ผู้ว่าการ ธปท. เตือนรับมือ! "3 ปัจจัยเสี่ยง" ชี้ทิศเศรษฐกิจไทยปีหน้า

26 พ.ย. 2561 | 05:00 น.
261161-1159

… ตัวเลขการส่งออกของไทย เดือน ต.ค. ที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยขยายตัว 8.7% สูงกว่าที่ตลาดมองไว้ว่าจะขยายตัวเพียง 3.5-4% ทำให้แรงกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลงได้ระดับหนึ่ง หลังตัวเลขส่งออก เดือน ก.ย. ร่วงเป็นครั้งแรกในรอบ 19 เดือน โดยลดลงถึง 5.2% และสะท้อนเข้าไปในตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศออกมาว่า ขยายตัวเพียง 3.3% เท่านั้น ทั้งที่ตลาดมองว่าน่าจะยืนได้เหนือ 4%

แต่ก็ใช่ว่าจะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจได้ ... "วิรไท สันติประภพ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยปีหน้า ในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2561 สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ เมื่อวันก่อนว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะสะท้อนการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตาม 3 ปัจจัยเสี่ยง คือ มาตรการกีดกันทางการค้า ความผันผวนตลาดเงินตลาดทุนโลก และวัฏจักรดอกเบี้ยที่จะปรับขึ้น

 

[caption id="attachment_352187" align="aligncenter" width="503"] วิรไท สันติประภพ วิรไท สันติประภพ[/caption]

ทั้งนี้ ปีหน้าจะเห็นผลกระทบจากสงครามการค้า ทั้งภาคส่งออกและภาคการผลิต ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่เกิดการผันแปรทางการค้าในหลายรูปแบบ ขณะที่ ส่งออกไทยจะติดร่างแหในสินค้าพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มซัพพลายเชน แต่จะได้อานิสงส์ในสินค้าที่สหรัฐฯ เคยนำเข้าจากจีน ขณะที่ 'จีน' ซึ่งเป็นเป้ากีดกันการค้า จะต้องกระจายลงทุนในอาเซียนและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ของไทย

ส่วนความผันผวนของระบบการเงินโลกนั้น ในอีก 2 ปีข้างหน้า จะเห็นผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้และยืดอายุหนี้ (Roll Over) และต้นทุนจากดอกเบี้ยที่จะสูงขึ้น ทำให้ระหว่างทางทั้งตลาดเงินตลาดทุนจะผันผวนสูง จากภาวะความไม่มั่นใจในปัญหาหนี้ของประเทศเกิดใหม่ ซึ่งหลายประเทศก่อหนี้ระดับสูงจำนวนมาก

ขณะที่ วัฏจักรดอกเบี้ยที่จะปรับเพิ่มนั้น จะเป็นความเสี่ยงที่ไม่ใช่เฉพาะในปีหน้า แต่จากการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ทำให้เกิดแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (Search for Yield) ทั้งการก่อหนี้สูงผ่านธนาคารเงา หรือ การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น หุ้นกู้ไม่มีการจัดอันดับเครดิต การกู้บัตรเครดิตผ่านสินเชื่อส่วนบุคคล การนำเงินไปฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งล่าสุด ธปท. ต้องออกมาตรการกำกับดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะ Search for Yield คนกู้แล้วรับเงินทอนไปลงทุน ไปใช้หนี้ เช่น อัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าบ้าน (LTV) ที่ 120% ของราคาบ้าน 5 ล้านบาท แต่ได้เงินกู้ไป 6 ล้านบาท

สำหรับการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของ ธปท. จะใช้หลักการประเมินสถานการณ์ ประเมินบริบท และประเมินข้อมูลแต่ละครั้งของการตัดสินนโยบาย หรือ Data Independence ซึ่งจะยึดหลักการสำคัญใน 3-4 ประเด็น คือ 1.พัฒนาการ หรือ คาดการณ์ของอัตราเงินเฟ้อ 2.ความเข้มแข็งของการขยายตัวของเศรษฐกิจ 3.เสถียรภาพของระบบการเงิน 4.ความสามารถในการดำเนินนโยบายในอนาคต ซึ่งต้องมองไกลถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิด เพื่อไม่ให้เกิดจุดเปราะบางต่อระบบเศรษฐกิจ


090861-1927-9-335x503-335x503

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด แม้จะมีกรรมการ 3 เสียง ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ อีก 4 เสียง ให้คงดอกเบี้ย แต่กรรมการต่างเห็นตรงกันว่า นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังจำเป็นกับประเทศไทย แต่อาจลดระดับความผ่อนคลายที่เคยอยู่ในระดับสูงให้ปรับลดลง โดยยังประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจข้างหน้า แม้ว่าจะมีแรงขับเคลื่อนที่ดี แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจนอกประเทศที่ปรับสูงขึ้น แต่การที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานเป็นพิเศษ ก็เป็นจุดเปราะบางผลข้างเคียงต่อระบบการเงินไทยเช่นกัน

"แม้ว่าระบบเศรษฐกิจไทยจะสามารถรองรับอัตราดอกเบี้ยได้ แต่ในภาวะข้างหน้า เราต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูงจากเศรษฐกิจโลก จากการค้าโลก จากสงครามการค้าโลก หรือ ตลาดเงินตลาดทุนผันผวน จึงต้องให้ความสำคัญเรื่องการรักษาความสามารถในการดำเนินนโยบายการใช้ Policy Space ไม่ว่านโยบายการเงิน หรือ นโยบายการคลัง เพื่อให้แน่ใจว่า การใช้ Policy Space มีประสิทธิผล"


……………….
รายงานพิเศษ โดย เซกชัน : การเงิน

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,421 วันที่ 25 - 28 พ.ย. 2561 หน้า 24+23

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ธปท. รุกคืบ! ปฏิรูปกฎหนุนแบงก์-ธุรกิจ
ธปท. ชี้จีดีพี Q3 โตต่ำ เป็นปัจจัยชั่วคราว มั่นใจ Q4 เด้งกลับขยายตัวต่อ


เพิ่มเพื่อน
595959859