"โรแยล พลัส" จับนวัตกรรมใส่ผลิตภัณฑ์ สู่ตลาดสากล

27 พ.ย. 2561 | 03:50 น.
แรกเริ่มเดิมที บริษัท โรแยล พลัส จำกัด ก็เป็นเหมือนกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ทั่วไป ที่นึกอยากจะผลิตอะไรออกมาจำหน่ายก็ผลิตออกมา โดยไม่ได้สนใจว่าจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคหรือไม่ แต่บริษัทถือว่าดำเนินกลยุทธ์ได้อย่างถูกทาง เมื่อถึงเวลาที่ต้องมีการปรับเปลี่ยน ทำให้บริษัทสามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ และมียอดขายที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดภายในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา นี่คือ คำพูดของ "สิริวรรณ เกษวิเศษ" ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการของบริษัท ที่เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" อย่างตรงไปตรงไป


BB4A1507

จากของฝากเพื่อน สู่ธุรกิจ
สิริวรรณ บอกว่า ที่มาที่ไปของจุดเริ่มต้นไอเดียในการทำธุรกิจของบริษัท มาจากการที่เจ้าของบริษัทต้องเดินทางไปต่างประเทศตลอด จากการทำธุรกิจนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กจากประเทศจีนมาจำหน่ายในประเทศไทย ดังนั้น จึงมีโอกาสพบกับเพื่อนนักธุรกิจบ่อยครั้ง และสิ่งที่มักจะถูกถามถึงและชมอยู่เสมอ ก็คือ นํ้ามะพร้าวที่มีรสชาติอร่อยแตกต่างจากประเทศอื่น เพราะความหอมที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเมื่อได้ยินแบบนั้นอยู่เสมอ จึงกลับมาคิดว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่จะนำนํ้ามะพร้าวจากไทยไปฝากได้ ซึ่งสิ่งที่สำคัญ ก็คือ จะต้องคงความเป็นนํ้ามะพร้าวสดอยู่ในแพ็กเกจก่อนที่จะถูกเปิดออกดื่ม เพราะหากจะให้ถือไปเป็นลูกแล้วไปปอกรับประทานคงจะไม่สะดวก

ทั้งนี้ จึงได้เริ่มเปิดโรงงานขนาดเล็กเพื่อผลิตนนํ้ามะพร้าว โดยไม่ได้ตั้งใจจะทำเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง มุ่งหวังเพียงแค่ให้ได้มีผลิตภัณฑ์ไปฝากเพื่อนนักธุรกิจ ส่วนที่เหลือก็จำหน่ายออกไป เพราะยังทำธุรกิจนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบเดิมอยู่ โดยตลาดแรกที่ส่งนํ้ามะพร้าวไปจำหน่าย คือ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งปรากฏว่า ได้ผลตอบรับที่ดีอย่างมาก จนต้องเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต เพื่อตอบรับออร์เดอร์ที่มีเข้ามาไม่หยุด และทำท่าว่าหากเป็นแบบนี้ต่อไปธุรกิจอาจจะไปไม่รอด เพราะขนาดของโรงงานไม่ตอบโจทย์

"บริษัทจึงได้ดำเนินการขยายโรงงานไปยังสถานที่แห่งใหม่ ซึ่งมีพื้นที่ขนาด 88 ไร่ จากเดิมที่มีพื้นที่ไม่ถึง 10 ไร่ พร้อมกับลงทุนซื้อเครื่องจักร และเริ่มเดินเครื่องผลิตประมาณไตรมาสที่ 3/2558 และเดินเครื่องเต็มประสิทธิภาพในไตรมาส 2/2559 โดยเริ่มมีผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นเพิ่มเติมเข้ามา จนปัจจุบันมีให้เลือกอย่างหลากหลาย เช่น นํ้าผสมเม็ดแมงลัก นํ้าผึ้งจากดอกลำไยผสมโสมแดงพร้อมเมล็ดเซีย และนํ้านมมะพร้าว เป็นต้น"


