ประมูล "แหลมฉบัง 3" เดือด! 'ฮัทชิสัน' มาแรงประสบการณ์บริหาร 6 ท่าเรือ

29 พ.ย. 2561 | 00:51 น.
คนในวงการให้นํ้าหนัก 'ฮัทชิสัน' ยักษ์ใหญ่จากฮ่องกง คว้าประมูลท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มูลค่า 8.4 หมื่นล้านบาท ชี้! มีประสบการณ์บริหารท่าเรือในพื้นที่ถึง 6 ท่าเรือ มีคุณสมบัติผู้ยื่นประมูล มีมูลค่าสุทธิของกิจการรายปี เฉลี่ยในรอบ 3 ปี ไม่ตํ่ากว่า 7.5 พันล้านบาท

จากที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้เปิดขายซองเอกสารการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเรือ F รวมมูลค่าการลงทุนราว 8.4 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการลงทุนของภาครัฐ 5.34 หมื่นล้านบาท และเอกชน 3.08 หมื่นล้านบาท

การเปิดขายซองตั้งแต่วันที่ 5-19 พ.ย. 2561 มีผู้ประกอบการเข้ามาซื้อซองจำนวน 32 ราย เป็นผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในประเทศอยู่แล้ว 17 ราย และต่างประเทศจำนวน 15 ราย

แหล่งข่าวจากท่าเรือแหลมฉบัง เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กทท. จะเปิดให้มีการตรวจสอบข้อมูล หรือ รายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ไปจนถึงวันที่ 29 พ.ย. เพื่อนำไปสู่การเปิดรับซองข้อเสนอของผู้ยื่นประมูลในวันที่ 14 ม.ค. 2562 ก่อสร้างและเปิดดำเนินการได้ในปี 2566 มีระยะเวลาร่วมทุน 35 ปี


tp11-3422-a

โดยผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีคุณสมบัติเป็นนิติบุคคลรายเดียว ต้องมีผู้ถือหุ้นที่เป็นนิติบุคคลไทย 1 ราย ถือหุ้นในสัดส่วนเกินกว่า 25% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และต้องมีผู้ถือหุ้นที่เป็นนิติบุคคลไทยถือหุ้นรวมกันเกินกว่า 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และนิติบุคคลไทยหรือนิติบุคคลรายเดียวต้องจดทะเบียนมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือ หากเป็นนิติบุคคลหลายรายรวมกันเป็นกิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ ต้องมีสมาชิกที่เป็นนิติบุคคลไทย 1 ราย มีสัดส่วนการลงทุนเกินกว่า 25% ของจำนวนเงินลงทุนทั้งหมด และต้องมีสมาชิกที่เป็นนิติบุคคลไทยมีสัดส่วนการลงทุนรวมกันเกินกว่า 51% ของจำนวนเงินลงทุนทั้งหมด และสมาชิกรายอื่นแต่ละรายต้องมีสัดส่วนการลงทุนไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนเงินลงทุนทั้งหมด โดยสมาชิกแต่ละรายต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี

ส่วนคุณสมบัติด้านการเงินผู้ยื่นเสนอที่เป็นนิติบุคคลรายเดียว ต้องมีมูลค่าสุทธิของกิจการรายปี โดยคิดเป็นเฉลี่ยในรอบระยะเวลา 3 ปี ไม่ตํ่ากว่า 7.5 พันล้านบาท หรือ หากเป็นนิติบุคคลหลายรายรวมกันเป็นกิจการร่วมค้า สมาชิกต้องมีมูลค่าสุทธิรวมของกิจการรายปีทุกรายรวมกันแล้วเฉลี่ยตลอดระยะเวลา 3 ปี ต้องไม่ตํ่ากว่า 7.5 พันล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จากการตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการเข้ามาซื้อซองจำนวน 32 ราย พบว่า เป็นผู้ประกอบการที่ผู้ดำเนินงานบริหารท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 มีจำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท แหลมฉบัง อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด, บริษัท ทีไอพีเอส จำกัด และบริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด จากจำนวนผู้ประกอบการ 12 ราย ที่บริหารท่าเรือมีอยู่จำนวน 18 ท่าเรือ ซึ่งทั้ง 3 ราย เห็นถึงศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบังที่มีความสำคัญต่อการส่งออกของไทยอย่างมาก ที่มีการส่งออกของประเทศราว 7 แสนล้านบาทต่อเดือน และเป็นการส่งออกทางเรือผ่านท่าเรือแหลมฉบังราว 90% และคาดว่าท่าเรือแหลมฉบังจะเต็มขีดความสามารถในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า ดังนั้น จึงเห็นโอกาสตรงจุดนี้ ที่จะเข้าประมูลแข่งกันกับรายอื่น ๆ ที่ยังไม่เคยเข้ามาบริหารท่าเรือแหลมฉบัง


090861-1927-9-335x503-335x503

โดยเฉพาะ บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารท่าเรือระดับโลกจากฮ่องกง และบริหารท่าเรือแหลมบังอยู่ถึง 6 ท่าเรือ มีปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้าครบ 20 ล้านทีอียู นับตั้งแต่เปิดดำเนินงานมาในปี 2545 จนถึงปี 2560 จึงเป็นผู้ประกอบการที่น่าจับตามากที่สุดในการประมูลครั้งนี้ ที่กลุ่มฮัทชิสันต้องคว้าประมูลโครงการนี้มาให้ได้

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,422 ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน -1 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว