ทางออกนอกตำรา : ทำไม 'ประยุทธ์นิยม' ซื้อใจขรก.เกษียณ

24 พ.ย. 2561 | 14:45 น.
 

ทำไม-121212 นายก วิพากษ์วิจารณ์กันทั้งเมือง เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน 2561 มีมติอนุมัติเงินสารพัดโปรเจ็กต์ไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและรายได้ไม่น้อย นัยว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวทางประชารัฐ

แต่ดูเหมือนคนในสังคมกลับเห็นไปในทำนองเดียวกันว่าเป็นนโยบาย “ประยุทธ์นิยม” แจกแหลกข่ม “ประชานิยม ยุคทักษิณ” ไปมิดด้าม

ในเรื่องผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคนนั้น ไม่มีใครวิพากษ์มากนัก เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการดูแลผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ที่มีรายได้น้อยกว่าเส้นความยากจนให้ลืมตาอ้าปาก

ในเรื่องการปล่อยกู้ดอกเบี้ยตํ่าของ ธนาคารอาคารสงเคราะห์บ้านหลังละล้านนั้น แม้จะถูกจัดไปในแพ็กเกจแต่ในทางปฏิบัติแล้วถือเป็นการล้วงเงินจากกระเป๋าผู้ซื้อออกมาผ่อนชำระ เพียงแต่จะได้ดอกเบี้ยในราคาตํ่ากว่าปกติ ผ่อนยาวนานกว่าปกติ แต่ “ผู้ซื้อต้องควักเงิน”
กราฟิก-1 กราฟิก-2
ปมใหญ่ที่คาใจคนคือทำไม ครม.ลุงตู่ จึงจัดหนัก ในการอุ้มชูดูแลข้าราชการเกษียณ

ผมขออนุญาตพาไปดูหลักการ เหตุผล และที่เหลืออยากให้ประชาชน ผู้อ่านตัดสินใจเอาก็แล้วกัน...

เรื่องนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังในการแก้ไขร่างกฎหมายนี้ โดยกรมบัญชีกลางให้เหตุผลว่า เพื่อให้ผู้รับบำนาญสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน

จึงเสนอให้ช่วยเหลือข้าราชการบำนาญกว่า 2 แสนคน รับเงินเพิ่มขึ้นรวมกันกว่า 2 หมื่นล้านบาท

กฎหมายที่แก้ไขมี 3 ฉบับ 1.ร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. …

2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

3.ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

ร่างกฎหมาย 3 ฉบับที่แก้ไขนั้นจะทำให้ปรับเพิ่มเงินให้ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญซึ่งได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดบำนาญ รวมกันทุกประเภท และรวมเงิน ช.ค.บ. แล้ว ยังตํ่ากว่าเดือนละ 1 หมื่นบาท ให้ได้รับ ช.ค.บ. เพิ่มขึ้นเมื่อรวมกับเบี้ยหวัดบำนาญแล้ว ข้าราชการเกษียณแต่ละคนจะได้รับเงินเดือนละ1 หมื่นบาท
คนแก ปรากฏว่าเงื่อนไขนี้ มีข้าราชการที่ได้รับสิทธิ์นี้รวม 5.27 หมื่นคน โดยจะต้องใช้งบ 558 ล้านบาทต่อปี

ประการต่อมา ได้ขยายเพดานของวงเงินบำเหน็จดำรงชีพให้แก่ผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุตั้งแต่ 70 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยให้เพิ่มอีก 1 แสนบาท จากเดิมที่ให้ขอรับได้ในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 4 แสนบาท

ของใหม่ให้ขอรับได้ในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท

หากผู้รับบำนาญเคยขอรับบำเหน็จดำรงชีพไปบางส่วนแล้ว ให้สามารถขอรับได้ไม่เกินจำนวนเงินที่ยังไม่ครบตามสิทธิ์ แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน5 แสนบาท

ปรากฏว่า มีข้าราชการบำนาญที่ได้สิทธิ์ในกลุ่มนี้ 1.59 แสนคน มีการประเมินว่า น่าจะต้องใช้เงินงบประมาณเกือบ 2 หมื่นล้านบาท

[caption id="attachment_352527" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

 

กราฟิก-3 ผมไปสืบค้นข้อมูลมาพบว่า มติครม.ในรูปแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2546 รอบนั้นอนุมัติให้ไม่เกิน 2 แสนบาทต่อคน และพอถึงอายุ 65 ปี จ่ายให้อีกไม่เกิน 2 แสนบาท

มติครม.รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครั้งนี้จึงนับเป็นครั้งที่ 3 ที่มีการจ่ายข้าราชการบำนาญที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป อีกคนละไม่เกิน 1 แสนบาท

มติครม.ชุดนี้จะบังเกิดผลทันที เมื่อกฎกระทรวงประกาศใช้ใน 60 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา

คนเขาตั้งคำถามตัวโตกันว่า ทำไมรัฐบาลลุงตู่จึงกระโจนเข้าไปดูแลข้าราชการบำนาญที่มีอยู่กว่า 7 แสนคน ซึ่งปัจจุบันข้าราชการเหล่านี้มีการใช้สิทธิ์นำบำเหน็จตกทอด 30 เท่าของเงินเดือน มาใช้เป็นบำเหน็จดำรงชีพอยู่ประมาณ 5.27หมื่นคน

ข้าราชการเหล่านี้ มีประสิทธิภาพในการทำงานอะไรจึงได้รับเงินก้อนโตไปจากรัฐบาล
กราฟิก-4 อัตราที่ปรับเพิ่มจาก 4 แสนบาท เป็น 5 แสนบาทนั้นเป็นการขยับขึ้นร่วม 25% รัฐบาล กรมบัญชีกลางใช้ข้อมูลอะไรมาปูนบำเหน็จให้กับข้าราชการเหล่านี้

เพราะประชาชนทั่วไป บรรดาลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวอย่าว่าแต่เงินเดือนจะขึ้นให้ชนะเงินเฟ้อ 3-5% เลย แค่เงินเดือนจะขึ้น 2-3% ก็ทำงานกันหนักหน่วงแทบตาย

แต่นี่ขึ้นให้ 25% แสดงว่าความดีความชอบต้องใหญ่หลวงนัก ใช่มั้ยครับลุงตู่

คนอื่นอาจจะจำไม่ได้ แต่ผมจำแม่น รัฐบาลลุงตู่มิได้เอาใจข้าราชการครั้งนี้ครั้งแรก หากแต่ในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นการประชุมนัดสุดท้ายของปี
กราฟิก-5 ครม.ลุงตู่นี่แหละได้มีมติเห็นชอบเพิ่มค่าครองชีพให้แก่ข้าราชการบำนาญ ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ในระดับซี 7 ลงมา หรือชั้นยศพันโทลงมารวมทั้งสิ้น 533,328 ราย ในอัตรา 4% เพื่อให้มีรายได้ที่เหมาะสมสอดคล้องการปรับเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย

ครั้งนั้น รัฐบาลใช้เงินจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นไป 5,139 ล้านบาท โดยให้เริ่มมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม2557 เป็นต้นไป

4 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก ข้าราชการเกษียณร่วม 7 แสนคน ได้รับเงินกันอีกระลอก

ท่านคิดว่าเพราะอะไร...ส่วนผมนั้นขอบอกว่า ไม่รู้ งง มึน...อึ้ง...กับหลักคิดนี้จริงๆ

|คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3421 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 25-28 พ.ย.2561
595959859