าหมายในการให้ประเทศไทยใช้ "5จี" ในเชิงพาณิชย์ในปี 2563 ขั้นตอนในขณะนี้ คือ การทดสอบ เพราะรัฐบาลต้องการนำ "5จี" เข้ามาผนวกกับอีอีซี ดังนั้น อีอีซีจึงเป็นพื้นที่ที่จะเตรียมทดสอบ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปี 2562 และทดสอบที่ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของ "ดิจิตอล พาร์ค" โดยกระทรวงจะหาพันธมิตรมาร่วมสนับสนุนในการทดสอบผู้ผลิตเทคโนโลยี อาทิ หัวเว่ย, ซัมซุง, โนเกีย ส่วนของผู้ให้บริการ เช่น แคท, ทีโอที, เอไอเอส, ทรู และดีแทค


MP20-3422-1

นอกจากนี้ ยังมีเจ้าของแพลตฟอร์ม รวมไปถึงรัฐบาลที่ต้องมาลงขันและร่วมมือกัน โดยภายในสิ้นปีต้องเซ็น MOU กันแน่นอน

ไม่เพียงเท่านี้ การมาของ "5จี" จะต้องมีการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิตอล (Digital Transformation) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคม


ปัญหาใหญ่การลงทุน
ปลัดดีอี ยังบอกเพิ่มเติมอีกว่า ปัญหาของ "5จี" คือ การลงทุนทำเครือข่าย จากการศึกษาพบว่า ต้องมีการลงทุนปรับปรุงโครงข่ายที่มากกว่า 4จี สูงถึง 60-300% ถ้าหากมีการใช้โครงข่ายร่วมกันจะประหยัดถึง 40% หรือมากกว่า 1 แสนล้านบาท

แต่สิ่งสำคัญที่สุด กฎระเบียบที่จะต้องเอื้ออำนวย โดยเฉพาะแผนการใช้คลื่นความถี่ หลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นที่ กสทช. ต้องพิจารณา

ขณะที่ สหภาพโทรคมนาคม (ITU) กำลังสรุปมาตรฐาน 5จี ที่จะนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ สำหรับประเทศไทยเปิดรับเทคโนโลยีทุกค่าย โดยจะดูว่า ค่ายไหนเหมาะสมที่สุด


กสทช. เรียกคืนคลื่น
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมบอร์ด กสทช. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง : หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ นำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า ซึ่งเบื้องต้น คลื่นที่เรียกคืน คือ ย่านความถี่ 2600 MHz, 3400-3500 MHz และ 26-28 GHz


เอไอเอส-ทรู ทดสอบ
นอกจากนี้แล้ว บอร์ด กสทช. ได้อนุมัติให้เอไอเอส หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิว นิเคชั่น จำกัด ทดสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 5จี ในวันที่ 22 พ.ย. - 15 ธ.ค. 2561

โดยเอไอเอสทดสอบ ณ AIS DC ห้างสรรพสินค้า ดิ เอ็มโพเรียม ชั้น 5 ใช้คลื่นความถี่ย่าน 26.5-27.5 GHz เพื่อสาธิต (Demonstration) โดยใช้อุปกรณ์ของ บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งใช้กำลังส่งเพื่อการทดสอบไม่เกิน 200 มิลลิวัตต์

ส่วน ทรู มูฟ ได้ทดสอบการใช้คลื่นความถี่ย่าน 28 GHz เพื่อสาธิต (Demonstration) ณ ไอคอน สยาม โดยมีการใช้อุปกรณ์ของ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศ ไทย) จำกัด ด้วยกำลังส่งไม่เกิน 23 dBm (200 มิลลิวัตต์)


เตรียมรับมือ
การมาของ 5จี เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรม เพราะด้วยความเร็วในการรับ-ส่งสัญญาณสูงถึง 10 Gbps หรือเร็วกว่า 3จี และ 4จี หลายเท่า

ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิตอลและสื่อใหม่ กล่าวว่า อุตสาหกรรมถูกผลกระทบภายใน 2 ปีนับจากนี้ เนื่องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 5จี กำลังจะเปิดให้บริการใน 5 ประเทศ

ขณะที่ ประเทศญี่ปุ่นเตรียมออกอากาศทีวีถ่ายทอดสดระบบ 8K เริ่มวันที่ 1 ธ.ค. นี้ ระบบดังกล่าวออกอากาศเร็วกว่าระบบ SD ถึง 26 เท่า ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่อจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาล รวดเร็ว รุนแรงมากกว่าที่ประสบอยู่ในยุค 3จี-4จี/ทีวีดิจิตอล ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

"ระบบนิเวศ Digital Journalism จะเปลี่ยนจากมีนักข่าวพลเมืองเยอะขึ้น ข้อมูลข่าว สารไวขึ้น มากขึ้น การคัดกรองข้อมูลทำยากขึ้น การตรวจสอบยากขึ้น การรับสารของข้อมูลของผู้บริหารก็จะน่ากลัวมากขึ้น เพราะการตรวจสอบที่อาจไม่ครอบคลุม" ดร.สิขเรศ กล่าว


รายงาน | หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,422 ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน -1 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว