กฎหมายใหม่‘จดทะเบียนคู่ชีวิต’ สิทธิการสร้างครอบครัว ‘คนรักเพศเดียวกัน’

24 พ.ย. 2561 | 04:30 น.
“ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่รับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวและคุ้มครองความสัมพันธ์ฉันคู่ชีวิตของคู่รักเพศเดียวกัน รวมทั้งกฎหมายลักษณะครอบครัวในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมถึงสิทธิเช่นว่าของกลุ่มบุคคลดังกล่าว ดังนั้นเพื่อให้สิทธิในการจดทะเบียนคู่ชีวิตและความสัมพันธ์ฉันคู่ชีวิตของคู่รักเพศเดียวกันได้รับการรับรองและคุ้มครองตามกฎหมาย รวมทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมหลักความเสมอภาคทางเพศและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลจึงมีความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติฉบับนี้”

นั่นคือเหตุผลของกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในการจัดทำ (ร่าง) พระราช บัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. ...

โดยให้คำนิยามคำว่า “คู่ชีวิต” หมายความว่า บุคคล 2 คนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิดและได้ “จดทะเบียนคู่ชีวิต” ตามพระราชบัญญัตินี้

เหตุผลต่อมา หากไม่จัดทำกฎหมายฉบับนี้จะขัดต่อหลักความเสมอภาคทางเพศและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ได้รับการรับรองอย่างชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หลายมาตรา และพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 รวมทั้งหลักการสิทธิมนุษยชนสากลในสนธิสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติ ตาม อาทิ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิ มนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หลักการยอกยาการ์ตาว่าด้วย การใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ

TP7-3421-A

ร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. ... มีทั้งหมด 7 หมวด 70 มาตรา ให้รัฐมนตรี 4 กระทรวง รักษาการตาม พ.ร.บ. รวมทั้งมีอานาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศ เพื่อปฏิบัติการตามพ.ร.บ. คือ รมว.ยุติธรรม รมว.มหาดไทย รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รมว.ต่างประเทศ

เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นกฎหมายเฉพาะที่รับรองและคุ้มครองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวและการใช้ชีวิตร่วมกันฉันคู่ชีวิตของคู่รักเพศเดียวกัน ที่เน้นให้สิทธิและคุ้มครองสิทธิใน 3 เรื่องหลัก คือ 1. รับรองสิทธิในการจดทะเบียนคู่ชีวิต 2. กำหนดสิทธิและหน้าที่ในความสัมพันธ์ของคู่ชีวิต 3. รับรองสิทธิในทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต ตลอดจนสิทธิและหน้าที่ในการรับมรดกของคู่ชีวิต

ยกตัวอย่าง หมวดการจดทะเบียนคู่ชีวิต ที่เน้นอธิบายถึงการที่คนที่รักเพศเดียวกัน หากต้องการมีครอบครัวหรือใช้ชีวิตด้วยกันอย่างถูกกฎหมายจะต้องเริ่มต้นการเป็นคู่ชีวิตอย่างไร

ในร่างฯ กฎหมายระบุว่า “การจดทะเบียนคู่ชีวิตตามพ.ร.บ. นี้จะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้ง 2 บรรลุนิติภาวะแล้วตามกฎหมาย และมีสัญชาติไทยหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย ส่วนการ “จดทะเบียนคู่ชีวิต” จะกระทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้ง 2 ฝ่ายยื่นคำร้องขอตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด และให้แสดงความยินยอมปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียน และให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียน ผู้ร้องต้องลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญในทะเบียนต่อหน้านายทะเบียน และต่อหน้าพยาน 2 คน

พยาน 2 คนที่ว่านั้น ก็ถูกคัดกรองอีกชั้นว่า ต้องเป็นคนที่บรรลุนิติภาวะ เป็นคนไม่วิกลจริตหรือศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ และต้องไม่เป็นคนที่หูหนวก เป็นใบ้ หรือตาบอดทั้งสองข้าง

แต่การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำไม่ได้ ใน 4 กรณี คือ 1. ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนวิกลจริตหรือบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ 2. ถ้าบุคคลทั้ง 2 ฝ่ายเป็นญาติสืบสายโลหิต เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ความเป็นญาติดังกล่าวให้ถือตามสายโลหิต โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 3. มีคู่สมรส หรือได้จดทะเบียนคู่ชีวิตอยู่ก่อนแล้ว 4. บุคคลทั้ง 2 ฝ่ายมีความสัมพันธ์เป็นผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรม

และถือเป็นการเปิดกว้างให้กับผู้ที่จะไปจดทะเบียนคู่ชีวิตในต่างประเทศ ก็สามารถทำได้แต่ต้องทำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งจะออกตามมาหลังพ.ร.บ.บังคับใช้ โดยให้พนักงานทูตหรือกงสุลไทยเป็นนายทะเบียน

นอกจากนี้ในกฎหมายยังมี หมวด “ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิต” เพื่อให้คู่ชีวิตต้องอยู่กินด้วยกันฉันคู่ชีวิต ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน

หมวด “ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต” ที่กำหนดสิทธิของคู่ชีวิตในการทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินก่อนจดทะเบียนคู่ชีวิต ที่มีสิทธิฟ้องร้องกันได้หากผิดสัญญา

หมวด “ความเป็นโมฆะของการจดทะเบียนคู่ชีวิต” และหมวด “การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต” ซึ่งจะเกิดจากการฝ่าฝืนกฎหมายในการเป็นคู่ชีวิต ตาย การสมัครใจเลิกการเป็นคู่ชีวิต ศาลพิพากษาให้เพิกถอน หรือศาลพิพากษาเลิกการเป็นคู่ชีวิต

หมวด “มรดก” ซึ่งจะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ว่าด้วยมรดก มาใช้บังคับกับสิทธิและหน้าที่ในการรับมรดกของคู่ชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม

และ สุดท้ายคือหมวด “อายุความ” ระบุว่า อายุความสิทธิเรียกร้องระหว่างคู่ชีวิต ถ้าจะครบกำหนดก่อนหรือภายใน 1 ปีนับแต่วันที่การเป็นคู่ชีวิตสิ้นสุดลง อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบ 1 ปีนับแต่วันที่การเป็นคู่ชีวิตสิ้นสุดลง

นายสมณ์ พรหมรส อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ อธิบายว่า ที่มาของร่างพ.ร.บ. การจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. ... มาจากการที่กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มอบหมายตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 ให้เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงแผนสิทธิมนุษยชนของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม คุ้มครองให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม เท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ซึ่งความคืบหน้าของร่างพ.ร.บ. กำลังอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดให้มีส่วนร่วมในการวิพากษ์ร่างพ.ร.บ. ภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 โดยเริ่มจัดไปแล้วที่กทม. จากนี้จะรับฟังในส่วนภูมิภาคที่พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ สงขลา และขอนแก่น จากนั้นจะรวบรวมและประมวลความคิดเห็นที่ได้ทั้งหมด เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ฯ ให้ ครม.พิจารณาภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ต่อไป

สาระสําคัญร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต
•คุณสมบัติผู้ที่จะจดทะเบียนคู่ชีวิต เป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด, บรรลุนิติภาวะแล้วทั้ง 2 คน, มีสัญชาติไทยหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย

•ขั้นตอนจดทะเบียนคู่ชีวิต ยื่นคำร้องที่กระทรวงมหาดไทย, แสดงความยินยอมต่อหน้านายทะเบียนเพื่อรับจดทะเบียน, มีพยาน 2 คน ที่บรรลุนิติภาวะ ไม่วิกลจริต ไม่หูหนวก เป็นใบ้ หรือตาบอด

ข้อห้าม 1. ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนวิกลจริต 2. ทั้ง 2 ฝ่ายเป็นญาติสืบสายโลหิต 3. มีคู่สมรส หรือจดทะเบียนคู่ชีวิตอยู่ก่อนแล้ว 4. เป็นผู้รับบุตรบุญธรรมและ บุตรบุญธรรม

อื่นๆ ทำสัญญาเรื่องทรัพย์สินก่อนจดทะเบียน มีสิทธิฟ้องร้องกันได้, ความเป็นโมฆะ-การสิ้นสุด การเป็นคู่ชีวิต เมื่อฝ่าฝืนข้อห้าม ตาย สมัครใจเลิก ศาลพิพากษา, แบ่ง มรดกกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, อายุความในการฟ้องร้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่การเป็นคู่ชีวิตสิ้นสุดลง

บทความ โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3421 ระหว่างวันที่ 25 - 28 พฤศจิกายน 2561