รถไฟชานเมืองสายสีแดงยลโฉมสถานีกลางบางซื่อและดอนเมือง

25 พ.ย. 2561 | 00:08 น.
นับว่าเป็นเมกะโปรเจ็กต์ที่จะพลิกโฉมประเทศไทยอย่างโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิตและสถานีกลางบางซื่อ ขณะนี้ภาพรวมความก้าวหน้าโครงการ ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2561 แบ่งตามสัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 (งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) ประกอบด้วยสถานีกลางบางซื่อ และสถานีจตุจักร ทางรถไฟยกระดับ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าชานเมือง ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล ตลอดจนถนนเลียบทางรถไฟและถนนทางข้าม มีความคืบหน้าคิดเป็น 77.37%

สัญญาที่ 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต) ประกอบด้วย ทางรถไฟยกระดับและทางรถไฟระดับดิน 8 สถานี ถนนเลียบทางรถไฟ สะพานกลับรถ สะพานข้ามทางรถไฟ และระบบระบายนํ้า มีความคืบหน้ารวมคิดเป็น 99.44% สัญญาที่ 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล) สำหรับรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต มีความก้าวหน้าของงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จคิดเป็น 38.24%

โดยจากการที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าไปเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน.ที่ผ่านมา นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)ยืนยันว่าได้ปรับงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือน พฤศจิกายน 2562

TP12-3421-เกาะติด

ทั้งนี้เมื่อสัญญาก่อสร้างแล้วเสร็จจะเร่งสัญญาที่ 3 ต่อเนื่องกันไป โดยในเดือนธันวาคมนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญมาจากญี่ปุ่นเพื่อร่วมหารือกัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อให้พร้อมที่จะเปิดให้บริการเดือนมกราคม 2564

สำหรับการจัดหาขบวนรถขบวนแรกจะเริ่มเข้ามาช่วงเดือนสิงหาคม 2562 จากจำนวนรวมทั้งสิ้น 130 ตู้พื่อนำไปให้บริการทั้งเส้นทางบางซื่อ-รังสิตและบางซื่อ-ตลิ่งชัน รูปแบบรถชุด 6 คันให้บริการช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และรถชุด 4 คันจะใช้ในเส้นทางช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะเวลาให้บริการประมาณ 3-5 นาทีต่อขบวน โดยจะใช้บุคลากรไม่น้อยกว่า 800 คน

โดยสถานีกลางบางซื่อ ได้ออกแบบให้รองรับและเชื่อมต่อการคมนาคมอย่างหลากหลาย เป็นศูนย์กลางระบบรางอย่างสมบูรณ์แบบและยังนำหลักการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม (TOD) มาใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนา มีรูปแบบการก่อสร้างแบ่งเป็นอาคาร 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นใต้ดิน เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถประมาณ 1,700 คัน โดยมีโถงเชื่อมต่อจากพื้นที่จอดรถขึ้นไปยังชั้นที่ 1 โดยชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว มีโถงพักคอยและรับผู้โดยสาร รวมถึงพื้นที่พาณิชยกรรม และร้านค้า สามารถเชื่อมต่อกับ MRTได้

ส่วนชั้นที่ 2 เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) มี 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล มี 8 ชานชาลา ในส่วนชั้นที่ 3 เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตรเชื่อมภูมิภาค (รถไฟทางไกล)มีทั้งหมด 10 ชานชาลา แบ่งเป็น รถไฟสายใต้ 4 ชานชาลา รถไฟสายเหนือ และสายอีสานรวม 6 ชานชาลา

ทั้งนี้ยังสามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคตและรถไฟฟ้าเชื่อม 3 ท่าอากาศยานได้อีก 2 ชานชาลา และมีทางเดินเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน โดยปัจจุบันสถานีกลางบางซื่อมีความคืบหน้าในการก่อสร้าง 60.28%

[caption id="attachment_351696" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

สำหรับสถานีดอนเมือง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานีสำคัญรองรับการเชื่อมโยงรถไฟกับท่าอากาศยาน ตัวสถานีตั้งอยู่บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 และถนนวิภาวดีรังสิต ตรงข้ามอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานดอนเมือง ใกล้สถานีรถไฟดอนเมืองในปัจจุบัน ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งก่อสร้างสกายวอร์กเชื่อมเข้าท่าอากาศยานดอนเมือง

โครงสร้างสถานีแบ่งเป็น 4 ชั้น ได้แก่ ชั้นพื้นดิน (Ground Floor Level) เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถรับ-ส่งผู้โดยสาร ส่วนชั้นที่ 2 (Concourse Level) เป็นชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร และเป็นพื้นที่รองรับผู้โดยสารที่จะผ่านขึ้นไปยังชานชาลา รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานดอนเมืองได้อีกด้วย ชั้นที่ 3 (LD Platform Level) รถไฟทางไกล และ ชั้น 4 (CT Platform Level) รถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยปัจจุบันมีความคืบหน้าในการก่อสร้างถึง 98.49%

ทั้งนี้โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ถึง 8 หมื่นคน/วัน รวมทั้งรองรับการเดินทางระบบรางทุกประเภท ทั้งรถไฟชานเมือง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรล ลิงค์ และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นการพลิกโฉมการเดินทางด้วยระบบรางของประเทศไทย และกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,421 วันที่ 25 - 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

595959859