ใครคือตัวปัญหา?

30 พ.ย. 2561 | 10:35 น.
เทรดวอตช์

พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล

ผู้เชี่ยวชาญการค้าระหว่างประเทศ

การให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ Generalized System of Preferences : GSP) คือการให้สิทธิแก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ให้ส่งสินค้าไปยังประเทศผู้ให้ โดยเสียภาษีตํ่ากว่าอัตราปกติ แต่จะครอบคลุมทุกสินค้าหรือครอบคลุมตามจำนวนและประเภทที่ประเทศผู้ให้จะกำหนดเท่านั้น ประเทศไทยก็ได้รับสิทธินี้เช่นกันทั้งจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป จุดประสงค์ก็เพื่อให้ประเทศที่ได้รับสิทธินี้ได้มีโอกาสพัฒนามากขึ้น ดังนั้นเงื่อนไขระงับสิทธิจึงกำหนดจากตัวเลขรายได้ต่อหัวประชาชนต่อคนต่อปี เช่น หากเกิน 8,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (โดยประมาณ) แล้วก็จะถูกตัดสิทธิ หรือหากสินค้าในกลุ่มที่ได้รับสิทธินั้นถูกส่งไปเกิน 25% ของการนำเข้าทั้งหมดในตัวเดียวกันนี้ต่อปี เป็นต้น เงื่อนไขที่ผมกล่าวนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ยาก แต่จะมีผู้ประกอบการกี่คนที่เข้าใจ? และยังรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งต่อไปได้หลังจากถูกตัดสิทธิ? หรือเราเคยวางแผนล่วงหน้าพัฒนาต้นทุนเพื่อเตรียมรับการแข่งขันหลังจากสิทธินี้ถูกตัดหรือไม่? ส่งออก

นอกจากสิทธิทางภาษีข้างต้นแล้วสหภาพยุโรป (อียู) ยังให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดหรือ Least Developed Countries เพิ่ม เพื่อให้ส่งสินค้าเข้าในกลุ่มโดยไม่ต้องเสียภาษีและโควตาเลย แต่ยกเว้นสินค้าอาวุธหรือเกี่ยวกับอาวุธ เรียกว่า Everything But Arms (EBA) ซึ่งมี 3 ประเทศในอาเซียนที่ได้รับสิทธินี้ คือ กัมพูชา เมียนมาและลาว เราจึงได้เห็นว่ามีการย้ายฐานการผลิตสินค้าเครื่องนุ่งห่มเข้าไปที่ 3 ประเทศนี้ แต่เมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาเราจะได้ยินข่าวว่าสหภาพยุโรปประกาศว่าจะต้องตัดสิทธิพิเศษ EBA ที่ให้แก่กัมพูชาเพราะเลือกตั้งรัฐบาลที่ผ่านมาไม่โปร่งใสและยังมีการจำกัดคู่แข่งขันทางการเมืองอย่างรุนแรง หากกัมพูชาถูกตัดสิทธินี้ก็จะเกิดคำถามว่ารัฐบาลจะจัดการกับแรงงานประมาณ 800,000 คน ในอุตสาหกรรมนี้อย่างไร?  ขณะเดียวกันโอกาสการลงทุนจะเพิ่มที่ประเทศเมียนมาและลาวเหมือนกรณีสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯที่เป็นผลให้จีนต้องย้ายฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปยังเวียดนาม TP8-3421-B

ทั้ง 2 เหตุการณ์ที่ผมเล่ามาคร่าวๆ นี้ก็เพื่อจะนำไปสู่อีก 2 ภาพของปัญหาของการค้าและการลงทุนที่มีผลกระทบรุนแรงกว่า คือ เรื่องแรก เป็นเรื่องเก่าที่ยังมีผลกระทบถึงเราด้วยก็คือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนซึ่งข่าวล่าสุดคือประเทศจีนได้มีข้อเสนอบางอย่างไปยังสหรัฐฯที่อาจจะมีผลให้สหรัฐฯ งดการขึ้นภาษีสินค้าชุดสุดท้าย จากมูลค่านำเข้าสินค้า 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากยังไม่เป็นที่ยืนยัน ดังนั้นเราคงต้องรอดูต่อไป ส่วนเรื่องที่ 2 คือ จากเหตุการณ์ที่ผู้นำ 21 ประเทศในกลุ่ม APEC ที่ประชุมกันที่ปาปัวนิวกินี (ระหว่าง 17-18 พฤศจิกายน) ว่าสหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และญี่ปุ่นกำลังแข่งกับจีนในโครงการที่จีนจะลงทุนโครงสร้างไฟฟ้าในปาปัวนิกินีเพื่อสกัดกั้นจีนไม่ให้ขยายโครงการ Belt and Road Initiative หรือ Yuan Diplomacy จนคุมไม่อยู่

แม้ทั้ง 2 เหตุการณ์หลังนี้จะต่างกันในรายละเอียด แต่ที่เหมือนกันคือ เป็นการยืนยันอีกครั้งว่าเศรษฐกิจและการเมืองนั้นเป็นฝาแฝดกัน คำถามจึงเกิดขึ้นว่าเราจะให้นักการเมืองเข้าใจเศรษฐกิจให้มากขึ้นกว่าอำนาจทางการเมืองได้อย่างไร?

595959859

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,421 วันที่ 25-28 พฤศจิกายน 2561