จาก 26 ล้าน สู่ 700 ล้าน
สิริวรรณ บอกต่อไปว่า หลังจากที่เริ่มก่อตั้งโรงงาน สิ่งแรกที่บริษัทตามหา ก็คือ ทีมวิจัยและพัฒนา (R&D) จนสามารถค้นพบทีมที่แข็งแกร่งและอยู่คู่กับบริษัทมาจนถึงปัจจุบัน โดยกลายเป็นจุดแข็งของบริษัทด้านหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้โรงงานแห่งใหม่ ส่งผลให้บริษัทสามารถขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดได้ จนนำไปสู่รายได้ที่เติบโตขึ้นภายในระยะเวลา 5-6 ปี ไปสู่หลัก 700 ล้านบาท ในปี 2561 จากเดิมที่ปี 2555 บริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 26 ล้านบาทเท่านั้น


BB4A1487

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้รายได้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด มองว่า มาจากการนำนวัตกรรม ระบบคุณภาพ  และประสิทธิภาพการผลิตมาปรับใช้ โดยแนวคิดการนำเสนอผลิตภัณฑ์ของบริษัท ก็คือ การคงความเป็นธรรมชาติไปสู่ผู้บริโภค เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมและมีผลต่อการเติบโตของยอดขาย อย่าง นํ้านมมะพร้าว บริษัทได้ใส่นวัตกรรมเพื่อให้นํ้านมคงสภาพความเป็นนํ้านม เพราะในมุมมองของผู้บริโภคต่างประเทศ คำว่า "นํ้านม" จะต้องมีสีขาวข้น ไม่มีการแยกตัวของชั้นนํ้า ซึ่งดูเหมือนผลิตภัณฑ์เสีย แม้ว่าผู้บริโภคคนไทยจะเข้าใจธรรมชาติของนํ้ากะทิ แต่ในต่างประเทศไม่ใช่ การใส่นวัตกรรมจึงตอบโจทย์ได้ เพราะลูกค้ากว่า 95% ของบริษัทมาจากการส่งออก

"นํ้านมมะพร้าว ก็คือ ส่วนผสมของนํ้ามะพร้าวกับกะทิ หากเรานำเสนอแบบบ้าน ๆ ที่มองเห็นการแยกตัวของชั้นน้ำ เชื่อว่าคงจะไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้บริโภคและอาจจะขายได้แค่ในละแวกประเทศใกล้เคียงเท่านั้น เช่นเดียวกับนํ้าผสมเม็ดแมงลัก ซึ่งเราใส่นวัตกรรมให้เม็ดแมงลักกระจายตัวไปอยู่ทั่วขวด จนดูน่ารับประทานมากกว่าการที่เม็ดแมงลักจมอยู่ก้นขวดแล้วต้องเขย่าก่อนดื่ม เป็นต้น โดยมองว่า หากไม่มีนวัตกรรม คงไม่สามารถขายได้ในตลาดโลก ซึ่งทำให้สินค้าแตกต่างจากสภาพธรรมชาติที่มี โดยจะทำอย่างไรให้สภาพดูแตกต่างจากจุดอ่อนทางธรรมชาติ แต่ให้คงความเป็นธรรมชาติอยู่ในขวด เพื่อให้คงรูปอยู่บนชั้นวางขายที่ใดก็ได้ของโลก ยอดขายจึงตามมาด้วยความพยายามทั้งหมด ซึ่งเราจะมองที่ปลายทางตั้งแต่แรกว่าจะขายได้ไหมหากทำออกมา"


ตั้งเป้า 900 ล้าน ปี 62
สิริวรรณ บอกต่ออีกถึงกลยุทธ์การทำตลาดระยะต่อไป ว่า บริษัทจะมุ่งเน้นที่ตลาดเอเชียเป็นสำคัญ เนื่องจากมองว่า มีสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่าแถบตะวันตก แต่ก็ยังไม่ละทิ้งพื้นที่ทางการตลาดทางยุโรปและสหรัฐฯ เพราะยังสามารถขยายได้อีกมากจากขนาด และส่วนแบ่งทางการตลาดที่บริษัทมีอยู่ ซึ่งยังไม่สูงมาก โดยในส่วนของเอเชียนั้นจะรุกตลาดเข้าไปยังประเทศฟิลิปปินส์ รวมถึงอินโดนีเซียและกลุ่ม CLMV


BB4A1483

นอกจากนี้ บริษัทจะเริ่มเข้าไปทำตลาดด้วยตนเองมากขึ้นในตลาดตะวันออกกลาง หลังจากที่ผ่านมา บริษัทจะส่งผลิตภัณฑ์ไปยังซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งเป็นเสมือนศูนย์กลาง (HUB) หลังจากนั้นก็จะมีการกระจายผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศอื่น ๆ โดยล่าสุด เริ่มเข้าไปทำตลาดที่ประเทศเยเมนได้เรียบร้อยแล้ว และกำลังเริ่มเจรจากับคู่ค้าในประเทศอิหร่าน

