อย. ผนึก กสทช. แก้ปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากส่วนกลางสู่ภูมิภาค

26 พ.ย. 2561 | 07:07 น.
อย. ผนึก กสทช. แก้ปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากส่วนกลางสู่ภูมิภาค ลดขั้นตอนบังคับใช้กฎหมาย พร้อมจัดทำแนวทางปฏิบัติการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ส่วนภูมิภาคให้เหมือนกันทั่วประเทศ

048A9240


น.พ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) มีนโยบายร่วมกันในการจัดการปัญหาโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ผิดกฎหมายทางสื่อทุกประเภท เพื่อให้จัดการปัญหาได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ทันต่อเหตุการณ์ และสนองตอบนโยบายของรัฐบาลในการเร่งรัดติดตามตรวจสอบและจัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ฝ่าฝืนกฎหมายทางสื่อต่าง ๆ เช่น สื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ ดิจิทัล และทีวีดาวเทียม รวมไปถึงสื่อเคเบิ้ลทีวี เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา อย. และสำนักงาน กสทช. (ส่วนกลาง) ได้บูรณาการทำงานร่วมกัน โดยใช้กลไกการประสานความร่วมมือที่ลดขั้นตอนของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายของทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อความรวดเร็วในการยุติโฆษณาที่ฝ่าฝืนกฎหมายได้อย่างทันท่วงที โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบรายการและโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีเนื้อหาผิดกฎหมาย ทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และเว็บไซต์ ร่วมกับ สำนักงาน กสทช. (ส่วนกลาง) จากการปฏิบัติงานร่วมกันตั้งแต่เดือน พ.ค. 2561 เป็นต้นมา ถึงปัจจุบัน ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก

 

[caption id="attachment_353014" align="aligncenter" width="503"] พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ[/caption]

ด้าน พล.ท. ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้การทำงานเป็นลักษณะที่แต่ละหน่วยงานต่างทำงานไปภายใต้ระบบของตนเอง ทำให้การพิจารณาข้อร้องเรียนแต่ละเรื่องกว่าจะได้ข้อยุติและสิ้นสุดกระบวนการต้องใช้เวลาค่อนข้างนานอย่างน้อย 6 เดือน หรือ บางกรณีอาจใช้เวลานานร่วมปี นอกจากนี้ บทลงโทษต่อการกระทำความผิดกรรมเดียวกันยังอาจต้องรับโทษ 2 ทาง ทำให้อาจเกิดความซ้ำซ้อนและเป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมขึ้น ทำให้ปัจจุบันสามารถสรุปเรื่องให้แล้วเสร็จได้ภายใน 3 วัน ซึ่งถือว่าเร็วมาก


048A9264

ทั้งนี้ เนื่องจากโทษทางปกครองสำหรับผู้ฝ่าฝืน หรือ กระทำความผิดตามกฎหมาย กสทช. นั้น ค่อนข้างสูง ทำให้ปัญหาการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และเพื่อให้ปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในระดับพื้นที่ได้รับการแก้ไข เช่นเดียวกับส่วนกลาง จึงได้กำหนดนโยบายร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุขขยายผลการดำเนินการไปยังส่วนภูมิภาค ซึ่งขณะนี้ ผลการเฝ้าระวัง พบว่า มีสถานีวิทยุกระจายเสียงราว 300 สถานี มีการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่อาจเข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ จึงหวังว่า เวทีในวันนี้จะประสบความสำเร็จ มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน และมีผลการพิจารณาการโฆษณาจาก สสจ. ทั่วประเทศ ซึ่ง สำนักงาน กสทช. จะได้นำไปดำเนินการกำกับดูแลตามกฎหมายของ กสทช. ต่อไป


090861-1927-9-335x503-335x503

ขณะที่ น.พ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การจัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในระดับพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการ  กระจายเสียงและโทรทัศน์อย่างแท้จริง จึงได้ขยายผลการดำเนินการไปยังส่วนภูมิภาค โดยเริ่มจากภาคเหนือและภาคใต้ มีกระบวนการดำเนินการ คือ มีการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาร่วมกัน ระหว่างสำนักงาน กสทช. ภาค/เขต และ สสจ. โดย สสจ. ซึ่งได้รับมอบอำนาจตามพระราชบัญญัติเกี่ยวกับอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ จาก อย. จะให้ความเห็นเกี่ยวกับการโฆษณานั้น ๆ ทั้งนี้ อาจประสานสำนักงาน กสทช. ในส่วนภูมิภาค ในเรื่องการเฝ้าระวังและข้อมูล หลักฐานต่าง ๆ แล้วส่งผลการวินิจฉัยมายังสำนักงาน กสทช. ส่วนกลาง เพื่อดำเนินการกำกับดูแลต่อไป


048A9168

อย่างไรก็ตาม น.พ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เป็นมาตรฐานวิธีการปฏิบัติงานเดียวกันทั้งประเทศ อย. และสำนักงาน กสทช. จึงได้จัดทำแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกลไกการจัดการปัญหาโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในระดับพื้นที่ เพื่อจัดการปัญหาโฆษณาทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (เคเบิ้ลทีวี) โดยให้ สสจ. บูรณาการร่วมกับสำนักงาน กสทช. ภาคและเขต ซึ่งกรณีที่ได้รับการประสานขอให้พิจารณาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพว่าเป็นไปตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบหรือไม่ และหลังจากพิจารณาแล้วเสร็จ ให้จัดทำรายงานส่งผลการพิจารณาส่งกลับหน่วยงาน กสทช. โดยเร็ว โดยใช้รูปแบบหนังสือส่งรายงานการปฏิบัติงานให้กับสำนักงาน กสทช. ส่วนกลาง และเพื่อความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน ขอให้ใช้รูปแบบการประสานงานอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อรับและส่งข้อมูลการเฝ้าระวังและแจ้งผลการพิจารณาตรวจสอบโฆษณา ระหว่าง สสจ. สำนักงาน กสทช. ภาคและเขต ล่วงหน้าไปก่อน จากนั้นจึงจัดทำหนังสือเพื่อแจ้งรายงานการปฏิบัติงานไปยังสำนักงาน กสทช. ส่วนกลาง อย่างเป็นทางการต่อไป


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว