'กฤษฎา' เรียกประชุมฉุกเฉินแก้ปัญหาราคา "ไข่ไก่" ตกต่ำ วันพรุ่งนี้!!

26 พ.ย. 2561 | 14:47 น.
S__121610252-490x503-1
นายชัยพร สีถัน ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในวันที่ 27 พ.ย. 2561 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เรียกประชุมหารือแก้ปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำ โดยทางเกษตรกรจะเสนอให้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (พีเอส) จำนวน 4 แสนตัวต่อปีเท่านั้น เพราะเลี้ยง 82 อาทิตย์ สามารถผลิตลูกไก่ไข่เพศเมียได้ไม่น้อยกว่า 118 ตัว หรือเท่ากับอาทิตย์ละ 9.06 แสนตัว ลูกไก่ไข่อาทิตย์ละ 9 แสนตัว จะมีไก่ไข่ในวงจร 76.6 ล้านตัว เป็นไก่รุ่นประมาณ 24% และไก่ไข่ยืนกรง 76% หรือ ไก่ไข่ยืนกรง 58.1 ล้านตัว ผลิตไก่ไข่ได้เฉลี่ย 80% จะได้ไข่ไก่วันละ 46.5 ล้านฟอง แต่ถ้าผลผลิตเฉลี่ยได้ 75% ได้ไข่ไก่วันละ 46.3 ล้านฟอง ดังนั้น ประมาณผลผลิตไข่ไก่วันละ 45.05 ล้านฟอง ไม่มากนัก แต่ถ้าบริษัทยักษ์ใหญ่ที่นำปู่ย่าพันธุ์ หรือ จีพี เข้ามาเพื่อผลิตพีเอส ที่คาดว่าจะผลิตได้ 90 ตัว จะทำให้ปริมาณไข่ไก่เกินโควตามากจนเกิดวิกฤติราคาไข่ตกต่ำ นี่คือ สาเหตุ ดังนั้น จึงขอให้เสนอหยุดนำเข้าจีพีและถามกรมปศุสัตว์ ว่า จำนวนจีพี  4,500 ตัว ผลิตพีเอส 1.45 แสนตัว กล้ารับผิดชอบตัวเลขนี้หรือไม่ หากย้อนคำนวณการนำเข้าจีพี 8 ปีที่ผ่านมา ประเมินทำให้อุตสาหกรรมไก่ไข่เสียหายแสนล้านบาท


S__13066349

"การแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำเร่งด่วน 3 มาตรการ เพื่อปรับลดปริมาณการผลิตไข่ (Supply) ดังนี้ 1) ปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรง จำนวน 1 ล้านตัว ภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งมีบริษัทให้ความร่วมมือ 15 บริษัท 2) ส่งออกไข่ไก่ 60 ล้านฟอง ภายใน 1 เดือน ซึ่งมีบริษัทให้ความร่วมมือ 13 บริษัท (ซีพี 40 ล้านฟอง/เบทาโกร 10 ล้านฟอง อื่น ๆ 10 ล้านฟอง) และ 3) ปลดพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) อายุ 25-60 สัปดาห์ จำนวน 1 แสน ตัว ภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งมีบริษัทให้ความร่วมมือ 16 บริษัทนั้น ไม่ได้ผล ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มตกลงมาอีก 20 สตางค์ จากราคาประกาศของสมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ 2.50 บาท ตอนนี้ลดเหลือ 2.30 บาทต่อฟอง แสดงว่า 3 มาตรการที่ออกมาไม่ได้ผล


S__13008945

นายชัยพร กล่าวว่า วันเดียวกัน นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจะเชิญผู้ประกอบการ มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ราคาไข่ไก่ตกต่ำอย่างหนัก โดยราคาไข่ไก่ในตลาดต่ำกว่าราคาต้นทุนที่กำหนด โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ที่ฟองละ 2.80 บาท ซึ่งอาจนำไปสู่การกำหนดราคาจำหน่ายต่ำอย่างไม่เป็นธรรมที่อาจส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยต้องปิดกิจการไป ในการนี้อาศัยอำนาจตามมาตรา 29 (2) แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันการค้า (สขค.) มีอำนาจหน้าที่ในการติดตามพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดฝ่าฝืนกฎหมายและรายงานต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า

595959859