ด้านของยุโรปบริษัทจะเริ่มเข้าทำตลาดที่ประเทศอังกฤษมากขึ้น พร้อมทั้งขยายตลาดมายังฝั่งยุโรปตะวันตกเดิม โดยปัจจุบัน สามารถหาพันธมิตรทางธุรกิจได้แล้ว จากเดิมที่มีฐานลูกค้าอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ขณะที่ ทางด้านสหรัฐฯ ก็กำลังวางแผนที่จะขยายตลาดเพิ่มเติม โดยกำลังเตรียมการเรื่องการออกงานแสดงสินค้าที่นั่น แต่ในปีหน้าคงจะเป็นการไปสำรวจงานก่อน ว่า คุ้มค่ากับการไปออกงานแสดงสินค้าหรือไม่ เพราะพาร์ตเนอร์เดิมที่สหรัฐฯ ค่อนข้างจะทำได้ดีอยู่แล้ว ตั้งแต่ขวดแรกที่เริ่มเข้าไปจำหน่าย

"ด้วยความที่เราเป็นโรงงานผลิตกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัท ก็คือ การทำให้คู่ค้าได้รู้จักบริษัท สร้างการรับรู้  เพื่อให้นำผลิตภัณฑ์ของบริษัทไปต่อยอดหรือจำหน่ายต่อ โดยเรามีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและหลายแพ็กเกจ เพื่อให้คู่ค้าได้เลือกนำเข้าไปทำตลาด เพราะความต้องการของแต่ละประเทศและข้อกฎหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งในปีหน้าผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทที่จะเจาะตลาดยังเป็นนํ้านมมะพร้าว ซึ่งจะมีการปรับประยุกต์รสชาติอื่นเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค เช่น กาแฟผสมนมมะพร้าว นมมะพร้าวผสมข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นต้น โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบรัทจะอยู่ภายใต้แบรนด์ "โคโค่ โรแยล" (CoCo Royal) และ "นิต้า" (Nit@)"


BB4A1482

ขณะที่ ตลาดในประเทศนั้น ล่าสุด บริษัทได้มีผลิตภัณฑ์นํ้านมถั่วเหลืองเข้าวางจำหน่ายที่เซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขา โดยบริษัทมีแผนที่จะนำผลิตภัณฑ์เข้าไปวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตระดับพรีเมียม ขั้นตอนในปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับร้านแม็กซ์แวลู (Maxvalu), วิลล่า มาร์เก็ต (Villa Market) และท็อปส์ มาร์เก็ต พรีเมียม โดยจากกลยุทธ์ในการทำตลาดดังกล่าว เชื่อว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 900 ล้านบาท ในปี 2562


เล็งเข้า MAI อีก 2 ปี
สิริวรรณ บอกอีกว่า บริษัทมีแผนที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (MAI) ในอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า โดยมองว่าการดำเนินการดังกล่าวจะได้ในสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ แต่ถือว่าเป็นมูลค่าทางธุรกิจ นั่นก็คือ ความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะทำให้คู่ค้าจากทั่วโลกมั่นใจมากขึ้น จากการที่บริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะมีผู้ถือหุ้นจำนวนมาก โดยบริหารงานในลักษณะที่ถูกตรวจสอบ มีการควบคุมภายใน และมีการตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ซึ่งน่าจะมีมูลค่ามากที่สุด

ด้านเงินทุนหรือเครื่องมือทางด้านการเงินก็จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนบริษัทให้เติบโตได้มากขึ้น เนื่องจากบริษัทยังสามารถขยายกำลังการผลิตได้อีกมาก รวมถึงช่องว่างทางการตลาดที่ยังไม่ได้เจาะเข้าไปทำตลาด การเป็นเจ้าของคนเดียว ทำให้เงินทุนมีจำนวนจำกัด หากได้เงินทุนเข้ามากจะช่วยขยายตลาดได้จากปริมาณความต้องการที่มีรองรับอยู่แล้ว ซึ่งจากทีม R&D ที่แข็งแกร่ง บริษัทไม่มีความกังวลเลยว่า ไอเดียในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จะมาถึงทางตัน


หน้า 13 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3421 วันที่ 25-28 พฤศจิกายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว