สกว. ผนึกพลัง 3 สมาคมวิชาชีพ ยกระดับประสิทธิภาพระบบขนส่งทางราง

27 พ.ย. 2561 | 02:56 น.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผนึก 3 สมาคมวิชาชีพหลักด้านการผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ และด้านวิศวกรรม บรรลุข้อตกลงร่วมมือยกระดับศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางรางและการพัฒนาเมือง สนับสนุนไทยเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจและการขนส่งทางรางของเอเซีย จับตาเคทีหารือ ปตท. ปรับโฉมฟีดเดอร์เชื่อมสถานีกลางบางซื่อ

1543286477784

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย เปิดเผยว่า สมาคมการผังเมืองไทย ร่วมกับสมาคมวิศวกรรมการขนส่งทางรางไทย และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ภายใต้การสนับสนุนโดยโครงการการศึกษากลไกเชิงพื้นที่โดยการวางแผนและการออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาด เพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจและสังคม (SG-ABC) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดประชุมเรื่อง "รางสร้างเมือง เมืองสร้างราง ฉลาดยั่งยืน" เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561

โดยจุดมุ่งหมายการจัดงานเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการผังเมือง ด้านวิศวกรรมขนส่งทางราง และด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ บูรณาการศาสตร์การพัฒนาที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางรางกับการผังเมือง การพัฒนาเมือง และการพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพื่อหารูปแบบความร่วมมือยกระดับศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สนับสนุนนโยบายแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายรัฐบาลในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

ทั้งนี้ การบูรณาการศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและการผังเมือง ประกอบด้วย การวิเคราะห์หาความเชื่อมโยงของระบบขนส่งทางรางกับการวางผังเมืองของโครงข่ายหลัก การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายหลักด้วยระบบขนส่งมวลชนรอง (Feeder System) การเพิ่มความสามารถในการเชื่อมต่อโครงข่ายหลักและโครงข่ายรอง (Connectivity) การเพิ่มประสิทธิภาพระบบการเข้าถึง (Accessibility) สถานีขนส่งทางรางและโหมดการเดินทางประเภทต่าง ๆ การพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (TOD) จำแนกตามประเภทกิจการเชิงพาณิชย์ การสนับสนุนกิจการขนส่งทางรางและกิจการเชิงพาณิชย์ด้วยระบบสิทธิประโยชน์ (Incentive Financing) และการบริหารจัดการเมือง ย่าน และโครงการ TOD ด้วยข้อกำหนด (Codes) และระบบสนับสนุนด้วยนโยบายสาธารณะ

1543286479584

ด้าน นายนคร จันทศร อดีตรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นจะต้องหลีกหนีกับดักการสนับสนุนการลงทุนโครงข่ายถนนที่ส่งเสริมการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลก เช่น ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ ต่างหันมาลงทุนระบบการขนส่งทางรางและสร้างอุปสรรคในการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล นอกจากนั้น ในประเภทการขนส่งสินค้า ประเทศเหล่านั้นได้สนับสนุนการขนส่งสินค้าทางรางเพื่อลดต้นทุนด้านการขนส่ง สำหรับประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทบทวนรูปแบบนโยบายและแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับการขนส่งที่ไม่สร้างปัญหาด้านมลภาวะและสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางถนน

"หลายพื้นที่เห็นการเปลี่ยนแปลง จะน่าอยู่หรือไม่ แต่ไม่ควรปล่อยให้ภาคเอกชนพัฒนาเมืองอย่างไร้ขอบเขต รัฐควรเป็นเจ้าภาพในทุกมิติ กำหนดกระบวนการดำเนินการ 3 ระยะ พร้อมเร่งอินทิเกรตแผนการใช้ที่ดินกับการขนส่งไทยที่ยังไม่ชัดเจน วางแผนโดยเอาวิถีชีวิตของคนเป็นเกณฑ์ เร่งพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเป็นทางเลือกการเดินทางว่าทำอย่างไรบ้าง สังคมต้องการเดินทางที่หลากหลาย สนองตอบคนต้องการคนเหล่านี้ได้อย่างไร"

1543286485578

นอกจากนั้น ยังได้จัดให้มีการเสวนาร่วมเรื่อง " รางเปลี่ยนเมืองสู่ศูนย์เศรษฐกิจระดับโลก" โดยนายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครกำลังวางแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งมวลชนและการขนส่งทางรางอย่างขนานใหญ่ ทั้งด้วยการลงทุนเอง เช่น การขนส่งทางน้ำด้วยเรือไฟฟ้าในคลองแสนแสบ หรือ การสนับสนุนให้เอกชนลงทุนหรือขยายการลงทุน เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าสายสีทอง ซึ่งจะเป็นการลงทุนทั้งโครงข่ายหลักและโครงข่ายรอง พร้อมสนับสนุนการพัฒนาระบบการเข้าถึงสถานีด้วยการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชนหรือกับเจ้าของที่ดิน ซึ่งในอนาคต กรุงเทพมหานครกำลังเดินหน้าสู่การพัฒนาสู่ความเป็นมหานครสีเขียวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและเติบโตด้วยเศรษฐกิจสีเขียว

"เคทีรับมอบหมายรับจ้างจาก กทม. ไปดำเนินการรับบริหารจัดการเดินรถสายสีเขียว โดยมหาดไทย มีคณะกรรมการกำกับการเดินรถสายสีเขียว โครงการนี้ 'บีทีเอส' เอกชนลงทุนเอง เดินรถ 30 ปี โดยในปี 2572 จะครบสัญญา และ กทม. มีนโยบายให้ต่ออายุสัมปทานต่อไป

ล่าสุด ได้รับมอบหมายโครงการรถไฟสายสีทองมาดำเนินการโครงการนี้ไอคอนสยาม ใช้สื่อประชาสัมพันธ์บนสถานีแลกเปลี่ยน 30 ปี โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของ กทม. และคาดว่าจะมีแทรมนำร่องในอนาคต ช่วงแรกใช้รถอีวีบัสให้บริการก่อน แล้วใช้ระบบรางในภายหลัง พร้อมกับจะคุยกับ ปตท. เดินรถบางซื่อ เส้นทางรอบในสวนสาธารณะโซนบางซื่อ จตุจักรที่ กทม. บริหารจัดการ จะปรับให้ฟุตบาทกว้างขึ้น แล้วใส่แทรมลงไป เชื่อมสถานีกลางบางซื่อ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม"

ด้าน นายมารุต ศิริโก ประธานกรรมการบริษัท เอเอ็มอาร์เอเซีย จำกัด ผู้บริหารร่วมรถไฟฟ้าสายสีทองและผู้เชี่ยวชาญระบบควบคุมระบบรถไฟฟ้า กล่าวว่า บริษัทวิศวกรรมของไทยมีศักยภาพในการพัฒนาทางเทคนิครองรับการขยายตัวของการขนส่งทางราง ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้าในเขตเมือง รถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ขนส่งสินค้า เพียงแต่รัฐควรออกแบบสภาพแวดล้อมการลงทุนให้มีความเหมาะสม เปิดโอกาสให้วิศวกรไทยได้แสดงความเชี่ยวชาญในการออกแบบและติดตั้งที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง

นายนพดล ธรรมวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด กล่าวว่า เมืองจำเป็นจะต้องขับเคลื่อนด้วยการขนส่งทางราง ทั้งการขนส่งสินค้าและการเดินทางของประชาชน แต่ต้องปรับปรุงระบบผังเมืองให้สอดคล้องกับการพัฒนา กรณีของจังหวัดสระบุรี แม้จะชัดเจนว่า จะมีสถานีรถไฟความเร็วสูงแต่พื้นที่โดยรอบสถานีปัจจุบันยังผังเมืองรวมยังกำหนดเป็นสีเขียวซึ่งไม่สามารถชี้ทิศทางให้มีการพัฒนาเชิงพาณิชย์รองรับการพัฒนา TOD ได้

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณบดี วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า กทม. ฟีดเดอร์ยังไม่มี รถเมล์ยังไม่เพียงพอ ส่วนขอนแก่นจำเป็นต้องมีเพื่อให้อยู่รอดได้ โดยระบบรางเป็นเครื่องมือดังกล่าว หลายจังหวัดเมืองมีพื้นที่เพียงพอสำหรับคน แต่ไม่เพียงพอสำหรับรถยนต์ ในเร็ว ๆ นี้จะเริ่มใช้เทศบัญญัติขนส่งมวลชนที่ขอนแก่ พัฒนารถราง ระยะทาง 4 กม. รอบบึงแก่นนคร

สำหรับ นายดิสพล ผดุงกุล นายกสมาคมวิศวกรรมระบบการขนส่งทางรางไทย กล่าวว่า ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ของไทยพัฒนาไปมาก โดยแผนงานของสมาคมในระยะต่อไปจะให้ความสำคัญต่อการเตรียมกำลังคนให้สอดคล้องกับการขยายตัวของกิจการขนส่ง และจะนำเสนอเพื่อแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบขนส่งทางรางต่อรัฐบาล

ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่าย ABC สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวว่า ระบบรางสร้างเมืองได้มากน้อยแค่ไหน เกิดเป็นชุมทางให้บริเวณนั้น ๆ เกิดการพัฒนาและการลงทุนโดยรอบ ระบบรางเป็นส่วนหนึ่งของระบบประจำทาง

โดยการจัดงานครั้งนี้มีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักปลัดกระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมธนารักษ์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ การเคหะแห่งชาติ ภาคเอกชน เช่น บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริษัท เอเซี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท เอเอ็มอาร์เอเซีย จำกัด บริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด (RTC) พร้อมด้วยผู้แทนองค์กรภาคประชาชน และสื่อมวลชน รวมจำนวน 102 คน ร่วมในงานสัมมนา

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว