อีซีเล็งปรับอิตาลี บีบรักษาวินัยการคลังลดหนี้131%ของจีดีพี

07 ธ.ค. 2561 | 11:33 น.
ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายแมตทีโอ ซาลวินี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในประเทศของอิตาลี เพิ่งจะออกมายืนยันว่าอิตาลีจะไม่ยอมสยบให้กับแรงกดดันจากภายนอก และจะไม่ยอมถอยออกจากจุดยืนเดิมของแผนการที่จะเพิ่มตัวเลขการขาดดุลงบประมาณในปีหน้า (2562) เขายอมรับว่าแรงกดดันเกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจเป็นเพราะมีนักปั่นราคาเก็งกำไรในตลาดการเงินอย่างจอร์จ โซรอส ที่อยากให้เศรษฐกิจของอิตาลีล่มสลายเพื่อหวังมาช้อนซื้อสินทรัพย์คุณภาพดีในราคาถูกๆ แต่ถึงตอนนี้ กรรมาธิการยุโรป (European Commission หรือ อีซี)ได้ออกมาแสดงจุดยืนเช่นกันว่า ถ้ารัฐบาลอิตาลียังมุ่งมั่นที่จะยืนกรานร่างงบประมาณปี 2562 ฉบับเดิมที่กรรมาธิการยุโรปให้กลับไปทบทวนปรับแก้ไขเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อิตาลีก็คงต้องเจอกับมาตรการไม้แข็งที่กรรมาธิการยุโรปจำเป็นต้องนำมาใช้เพื่อให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) รักษาวินัยทางการเงินการคลังให้ได้ตามมาตรฐานของประชาคม

กรรมาธิการยุโรป ชี้แจงว่า ร่างงบประมาณปี 2562 ของอิตาลีที่ยื่นเสนอมานั้นไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของอียู ที่ต้องการให้ประเทศสมาชิกพยายามรักษาดุลงบประมาณและลดภาระหนี้ภาครัฐลงมา แต่รัฐบาลอิตาลีกลับเสนอร่างงบประมาณที่ขยายโอกาสให้ขาดดุลงบประมาณได้มากขึ้นและเปิดช่องให้รัฐบาลเพิ่มภาระหนี้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ อีซีจึงตัดสินใจที่จะนำมาตรการเชิงลงโทษที่เรียกว่า “Excessive Deficit Procedure” หรือ มาตรการ EDP มาใช้กับอิตาลี ซึ่งอาจจะนำไปสู่การที่อิตาลีจะต้องจ่ายค่าปรับก้อนใหญ่

10-3421.indd รัฐบาลอิตาลีซึ่งเป็นรัฐบาลผสมระหว่างพรรคการเมืองประชานิยมกับพรรคอนุรักษ์นิยมขวาจัดได้เสนอร่างงบประมาณสำหรับปีหน้าที่ตั้งเป้าขยายการขาดดุลงบประมาณเป็น 2.4% ของจีดีพี ซึ่งมากกว่าที่รัฐบาลชุดก่อนเคยเสนอไว้ที่ 0.8% ของจีดีพี และเกือบจะแตะเพดาน 3% ของจีดีพีภายใต้กฎเกณฑ์ของสมาชิกยูโรโซน โดยรัฐบาลอิตาลีมีแผนเพิ่มการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมและอื่นๆ แต่อีซีเห็นว่า การทำเช่นนั้นจะทำให้อิตาลีสุ่มเสี่ยงทางเศรษฐกิจมากขึ้น “คุณไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้พอก ด้วยการสร้างหนี้เพิ่ม นี่คือจุดเสี่ยงที่จำเป็นต้องให้ความสนใจ” นายวอลดิส ดอมโบรฟสกีส์ รองประธานฝ่ายการเจรจาด้านสังคมและสกุลเงินยูโร ให้ความเห็นและว่า ปัญหาของอิตาลีเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับทุกคน ทุกประเทศที่เป็นสมาชิกยูโรโซน (ประเทศสมาชิกอียูที่ใช้สกุลเงินยูโรร่วมกัน) ต่างก็เสมือนอยู่ในทีมเดียวกันและจะต้องเล่นภายใต้กฎกติกาเดียวกัน “ร่างงบประมาณของอิตาลีที่เสนอมาจะส่งผลเสียและสกัดกั้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอิตาลีเอง และอาจจะทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องนำมาตรการเชิงรัดเข็มขัดมาใช้ในอนาคต” ปัจจุบันตัวเลขหนี้ภาครัฐของอิตาลีสูงถึง 2.3 ล้านล้านยูโร หรือคิดเป็น 131% ของจีดีพี (ประมาณ 87.4 ล้านล้านบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยน 38 บาท = 1 ยูโร)

สำหรับกระบวนการของมาตรการ EDP โดยคร่าวๆก็คือ กรรมาธิการยุโรปจะแจ้งอย่างเป็นทางการต่อกลุ่มรัฐมนตรีคลังประเทศสมาชิกยูโรโซนว่า จะนำมาตรการ EDP มาใช้กับอิตาลี เนื่องจากอิตาลีทำผิดกฎเกณฑ์การเงินของอียู จากนั้นรัฐบาลอิตาลีจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงสถานะให้ดีขึ้น และต้องกำหนดกรอบของเวลาตลอดจนเส้นตายของการบรรลุเป้าหมาย หากไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของอีซีและไม่ปฏิบัติตามแผน ก็จะต้องพบกับโทษปรับเป็นเงิน

นายแมตทีโอ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในประเทศของอิตาลี กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า อิตาลีจะใช้ช่องทางของการเจรจาโดยยึดมั่นในจุดยืนของตัวเอง และหวังว่ากรรมาธิการยุโรปจะไม่ใช้มาตรการเชิงลงโทษกับอิตาลี แต่หากอีซียังยืนกรานจะใช้มาตรการดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นการ “ไม่ให้เกียรติ” หรือไม่คำนึงถึงหัวจิตหัวใจของชาวอิตาลีเลย ทั้งนี้ นายกุยเซปเป้ คอนเต นายกรัฐมนตรีอิตาลี มีกำหนดพบปะหารือประเด็นดังกล่าว กับนายฌอง-คล้อด ยุงเคอร์ ประธานกรรมาธิการยุโรปในช่วงสุดสัปดาห์นี้

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,421 ระหว่างวันที่ 25-28 พฤศจิกายน 2561

595959859