"เอสเอ็มอีไทย" ยังไปไม่ถึง 4.0

26 พ.ย. 2561 | 11:14 น.
ม.หอการค้า เผยผลสำรวจแนวโน้มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปไทยในยุคดิจิตอล พบ ยังไปถึง 4.0 เหตุการณ์ยอดขายนิ่งและรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ชี้! ยังติดที่ 1.0 และ 2.0 ระบุ เอสเอ็มอีขนาดกลางมีสัญญาณปรับดีขึ้น แต่ขนาดเล็กยังขาดองค์ความรู้ ด้าน ธพว. จัดทำยุทธศาสตร์รองรับ หวังยกระดับเอสเอ็มอี

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัยและผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจ "แนวโน้มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปไทยในยุคดิจิตอล" ซึ่งจะมีจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) หรือ จุลเอสเอ็มอี รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ล้านรายนั้น พบว่า เอสเอ็มอียังไม่สามารถก้าวไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ได้ในเวลานี้ โดยสถานการณ์ตอนนี้ยอดขายยังนิ่งและทรงตัว รอการฟื้นตัวไปตามจังหวะของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญของเอสเอ็มอี ก็คือ จะสามารถหลุดจากการเป็น 1.0 และ 2.0 ได้อย่างไร ซึ่งเอสเอ็มอีขนาดกลางเริ่มที่จะปรับตัวเข้าสู่การใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม รวมถึงเทคโนโลยีการทำธุรกรรมออนไลน์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ และไอซีทีมากขึ้นเป็นลำดับ และมีการวางแผนเรื่องการขอสินเชื่อ โดยภายในปี 2562 จะมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีและไอซีทีมากขึ้น โดยเมื่อเป็นไปในรูปแบบดังกล่าว สิ่งที่เอสเอ็มอีเหล่านี้ต้องการ ก็คือ สินชื่อและเงินทุน ซึ่งบางส่วนจะใช้เงินทุนของตนเอง แต่ก็คิดว่าต้องการจะได้รับบริการจากธนาคารของรัฐที่จะมีสินเชื่อผ่อนปรน


thumbnail_03

ขณะที่ เอสเอ็มอีที่เป็นขนาดเล็กจะมีความตั้งใจในการลงทุนทางด้านไอซีที หรือ เทคโนโลยีต่าง ๆ เพียงแต่ยังไม่มีองค์ความรู้ หรือ ยังไม่แน่ใจว่าจะใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับธุรกิจได้อย่างไร โดยเรื่องดังกล่าวนี้นอกจากจะต้องเตรียมเงินทุน เตรียมตัววางแผนในเรื่องกระบวนการผลิต หรือ การส่งออก ตลอดจนการขายแล้ว ควรจะให้ความรู้กับเอสเอ็มอีในเรื่องที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เป็นขนาดเล็กด้วย

"หากเศรษฐกิจไทยในปีหน้าที่น่าจะมีการเติบโตอยู่ในกรอบ 4-4.5% เชื่อว่า เอสเอ็มอีจะมีสถานการณ์ที่ฟื้นตัวขึ้น เพราะยอดขาย รวมถึงคำสั่งซื้อน่าจะมีมากขึ้น เพียงแต่ว่า เมื่อเอสเอ็มอีต้องการปรับขยายคุณภาพของสินค้าและคุณภาพการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีจะต้องมีการเตรียมเงินทุนให้ โดยเอสเอ็มอีจะต้องการสินเชื่อที่มีเงื่อนไจผ่อนปรนให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเอสเอ็มอี เนื่องจากต้องการแข่งขันในเวทีระดับประเทศ หรือ ระดับภูมิภาคมากขึ้น"

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอี เดเวลลอปเม้นท์ แบงก์ (SME Development Bank) กล่าวว่า จากความต้องการดังกล่าว ธนาคารจึงวางยุทธศาสตร์การทำงานมุ่งส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยให้ยกระดับธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยผ่านการให้บริการเงินทุนคู่ความรู้ ได้แก่ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเริ่มต้นเพียง 1%ต่อปี เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปลงทุนเครื่องจักร เทคโนโลยี ซึ่งสามารถยื่นกู้ง่าย ๆ ผ่านแพลตฟอร์ม "SME D Bank" ตลอด 24x7 หมายถึง 24 ชั่วโมง 7 วัน ทำงานควบคู่กับหน่วยบริการเคลื่อนที่ "รถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEsไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น" ซึ่งพนักงานธนาคารยึดรหัส 8-8-7 คือ ให้บริการตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 2 ทุ่ม (08:00-20:00น.) ตลอด 7 วัน ช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย สะดวก ทุกเวลา และทุกสถานที่ รวมถึงในแพลตฟอร์ม "SME D Bank" รวบรวมเครื่องมือเสริมแกร่งธุรกิจ (Tools Box) มากกว่า 150 รายการ และคลังข้อมูลความรู้ (e-Library) มากกว่า 1,000 ประโยชน์ ช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถเรียนรู้ก้าวทันเทคโนโลยียุคใหม่ได้ด้วยตัวเอง


thumbnail_4

อีกทั้งจัดกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ เติมความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต่อเนื่อง เช่น โครงการ "ปักหมุด ธุรกิจติดดาว by SME D Bank" พาผู้ประกอบการชุมชน 70,000 ราย มีตัวตนบนโลกการค้าออนไลน์ จัดสัมมนาให้ความรู้การทำตลาดออนไลน์ต่อเนื่อง พัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปให้เก็บรักษาได้ยาวนานเหมาะขายออนไลน์ เช่น สนับสนุนเงินทุนให้ผู้ประกอบการไก่ย่างเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น ซื้อเครื่องบรรจุสุญญากาศ กิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับผู้ให้บริหารตลาดออนไลน์ อย่าง Shopee และองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) ให้ความรู้และพาขยายตลาดต่างแดน เช่น จีน ฮ่องกง และอินเดีย เป็นต้น รวมถึงแนะนำสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปไทยผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งมียอดพบเห็น (Reach) จากทั่วโลกมากกว่า 1.2 ล้าน Reach ต่อเดือน เป็นต้น

"ยุทธศาสตร์การทำงานของ ธพว. เปรียบเหมือนการสร้างถนนสายดิจิทัลสำหรับเอสเอ็มอีไทย ซึ่งถนนเส้นนี้จะมีปัจจัยแวดล้อมพร้อมทุกด้านที่จะพาเอสเอ็มอีไทยเข้าสู่การยกระดับธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยให้ธุรกิจเข้มแข็ง เติบโต อยู่รอด และยั่งยืนได้ ในโลกการค้ายุคปัจจุบันและอนาคต"

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก