ครม.เห็นชอบ 5 แนวทางแก้ปัญหาการอยู่อาศัย-ทำกินในพื้นที่ป่า

26 พ.ย. 2561 | 09:53 น.
-26 พ.ย.61-นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันนี้(26 พ.ย.)ว่า ครม.เห็นชอบพื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ ทุกประเภท ตามนัยมติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 สามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้นที่ 3-5 ที่อยู่มาก่อนมติครม.เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งกลุ่มนี้ที่ผ่านมาได้มีการจัดที่ดินโดย คทช. อยู่แล้ว ก็อนุญาตให้ใช้ประโยชน์อยู่อาศัยและทำกินแบบแปลงรวม คราวละไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี

กลุ่มที่ 2 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้นที่ 3-5 โดยหลังมติครม.เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 อนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกินแบบแปลงรวม โดยต้องปลูกป่าเศรษฐกิจอย่างน้อยร้อยละ 50 ของพื้นที่ และต้องดูแลรักษาไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติม โดยผู้ทำกินในพื้นที่ต้องรวมกลุ่มกันเพื่อร่วมกันองค์กรอื่น เช่น ตั้งสหกรณ์ องค์กรปกครองส่วนท่องถิ่น เพื่อออกแบบและขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่โดยกรมป่าไม้จะจัดเจ้าหน้าที่เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ

กลุ่มที่ 3 ชุมชนในเขตป่าสงวงนแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1-2 โดยก่อนมติครม.เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ให้เจ้าหน้าที่จัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น ควบคุมการใช้ที่ดินภายใต้การอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน ห้ามบุกรุกและขยายพื้นที่, ฟื้นฟูป่าในรูปแบบการมีส่วนร่วม ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกป่า 3 อย่างร้อยละ 20 ของพื้นที่, อนุรักษ์ดินและน้ำ ควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม, ลดการชะล้างพังทลาย และปฏิบัติตามที่กรมป่าไม้กำหนด และติดตามควบคุมการใช้ที่ดินให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

กลุ่มที่ 4 ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ทั้งก่อนและหลังมติครม.วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ ให้สำรวจการครอบครองที่ดินโดยให้มีคณะทำงานสำรวจการครอบครองที่ดินระดับพื้นที่ รับแจ้ง การครอบครองที่ดิน และร่วมกับชุมชนสำรวจการครอบครองที่ดินของราษฎรทุกราย และ2.ตรวจสอบและบริหารจัดการพื้นที่โดยให้คณะทำงานสำรวจรวจ นำผลการสำรวจมาตรวจสอบกับภาพถ่ายทางอากาศออร์โธสี หรือพิจารณาร่วมกับหลักฐานอื่นๆหากพบว่า เป็นพื้นที่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศ ให้ย้ายราษฎรออกไปอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม แต่หากมีเหตุจำเป็นยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้จะจัดระเบียบพื้นที่ให้อยู่เท่าที่จำเป็นต่อการ ดำรงชีพ และเป็นไปตามหลักการอนรุักษ์พื้นที่ต้นน้ำอย่างเคร่งครัด กรณีไม่เป็นพื้นที่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศ ให้พิจารณาผลสำรวจการครอบครองที่ดิน และพิจารณาตามความจำเป็นเพื่อการดำรงชีพ

กลุ่มที่ 5 ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน ให้จัดทำเขตการชื้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลน พร้อมกันส่วนที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟู จัดประชุมชี้แจงให้ประชาชนในพื้นที่ทราบ และเข้าใจวัตถุประสงค์และแนวทางการดำเนินงาน เป็นต้น

“ทั้งนี้ 5 กลุ่มนี้จะมีการบริหารจัดการโดยภาครัฐที่แตกต่างกันไป ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการปรับ และพยามให้ประชาชนกับป่า หรือที่สงวนหรือป่าอนุรักษ์อยู่ร่วมกันได้ ระหว่างป่ากับประชาชนโดยจะใช้แนวทางทั้ง 5 กลุ่มนี้เป็นหลักการที่จะเข้าไปบริหารจัดการในการใช้พื้นที่ป่าได้อย่างเหมาะสม และไม่มีการรุกล้ำพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนให้มากกว่าเดิม” นายพุทธิพงษ์ ระบุ

[caption id="attachment_352905" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]