FTA ไทย-เปรู และไทย-ชิลี ทำการค้าไทยกับลาตินอเมริกาขยายตัว

22 พ.ย. 2561 | 05:00 น.
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชี้ความตกลงการค้าเสรีไทย-เปรู และไทย-ชิลี ส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับลาตินอเมริกาขยายตัวต่อเนื่อง แต่ระยะทางและภาษายังเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับนักธุรกิจไทย

[caption id="attachment_351189" align="aligncenter" width="503"] นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม[/caption]

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างไทยกับประเทศกลุ่มลาตินอเมริกาในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามูลค่าการค้ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2561 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับลาตินอเมริกา อยู่ที่ 9,789.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 5.7 ซึ่งเป็นการส่งออก 6,255.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 3,533.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และในจำนวนนี้มีประเทศที่ไทยได้จัดทำข้อตกลงการค้าเสรี(FTA) ด้วย ได้แก่ ชิลี และเปรู โดยการค้ากับชิลีมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ความตกลงการค้าเสรี ไทย-ชิลี มีผลใช้บังคับเมื่อปลายปี 2558 ซึ่งชิลีและไทยได้ลดภาษีศุลกากรระหว่างกันเหลือร้อยละ 0 ไปแล้ว ร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 จะทยอยลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ในปี 2563 และปี 2566 โดยในช่วง 9 เดือน (มกราคม-กันยายน) ของปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับชิลี มีมูลค่า 998 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 18.2 แบ่งเป็นการส่งออก 632.1 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 365.9 ล้านเหรียญสหรัฐ และในมูลค่าการส่งออกไปชิลีนั้น มีการใช้สิทธิส่งออกภายใต้ FTA ไทย-ชิลี (มกราคม-สิงหาคม) สูงถึง 545.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเต็มจำนวนรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ ขณะที่นำเข้าโดยใช้สิทธิ 32.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.6 ของมูลค่าการนำเข้ารวม

สำหรับการค้ากับเปรู ไทยจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-เปรู และมีผลใช้บังคับเมื่อปลายปี 2554 ซึ่งไทยและเปรูได้มีการปรับลดอัตราภาษีศุลกากรเป็น 0 ไปแล้ว (Early Harvest) ร้อยละ 70 ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยเปรูได้เปิดตลาดให้กับสินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ ยานยนต์บางรายการ อุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องจักรกล เป็นต้น ซึ่งจากการติดตามสถิติการค้าระหว่างไทยกับเปรูในช่วง 9 เดือน (มกราคม-กันยายน) ของปี 2561 พบว่า มีมูลค่า 348.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 5.1 แบ่งเป็นการส่งออก 245 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 103.2 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกไปเปรูมีการใช้สิทธิส่งออกภายใต้ FTA ไทย-เปรู (มกราคม-สิงหาคม) 9.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 62 คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 89.8 ขณะที่นำเข้าโดยใช้สิทธิ 17 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 18.8 ของมูลค่าการนำเข้ารวม

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ระยะทางที่ห่างไกลและภาษาสเปนที่ชิลีและเปรูใช้ ทำให้ยังเป็นอุปสรรคในการค้าและการลงทุนของนักธุรกิจไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรเร่งพัฒนาศักยภาพ พร้อมกับศึกษาข้อมูลตลาดและพฤติกรรมการอุปโภคบริโภคสินค้าของผู้บริโภคชิลีและเปรู เพื่อสามารถเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคอันจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น อีกทั้งควรแสวงหาโอกาสและประโยชน์จากความตกลงเปิดตลาดการค้าเสรี ซึ่งผู้ประกอบการและผู้สนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลอัตราภาษีภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทยและของประเทศชิลีและเปรู รวมถึงประเทศคู่เจรจาอื่นๆ เพิ่มเติม ได้ที่เว็บไซต์ www.dtn.go.th หรือที่ http://tax.dtn.go.th

ทั้งนี้ ชิลีและเปรูเป็นคู่ค้าอันดับ 3 และ 4 ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกา รองจากบราซิลและอาร์เจนตินา โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปชิลีและเปรู ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งฯ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบฯ และผลิตภัณฑ์ยาง สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากชิลีและเปรู ได้แก่ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปฯ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ และปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เป็นต้น ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว