‘เว็บไซต์รวมข่าว-คลิป’หนาว ยุโรปชงก.ม.เก็บค่าธรรมเนียมแชร์ลิงก์เนื้อหา

28 พ.ย. 2561 | 14:38 น.
อนาคตของเว็บไซต์ “กูเกิลนิวส์” ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของกูเกิลที่รวบรวมข่าวสารจากหลากหลายสำนักข่าวและสำนักพิมพ์เข้าไว้ด้วยกัน อาจจะต้องปิดฉากลงในเร็วๆ นี้สำหรับตลาดยุโรป ถ้าหากสหภาพยุโรป หรือ อียู เดินหน้าผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่ที่เรียกกันในขณะนี้ว่า “link tax” เปิดช่องให้เจ้าของสื่อสามารถเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์การเผยแพร่เนื้อหาข่าวจากกูเกิ้ลได้

“ลิงก์แท็กซ์” (link tax) หรือการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากการที่กูเกิล (หรือเว็บไซต์อื่นๆ) นำลิงก์ข่าวจากแหล่งต่างๆขึ้นมาให้บริการบนเว็บไซต์  เป็นส่วนหนึ่งของข้อกฎหมายที่กำลังถูกนำเสนอโดยอียูซึ่งจะเปิดโอกาสให้บรรดาสำนักข่าวหรือสำนักพิมพ์ ได้ประโยชน์จากลิขสิทธิ์เนื้อหาข่าวสารของตัวเอง ที่ถูกแชร์ในโลกออนไลน์ผ่านเว็บไซต์อย่างเฟซบุ๊ก หรือยูทูบ ร่างกฎหมายนี้ยังครอบคลุมถึงเว็บไซต์รวบรวมข่าวจากหลายสำนักอย่างเช่น กูเกิลนิวส์ (Google News)ด้วย  ถ้าหากร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับการผลักดันจนมีผลบังคับใช้ในอนาคต นั่นก็หมายความว่า กูเกิลจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่สำนักข่าวหรือสำนักพิมพ์ เมื่อข่าวนั้นปรากฎในช่อง “ค้นหา” หรือ search ของเว็บกูเกิลนิวส์

ริชาร์ด จิงกราส รองประธานของกูเกิลให้สัมภาษณ์กับเดอะ การ์เดี้ยน สื่อใหญ่ของประเทศอังกฤษว่า บริษัทมีความเป็นห่วงในเรื่องนี้มาก ว่าในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่อียูจะออกกฎหมายบีบบังคับให้ทางเว็บไซต์ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับข่าวที่ถูกแชร์ขึ้นมาบนเว็บไซต์ และถ้าหากเป็นเช่นนั้น ก็มีความเป็นไปได้ ที่บริษัทอาจจะตัดสินใจปิดให้บริการเว็บไซต์กูเกิ้ลนิวส์ในประเทศสมาชิกอียู

TP10-3421-1 ก่อนหน้านี้ในปี 2557 กูเกิลเคยปิดให้บริการเว็บไซต์ข่าว “กูเกิลนิวส์” ในประเทศสเปนมาแล้ว ด้วยเหตุผลที่คล้ายๆกัน นั่นคือกฎหมายของสเปนบีบบังคับให้บริษัทจำเป็นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมลิขสิทธิ์ให้แก่สำนักพิมพ์และสำนักข่าวของสเปน “เราไม่อยากเห็นเรื่องนี้เกิดขึ้นในยุโรป  สเปนยังถือว่าเป็นตลาดที่มีขนาดเล็กกว่ากันมากเมื่อเทียบกับอียูทั้งภูมิภาค”  ผู้บริหารของกูเกิลกล่าว และว่าหากกฎหมายนี้ผ่านการเห็นชอบและมีการบังคับใช้ในอนาคต ก็เชื่อได้ว่าจำนวนข่าวที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจะเสิร์ชหาได้บนเว็บไซต์รวมข่าวหรือเว็บไซต์ค้นหาข้อมูลอย่างกูเกิล จะลดลงไปอย่างมาก อีกทั้งเว็บไซต์ข่าวที่จะเกิดใหม่ก็จะเกิดได้ยาก

มาตรา 11 ของร่างกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ของอียู (EU Copy right Directive) เปิดช่องให้สำนักพิมพ์หรือสำนักข่าว ซึ่งปัจจุบันต่างสูญเสียส่วนแบ่งตลาดรวมทั้งเม็ดเงินโฆษณาให้กับสื่อออนไลน์ สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากเว็บไซต์กูเกิลนิวส์ หรือเว็บอื่นๆ ที่นำลิงก์ข่าวของตนไปเผยแพร่ แต่หากจะมองในมุมกลับ  เจ้าของเนื้อหาข่าวเหล่านี้ ก็ต้องพึ่งพาและขอบคุณเว็บไซต์กูเกิล ที่เป็นเหมือนสะพานนำพาผู้ชมนับล้านๆ คนไปยังเว็บต้นทางของข่าวสารเหล่านั้น และช่วยให้ทางเว็บไซต์ข่าวต้นทางมีรายได้เพิ่มขึ้น

ส่วนมาตรา 13 ของร่างกฎหมาย เสนอให้เว็บไซต์อย่างยูทูบ (ซึ่งเป็นของกูเกิลเช่นกัน) ต้องจ่ายเงินซื้อสิทธิ์หรือใบอนุญาตในการเผยแพร่เนื้อหา อย่างเช่น มิวสิกวิดีโอ สมาชิกรัฐสภายุโรปจำนวนมากให้การสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวในการประชุมในเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่กูเกิลได้พยายามวิ่งล็อบบี้ต่อต้านร่างกฎหมายนี้ “เราจะยังไม่ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับเว็บไซต์กูเกิลนิวส์ (ในยุโรป) จนกว่าจะได้เห็นเนื้อหาภาษาของข้อกฎหมายที่ว่านี้ในร่างฉบับสุดท้ายเสียก่อน” ผู้บริหารของกูเกิลกล่าวและว่า แต่ไหนแต่ไรมา เว็บไซต์ข่าว“กูเกิลนิวส์” ก็ไม่ใช่เว็บที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับบริษัทอยู่แล้ว ซํ้ายังไม่มีโฆษณาบนกูเกิลนิวส์ ดังนั้น เว็บไซต์นี้จึงเป็นเหมือนบริการที่ให้คุณประโยชน์ต่อสังคม ไม่ได้แสวงผลกำไร

สำหรับกระบวนการต่อจากนี้ เป็นที่คาดหมายว่า นายแอ๊กเซิล วอสส์ สมาชิกรัฐสภายุโรป ที่ดูแลรับผิดชอบการผลักดันร่างกฎหมายนี้ จะมีการพบปะหารืออีกหลายรอบกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก่อนจะเริ่มการหารือกับประเทศสมาชิกอียูแต่ละประเทศ 

รายงาน | หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,421 ระหว่างวันที่ 25-28 พฤศจิกายน 2561

595959859