รัฐต้องคำนึงวินัยการคลัง

24 พ.ย. 2561 | 17:06 น.
วินัยการคลัง-2 adhgeh7kahb9g9cb858ab การอนุมัติมาตรการแจกประชาชน จากรัฐบาลในช่วงนี้ และจะมีตามมาอีกหลายระลอก แม้จะมีการปฏิเสธจากผู้มีอำนาจรัฐว่าไม่ได้เป็นประชานิยม หวังคะแนนเสียงทางการเมืองจากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า แต่การโหมมาตรการในห้วงเวลานี้ แม้จะปฏิเสธอย่างไรก็ตาม ก็มิอาจทำให้คิดเป็นอย่างอื่นไปได้ว่าเป็นการปูพรมหาเสียงโดยใช้งบประมาณรัฐเป็นอาวุธที่ทรงพลัง เอารัดเอาเปรียบคู่แข่งทางการเมืองจากพรรคที่สนับสนุนรัฐบาลนี้ให้กลับมามีอำนาจหลังการเลือกตั้ง และมิอาจปฏิเสธเช่นกันว่าเป็นโครงการประชานิยม แม้จะไม่ชอบให้เรียกชื่อนี้ก็ตาม

งบประมาณร่วม 1 แสนล้านในการอนุมัติ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา อันประกอบไปด้วย การเพิ่มการช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน วงเงิน 38,730 ล้านบาท โดยแจกเงินตรง 500 บาท เป็นของขวัญปีใหม่ ช่วยเหลือค่านํ้าประปา-ไฟฟ้า เป็นเวลา 10 เดือน (ธ.ค.61-ก.ย.62) โดยโอนเงินค่าไฟฟ้าให้เดือนละ 230 บาทต่อครัวเรือน และค่านํ้าประปาเดือนละ 100 บาทต่อครัวเรือน ช่วยเหลือค่าเช่าบ้านอีกเดือนละ 400 บาทต่อคน เป็นเวลา 10 เดือน ช่วยเหลือค่าเดินทางรักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป คนละ 1,000 บาท ในปี 2562

ถัดมาเป็นการเพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) รวมกับเบี้ยหวัดบำนาญเป็นเดือนละ 10,000 บาท และขยายเพดานวงเงินบำเหน็จดำรงชีพของผู้รับบำนาญที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เพิ่มอีก 100,000 บาท

[caption id="attachment_352527" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ในแพ็กเกจเดียวกันยังแถมพ่วงโครงการ“บ้านล้านหลัง” ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท ด้วยการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยรายย่อย วงเงิน 50,000 ล้านบาท และสินเชื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย วงเงิน 10,000 ล้านบาท และกลางเดือนธันวาคมนี้ เตรียมอนุมัติมาตรการเพิ่มเติม กระตุ้นการใช้จ่ายให้ถึงผู้มีรายได้ระดับปานกลาง โดยอาจใช้สิทธิภาษีมาลดหย่อนให้ เหมือนกับโครงการช็อปช่วยชาติ ที่ปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าจะไม่ใช้อีกตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
8077347913ffa7ab40e4622882a04cc4 การใช้งบประมาณรัฐบรรเทาเบาบางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเยียวยาคนจน อาจมีความจำเป็น แต่ต้องมีแผนรูปธรรมชัดเจนควบคู่ให้โอกาสในการหลุดพ้นความยากจน ไม่ใช่รัฐมีเพียงแค่แนวคิดแจกแหลกเพียงถ่ายเดียว สะท้อนแนวคิดการขาดวินัยการคลัง ใช้เงินโดยไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ

การใช้งบประมาณหรือนโยบายเศรษฐกิจการคลัง รัฐพึงต้องระมัดระวัง ประเมินปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ การเก็บกระสุนไว้ใช้ในยามฉุกเฉินจำเป็น จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องประเมินเหนือสิ่งอื่นใด มากไปกว่าความหน้ามืดเพื่อหวังคะแนนเสียง

| บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6 ฉบับ 3421 ระหว่างวันที่ 25-28 พ.ย.2561
595959859