กรมศิลฯ ชี้ชัด “นางนพมาศ” ไม่มีตัวตน

22 พ.ย. 2561 | 13:00 น.
"นางนพมาศ" "เรวดีนพมาศ" หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นสตรีที่ปรากฏอยู่ใน "เรื่องนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์" ที่อ้างอิงว่าถูกเขียนขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีเนื้อความว่านางนพมาศ เป็นพระสนมของพระร่วง และได้คิดประดิษฐ์กระทงขึ้นมาเป็นครั้งแรก และบอกเล่าถึงความเป็นไปภายในรัฐสุโขทัยว่ามีความเจริญรุ่งเรืองสมบูรณ์พูนสุขนานัปการ ในรัฐมีคนต่างชาติต่างภาษาและศาสนาอาศัยอยู่ร่วมกัน และเรื่องที่เด่นที่สุดคือการที่นางประดิษฐ์กระทงขึ้นมา จนนางนพมาศได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเพณีลอยกระทง กล่าวกันว่านางนพมาศมีรูปโฉมงดงาม ในยุคหลังเมื่อคราเทศกาลลอยกระทงก็มีการประกวดประขันนางนพมาศสืบมา

อย่างไรก็ตามได้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการมีตัวตนจริงของนางนพมาศ มีนักประวัติศาสตร์หลายท่าน อาทิ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, นิธิ เอียวศรีวงศ์ และสุจิตต์ วงษ์เทศ เห็นว่าเรื่องนางนพมาศนั้นเป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้นช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้นเอง

ล่าสุด เฟซบุ๊ก ศาสนวิทยา dr.Sinchai Chaojaroenrat ของ ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักวิชาการด้านศาสนวิทยา ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ "นางนพมาศ" ว่า กรมศิลปากร ได้แก้ไขข้อมูลแล้ว ยืนยันว่า นางนพมาศ ไม่มีตัวตนอยู่จริง

“กรมศิลปากรได้แก้ไขข้อมูลเรื่อง ‘นางนพมาศ’ อย่างเป็นทางการแล้วว่า นางนพมาศไม่มีตัวตนจริง และไม่ได้เป็นคนคิดเรื่องลอยกระทง ทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องถูกแต่งขึ้น โดยคนแต่งสมมติว่าเกิดในสมัยสุโขทัย ฉะนั้นเลิกเชื่อและเลิกพูดเลิกสอนได้แล้วว่า ลอยกระทงเกิดโดยนางนพมาศและเกิดสมัยสุโขทัย เกิดที่กรุงสุโขทัย ปัญหาอยู่ที่ว่า ไม่รู้ชัดว่าทำไมแต่งแบบนั้น มีวัตถุประสงค์อะไรแน่”

โดยข้อมูลล่าสุด จาก กรมศิลปากร ระบุว่า “ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงที่การศึกสงครามลดลงเกือบหมด การค้าก็มั่งคั่งขึ้น พระองค์จึงโปรดให้ฟื้นฟูประเพณี พิธีกรรมสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร และได้พระราชนิพนธ์หนังสือ ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ ขึ้นมา โดยสมมติให้ฉากของเรื่อง เกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ซึ่งตำราดังกล่าวได้พูดถึงนางนพมาศ ว่าเป็นพระสนมเอกของพระร่วง ที่ได้คิดประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ดังนั้น นางนพมาศจึงเป็นเพียง นางในวรรณคดี มิได้มีตัวตนอยู่จริง”
46495375_2108671462511692_8145137406480220160_n


595959859